นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่มีการลงนามกรอบความตกลง BIMSTEC FTA เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2547 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศสมาชิก BIMSTEC ซึ่งประกอบด้วยบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาการค้า BIMSTEC (BIMSTEC TNC) ขึ้น เพื่อเจรจารายละเอียดของการจัดทำความตกลงการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน โดยล่าสุดไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม BIMSTEC TNC ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 2-4 มิถุนายน 2552 ณ จังหวัดภูเก็ต
การประชุมในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยประเทศสมาชิกสามารถหาข้อสรุปการจัดทำความตกลงการค้าสินค้าได้แล้ว ทั้งในเรื่องของรูปแบบและระยะเวลาการลด/ยกเลิกภาษี การจัดทำมาตรการปกป้องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า และยังมีการเจรจาการค้าบริการและการลงทุน การดำเนินการต่อไปคงเหลือเพียงการยื่นตารางรายการสินค้าที่ได้ตกลงจะมีการลด/ยกเลิกภาษีของแต่ละประเทศ เพื่อแนบความตกลงฯ และการดำเนินการตามขั้นตอนภายในประเทศของไทย โดยคาดว่าจะมีการลงนามความตกลงการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods) ในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2553
สำหรับการลดภาษีสินค้า จะใช้อัตราภาษีปกติ (MFN Applied Rate) ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2550 เป็นอัตราฐานในการลด/ยกเลิกภาษี และจะแบ่งการลดภาษีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเร่งลดภาษี (Fast Track) มีกำหนดเริ่มลดภาษีระหว่างกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 2) กลุ่มลดภาษีสินค้าปกติ (Normal Track) กำหนดเริ่มลดภาษีระหว่างกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 และ 3) กลุ่มสินค้าไม่ลดภาษี (Negative List) ซึ่งจะยังไม่มีการลดภาษีสินค้าในกลุ่มนี้
ในส่วนของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ตกลงใช้เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากรในระดับ 6 หลัก (Change in Tariff Sub-Heading: CTSH) ควบคู่กับเกณฑ์สัดส่วนมูลค่าเพิ่มในประเทศ (Local Content) ร้อยละ 35 เป็นกฎทั่วไป (General Rule) ในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับประเทศกำลังพัฒนา (อินเดีย ศรีลังกา และไทย) และใช้เกณฑ์ CTSH ควบคู่กับ Local Content ร้อยละ 30 เป็นกฎทั่วไปในการพิจารณาแหล่งกำเนิดสินค้าสำหรับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (บังกลาเทศ ภูฏาน พม่า และเนปาล)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า (Products Specific Rules: PSRs) อีกจำนวน 142 รายการ ซึ่งจะมีสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ไม่สามารถผ่านเกณฑ์กฎทั่วไป แต่สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก BIMSTEC โดยใช้กฎ PSRs ได้ อาทิ โทรทัศน์สี อัญมณี และเหล็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกยังคงต้องเจรจาจัดทำความตกลงการค้าบริการ และการลงทุนต่อให้แล้วเสร็จ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการลงทุนของไทย
ทั้งนี้ ปัจจุบัน การค้าระหว่างไทย-BIMSTEC มีมูลค่า 11,792.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น 3.31% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย คาดว่าเมื่อมีการลดภาษีระหว่างกันจะทำให้การค้าขยายตัวถึง 30% โดยในอนาคตไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่านอกจากการขยายการค้าระหว่างกันโดยใช้ช่องทางของการเปิดเสรีแล้ว จะสามารถขยายความร่วมมือระหว่างกันในด้านอื่นๆ ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป เพื่อใช้ BIMSTEC เป็นตัวเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียนเข้าด้วยกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630