ไทยยึดกรอบกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เสนอข้อผูกพันเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียนชุดที่ 7 ให้กับสมาชิกอาเซียน สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน กำลังอยู่ระหว่างการเสนอข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 เพื่อเปิดเสรีธุรกิจภาคบริการให้กับสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งตามกำหนดสมาชิกควรจะส่งตารางข้อผูกพันดังกล่าวภายในเดือนพ.ค.2552 แต่ก็เปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่น และคาดว่าอย่างช้าที่สุดจะมีการยื่นตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดที่เพิ่มขึ้นได้ภายในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในเดือน ส.ค. 2552 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ในส่วนของไทยได้มีการเสนอข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติมต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 และได้รับความเห็นชอบแล้ว ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการยื่นข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการชุดที่ 7 ต่อสำนักงานเลขาธิการอาเซียนต่อไป ซึ่งก็ได้มีการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“ธุรกิจบริการในข้อผูกพันเปิดตลาดบริการชุดที่ 7 ประกอบด้วยสาขาบริการ 10 สาขา โดยแยกเป็นสาขาบริการย่อยทั้งหมด 143 รายการ ได้แก่ บริการด้านธุรกิจ ด้านการสื่อสาร ด้านการก่อสร้าง ด้านการจัดจำหน่าย ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว ด้านนันทนาการ วัฒนธรรมและการกีฬา ด้านการขนส่ง และบริการอื่นๆที่ไม่จัดอยู่ในบริการที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งธุรกิจบริการทั้งหมด 143 รายการนี้อนุญาตให้ต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีสิทธิถือหุ้นในนิติบุคคลที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทยได้ไม่เกินร้อยละ 49” นางนันทวัลย์กล่าว
นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านการถือหุ้นแล้ว ยังมีข้อจำกัดอื่นๆ ในการกำกับดูแลธุรกิจอีกด้วย เช่น ข้อกำหนดสัดส่วนเรื่องผู้ให้บริการซึ่งเป็นบุคลากร การกำหนดให้ผู้บริหารในนิติบุคคลต้องเป็นคนไทย การกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำในการลงทุน และโดยเฉพาะการกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับภายใต้กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตในการประกอบกิจการ
อย่างไรก็ตาม ในเมื่อไทยมีการเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มเติม ประเทศอาเซียนอื่นก็ต้องมีการเปิดตลาดเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปลงทุนในธุรกิจบริการตามที่สมาชิกอาเซียนได้ผูกพันไว้ โดยการลงทุนของไทยจะได้รับการปฏิบัติจากรัฐบาลของสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นธรรม รวมทั้งลดความเข้มงวดในการใช้มาตรการและกฎระเบียบต่างๆ ต่อการลงทุนของไทย
นอกจากนี้ ไทยยังได้ประโยชน์ในเรื่องของการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศ และยังเป็นการส่งสัญญาณด้านบรรยากาศการลงทุนที่ดีต่อประเทศนอกภูมิภาคอาเซียนด้วย เพราะข้อผูกพันของไทยได้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการของภาครัฐในการเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้ข้อผูกพันเป็นลายลักษณ์อักษร มีความโปร่งใสและชัดเจน สร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630