"นันทวัลย์ ศกุนตนาค" ทัพหน้ากรุยทางสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าวทั่วไป Friday August 14, 2009 14:14 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ระหว่างวันที่ 13-16 สิงหาคม 2552 ประเด็นหลักคือ ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกกระทบกับเศรษฐกิจของอาเซียน รวมถึงไทยที่พยายามหาเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการ แข่งขัน โดยเฉพาะการเปิดเขตการค้าเสรี "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "นันทวัลย์ ศกุนตนาค" อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศถึงนโยบายการค้าเสรีของไทย

ความคืบหน้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตกลงทำ AEC Scorecard ซึ่งเป็นแผนงานติดตามการดำเนินงานตามแผนงานไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งมีเป้าหมายอีก 6 ปี แต่หลายประเทศก็ยังล่าช้า จึงได้จัดทำ scorecard มีการประเมินนับ 10 ด้าน ให้คะแนนกันเสมือนเป็นแรงกดดันภายในอาเซียนกันเอง ซึ่งล่าสุดไทยได้ประเมินแล้วว่าดำเนินการตามแผนเสร็จสิ้นไปแล้ว 60% จากก่อนนี้ได้ 56% ตอนที่ประเมินในการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ที่เสียมราฐเมื่อเดือน พ.ค. ส่วนประเทศอาเซียนอื่นได้ระดับใกล้เคียงกัน

แต่ในปี 2553 นี้ตามกรอบความตกลงภายในอาเซียนจะต้องเปิดเสรีสินค้า บริการ การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ และภาคการเงินการลงทุน โดยกลุ่มสินค้าจะลดภาษี 0% ทั้งหมดสำหรับประเทศอาเซียนเดิม แต่ก็จะมีสินค้าบางส่วนที่แต่ละประเทศกันไว้เป็นสินค้าอ่อนไหวคงภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากัน เช่น ไทยมี 4-5 รายการ เช่น มะพร้าวแห้ง ไม้ตัดดอก กาแฟ มันฝรั่ง เป็นต้น ส่วนประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะต้องลดภาษี 0% ในปี 2558

ส่วนภาคบริการให้ความสำคัญในการเปิดเสรี 4 สาขา คือ โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ขนส่งทางอากาศ ท่องเที่ยวและสุขภาพซึ่งมีเป้าหมายว่าจะเปิดเสรีการถือหุ้นจาก 50 เป็น 70% ในปีหน้า ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดเสรีในปี 2558 แต่หากจะเปิดเสรีก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องกฎหมายลูกมาตรา 190 ทางกระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการ หวังว่าคงจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ เพราะกฎหมาย ดังกล่าวจะช่วยกำหนดความชัดเจนและความโปร่งใสว่า สัญญาหรือความตกลงลักษณะอย่างไรที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภา เพราะหน่วยงานคงจะไม่เสี่ยงจึงต้องนำความตกลงทุกฉบับที่อาจจะมีผลเข้าสู่การพิจารณา จะทำให้มีสัญญาจำนวนมากที่รอเข้าสู่การพิจารณา การปฏิบัติงานด้านการเจรจาก็จะล่าช้าลงได้

นโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

แนวทางการเจรจายังให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีในกรอบอาเซียน และอาเซียนกับคู่เจรจา เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่คนยังมองว่าไกลตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเพิ่งเสนอแนวทางการเจรจาการค้าระหว่างปี 2552-2556 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญหลักๆ แนวทางนี้จะใช้สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงต่างๆ แต่หลักๆ คือ อะไรที่มีอยู่แล้วให้ดำเนินการต่อไป แต่อะไรที่เป็นสิ่งใหม่ต้องเสนอตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จะเน้นการเจรจาระดับภูมิภาคที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เช่น อาเซียน และอาเซียนพลัสเอฟทีเอกับคู่เจรจา

เอฟทีเอที่หยุดการเจรจาไป เช่น ไทย-สหรัฐ คิดว่าคงจะมีการนำกลับมาหารือกันในโอกาสที่ท่านปลัดกระทรวงพาณิชย์จะ เดินทางเยือนสหรัฐเพื่อพบกับผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในเดือนนี้ ส่วนไทย-อินเดียหยุดไปแต่เราสามารถใช้ความตกลงอาเซียน-อินเดียแทน ซึ่งฉบับนี้คาดว่าจะลงนามในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) เดือน ส.ค.นี้ และก็มีเอฟทีเอไทย-บิมสเทค เตรียมเสนอ ครม.และรัฐสภาเพื่อลงนามที่ประเทศบังกลาเทศในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ราวต้นปี 2553

ส่วนการเจรจารอบโดฮาของ WTO ที่ชะงักงันมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะนี้สมาชิกรอดูแนวทางนโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐและการเลือกตั้งของอินเดีย ทำให้ทั้งสองประเทศเสนอให้กลับมาเจรจาใหม่ คาดว่าจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าในปลายปีนี้

การใช้ประโยชน์จากความตกลงล่าสุด

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น หรือ AJCEP ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภาคเอกชนจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าเพิ่มขึ้นจากกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) อีก 70 รายการ และจะได้ประโยชน์จากการสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าภายในอาเซียนซึ่งจะนำมารวมกันได้ หากมีสัดส่วนแหล่งกำเนิดสินค้าในอาเซียนมากกว่า 40% ก็ลดภาษีได้ ซึ่งจะส่งผลดีกับสินค้าที่ไทยไม่มีวัตถุดิบเพียงพอต้องนำเข้า เช่น น้ำปลา หอยนางรม ปลาหมึกกรอบ พิซซ่าแช่แข็ง เม็ดพลาสติก ซึ่งรายการนี้จะลดภาษีทันที ต่างจากที่กำหนดใน JTEPA ว่าจะยกเลิกภาษีในปี 2555 ซึ่งผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบรายการสินค้าและเลือกใช้สิทธิตามความตกลงฉบับที่ตนได้ประโยชน์มากกว่าก็ได้ ส่วนเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนใน AJCEP จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อเจรจากันต่อไปหลังจากนี้อีก 1 ปี

นอกจากนี้ ความตกลงเอฟทีเออาเซียน-เกาหลีมีผลราวเดือน ต.ค.2552 ซึ่งเกาหลีจะลดภาษีนำเข้า 0% ให้กับสินค้าประมาณ 88-89% ของรายการสินค้าที่ นำเข้าจากไทย และทยอยลดเป็น 0% ให้ได้ 90% ของรายการสินค้าที่นำเข้า จากไทยภายใน 1 ม.ค.2553 ส่วนไทยจะลดภาษี 0% ให้กับสินค้า 83% ของรายการสินค้าและมูลค่าที่นำเข้าจากเกาหลีในวันที่ 1 ม.ค.2553 และทยอยลดภาษีสินค้า 90% ในวันที่ 1 ม.ค.2560 ส่วนภาคบริการก็มี ผลบังคับใช้แล้วเช่นเดียวกัน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ