ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างสมาคมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน

ข่าวทั่วไป Wednesday September 23, 2009 15:53 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงว่าด้วยการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน

รัฐบาลแห่งบรูไนดารุสซาราม ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) สาธารณรัฐอินโดนีเชีย (อินโดนีเซีย) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว พีดีอาร์) มาเลเซีย สหภาพพม่า (พม่า) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์(ฟิลิปปินส์) สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์) ราชอาณาจักรไทย (ไทย) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม(เวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เรียกรวมกันว่า“อาเซียน” หรือ “กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน” หรือเรียกแยกกันว่า “ประเทศสมาชิกอาเซียน”) และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (“จีน”)

ระลึกถึง กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (“กรอบความตกลง”) ซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างอาเซียนและจีน (เรียกรวมกันว่า “กลุ่มประเทศภาคี” หรือเรียกประเทศสมาชิกอาเซียนหนึ่งประเทศหรือจีนแยกกันว่า “ประเทศภาคี”) ซึ่งได้มีการลงนามโดยหัวหน้าคณะรัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีน ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.2002 (พ.ศ. 2545)

ระลึกถึง ข้อ 5 และข้อ 8 ของกรอบความตกลง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนและส่งเสริมการลงทุนรวมถึงเสริมสร้างระบบการลงทุนที่เสรี สะดวก โปร่งใส และแข่งขันได้ โดยที่กลุ่มประเทศภาคีตกลงที่จะเจรจาและสรุปผลความตกลงการลงทุนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะเปิดเสรีระบบการลงทุนแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ ช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทุน และปรับปรุงความโปร่งใสของกฎระเบียบการลงทุนต่างๆ รวมถึงให้การปกป้องการลงทุน

รับทราบถึง ว่ากรอบความตกลงได้ตระหนักถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาของกลุ่มประเทศภาคีและความจำเป็นในการให้การปฏิบัติที่แตกต่างและเป็นพิเศษรวมถึงความยืดหยุ่นสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พีดีอาร์ พม่า และเวียดนาม

ยืนยันอีกครั้ง ข้อผูกพันของกลุ่มประเทศภาคีที่จะจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยให้ความยืดหยุ่นต่อกลุ่มประเทศภาคีในการระบุประเด็นที่อ่อนไหวในกรอบความตกลงเพื่อก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน

ยืนยันอีกครั้ง สิทธิ พันธกรณี และการดำเนินการของภาคีแต่ละฝ่ายภายใต้องค์การการค้าโลก (ดับบลิว ที โอ) รวมถึงความตกลงและข้อตกลงอื่นๆ ในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคีได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ 1

คำนิยาม

1. เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงฉบับนี้

(เอ) เอ อี เอ็ม หมายถึง รัฐมนตรีเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

(บี) สกุลเงินตราที่ใช้ได้โดยเสรี หมายถึง สกุลเงินตราที่ใช้ได้โดยเสรีตามที่กำหนดโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับข้อบทของความตกลงของกองทุน และที่แก้ไขหลังจากนั้น

(ซี) แกตส์ หมายถึง ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ ในภาคผนวก 1 บี ของความตกลงดับบลิว ที โอ

(ดี) การลงทุน หมายถึง สินทรัพย์ทุกประเภท ที่ลงทุนโดยผู้ลงทุนของประเทศภาคีภายใต้กฎหมายกฎระเบียบ และนโยบายต่างๆ(ก) ของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ในอาณาเขตของภาคีฝ่ายหลัง ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดเฉพาะสิ่งต่อไปนี้

(หนึ่ง) สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิในทรัพย์สินอื่นๆ อาทิ การจำนอง สิทธิยึดหน่วง หรือการจำนำ

(สอง) หุ้น หุ้นทุน และหุ้นกู้ ของนิติบุคคล หรือผลประโยชน์ในทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าว

(สาม) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งรวมถึงสิทธิที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายบริการ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แบบผังภูมิของวงจรรวมชื่อทางการค้า ความลับทางการค้า กระบวนการทางเทคนิค ความรู้ความชำนาญ และค่าความนิยม

(สี่) สัมปทานทางธุรกิจ(ข) ตามกฎหมายหรือภายใต้สัญญา รวมถึงสัมปทานใดสำหรับการแสวงหา เพื่อเพาะปลูก สกัด หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

(ห้า) สิทธิเรียกร้องในเงินหรือในการปฏิบัติการชำระหนี้ใดๆ ตามสัญญาที่มีมูลค่าทางการเงินเพื่อความมุ่งประสงค์ในการกำหนดคำนิยามของการลงทุนในอนุวรรคนี้ ผลตอบแทนที่นำกลับมาลงทุนจะต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในรูปแบบซึ่งสินทรัพย์นั้นได้ถูกนำไปลงทุนหรือนำกลับมาลงทุนใหม่ จะต้องไม่กระทบต่อคุณลักษณะของสินทรัพย์ที่ถือเป็นการลงทุน

หมายเหตุ

(ก) เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น นโยบาย หมายถึง นโยบายใดๆ ที่รับรองและประกาศโดยรัฐบาลของประเทศภาคีที่มีผลกระทบต่อการลงทุนและได้มีการประกาศไว้เป็นลายลักษณ์อักษรต่อสาธารณะ

(ข) สัมปทานทางธุรกิจ รวมถึง สิทธิภายใต้สัญญา เช่น สัญญาการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ สัญญาการก่อสร้างหรือสัญญาจ้างบริหารโครงการสัญญาการผลิตหรือแบ่งปันรายได้ รวมถึงสัมปทานหรือสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และสามารถรวมถึง เงินกองทุนสำหรับโครงการต่างๆ เช่น การสร้าง-ดำเนินการและโอน (บีโอที) และ การสร้าง-ดำเนินการและครอบครอง (บีโอโอ)

(อี) ผู้ลงทุนของประเทศภาคี หมายถึง บุคคลธรรมดาของประเทศภาคีฝ่ายหนึ่ง หรือนิติบุคคลของประเทศภาคีฝ่ายหนึ่ง ซึ่งกำลังจะลงทุน(ค) หรือได้ลงทุนแล้วในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

(เอฟ) นิติบุคคลของประเทศภาคี หมายถึง องค์กรตามกฎหมายใดๆ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยชอบหรือมิเช่นนั้นก็จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อกำไรหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นและไม่ว่าจะเป็นของส่วนบุคคลหรือรัฐบาล และมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในอาณาเขตของประเทศภาคีนั้น รวมถึงบริษัท การจัดการสินทรัพย์เพื่อบุคคลอื่น ห้างหุ้นส่วน การร่วมทุน การเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว สมาคม หรือองค์กรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน

(จี) มาตรการ หมายถึง กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ กฎ วิธีพิจารณาความ หรือคำตัดสิน หรือการกระทำทางปกครองของการใช้กฎหมายโดยทั่วไป ที่มีผลกระทบต่อนักลงทุนและ/หรือการลงทุนใดๆโดยภาคีฝ่ายหนึ่ง รวมถึง

(หนึ่ง) รัฐบาลและหน่วยงานที่มีอำนาจของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น และ

(สอง) องค์กรที่มิใช่ของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐบาล หรือหน่วยงานที่มีอำนาจของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น

(เอช) เอ็ม โอ เอฟ ซี โอ เอ็ม หมายถึง กระทรวงพาณิชย์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน

(ไอ) บุคคลธรรมดาของประเทศภาคี หมายถึง บุคคลธรรมดาใดที่มีสัญชาติ หรือมีสถานะเป็นพลเมืองหรือมีสิทธิพำนักถาวรในประเทศภาคีนั้นโดยเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของตน(ง)

(เจ) ผลตอบแทน หมายถึง จำนวนเงินซึ่งเป็นผลหรือได้มาโดยเฉพาะจากการลงทุน ซึ่งไม่จำกัดเพียงกำไร ดอกเบี้ย ส่วนเกินทุน เงินปันผล ค่าสิทธิ หรือค่าธรรมเนียมอื่น

(เค) เอส อี โอ เอ็ม หมายถึง การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

(แอล) ความตกลงดับบลิว ที โอ หมายถึง ความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ.1994 (พ.ศ. 2537) และที่อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม

หมายเหตุ

(ค) เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น นามวลีที่ว่า “กำลังจะลงทุน” ให้อ้างอิงถึงข้อ 5 (การประติบัติเยี่ยงคนชาติ) และข้อ 10 (การโอนเงินและการส่งกลับกำไร)

(ง) ในกรณีของประเทศอินโดนีเซีย ลาว พีดีอาร์ พม่า ไทย และเวียดนาม ซึ่งไม่ได้มีการให้สิทธิพำนักถาวรแก่ชาวต่างชาติ หรือให้ผลประโยชน์เท่าเทียมกันกับพลเมืองของตน ประเทศเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ต่อพลเมืองถาวรของประเทศภาคีอื่น และต้องไม่อ้างสิทธิประโยชน์ดังกล่าวต่อพลเมืองถาวรของตนจากประเทศภาคีอื่นเช่นกัน

ในกรณีของประเทศจีน จนกว่า จีนจะได้มีการประกาศใช้กฎหมายภายในประเทศระบุการปฏิบัติต่อพลเมืองถาวรของประเทศต่างชาติ ให้ถือว่าพลเมืองถาวรของประเทศภาคีอื่นจะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับประเทศที่สาม หากพลเมืองถาวรดังกล่าวได้สละสิทธิของตนที่มีตามข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาท ภายใต้ความตกลงหรือข้อตกลงการลงทุนอื่นๆ ที่จัดทำขึ้นระหว่างจีนและประเทศที่สามใดๆ

2. คำนิยามสำหรับข้อกำหนดต่างๆ ข้างต้นนี้ ให้ใช้บังคับในความตกลงฉบับนี้ เว้นแต่จะได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่น หรือกรณีที่ประเทศภาคีได้นิยามข้อกำหนดข้างต้นใดๆ สำหรับการบังคับใช้กับข้อผูกพันและข้อสงวนของประเทศตน

3. ในความตกลงฉบับนี้ ทุกคำนามที่ปรากฎในรูปเอกพจน์ให้หมายรวมถึงรูปพหูพจน์ด้วย และทุกคำที่ปรากฎในรูปพหูพจน์ให้หมายรวมถึงรูปเอกพจน์เช่นกัน เว้นแต่จะได้มีการระบุไว้เป็นอย่างอื่น

ข้อ 2

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของความตกลงฉบับนี้คือ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายการลงทุนและเพื่อเสริมสร้างระบบการลงทุนที่เสรี สะดวก โปร่งใส และแข่งขันได้ ในอาเซียนและจีน ดังนี้

(เอ) การเปิดเสรีระบบการลงทุนของอาเซียนและจีนแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ

(บี) เสริมสร้างเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนโดยนักลงทุนของประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

(ซี) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศภาคีและนักลงทุนที่ได้มีการลงทุนในอาณาเขตของประเทศภาคีนั้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน

(ดี) สนับสนุนและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายการลงทุนภายในกลุ่มประเทศภาคีและความร่วมมือภายในกลุ่มประเทศภาคี ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนต่างๆ

(อี) ปรับปรุงความโปร่งใสของกฎระเบียบการลงทุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนภายในกลุ่มประเทศภาคีมากขึ้น และ

(เอฟ) ให้การคุ้มครองการลงทุนในอาเซียนและจีน

ข้อ 3

ขอบเขตการใช้บังคับ

1. ความตกลงฉบับนี้จะใช้บังคับกับมาตรการที่ได้ออกหรือคงไว้โดยประเทศภาคี ที่เกี่ยวข้องกับ

(เอ) ผู้ลงทุนของประเทศภาคีอื่น และ

(บี) การลงทุนของนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นในอาณาเขตของตนซึ่งจะต้อง

(หนึ่ง) สำหรับประเทศจีน อาณาเขตศุลกากรตามนิยามในดับบลิว ที โอ ณ เวลาที่จีนเข้าเป็นสมาชิกดับบลิว ที โอ ในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) เพื่อความมุ่งประสงค์นี้ สำหรับจีน “อาณาเขต” ในความตกลงฉบับนี้หมายถึงอาณาเขตศุลกากรของจีน และ

(สอง) สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน หมายถึงอาณาเขตของแต่ละประเทศ

2. เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในความตกลงฉบับนี้ ความตกลงฉบับนี้จะใช้กับการลงทุนทั้งหมดที่กระทำโดยนักลงทุนของประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังการใช้บังคับของความตกลงฉบับนี้ เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น ข้อบทในความตกลงฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันประเทศภาคีใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหรือข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกิดขึ้น หรือสถานการณ์ใดๆ ที่สิ้นสุดก่อนวันที่ใช้บังคับของความตกลงฉบับนี้

3. ในกรณีของไทย ความตกลงฉบับนี้จะใช้กับเฉพาะกรณีที่การลงทุนโดยนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นในอาณาเขตของไทยที่ได้รับการยอมรับให้เข้ามา และได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นการเฉพาะสำหรับการคุ้มครองโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของไทย(จ) โดยเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบาย

4. ความตกลงฉบับนี้จะไม่ใช้บังคับกับ

(เอ) มาตรการทางภาษี อนุวรรคนี้จะต้องไม่บั่นทอนสิทธิและพันธกรณีของประเทศภาคีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษี:

(หนึ่ง) สิทธิและพันธกรณีดังกล่าว ได้ให้หรือกำหนดไว้ภายใต้ความตกลงดับบลิว ที โอ

(สอง) อยู่ภายใต้ข้อ 8 (การเวนคืน) และข้อ 10 (การโอนเงินและการส่งกลับกำไร)

(สาม) อยู่ภายใต้ข้อ 14 (ข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศภาคีกับผู้ลงทุน)เฉพาะเมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นจากข้อ 8 (การเวนคืน) และ

(สี่) ภายใต้อนุสัญญาทางภาษีซึ่งเกี่ยวข้องกับการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

(บี) กฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย หรือกระบวนการที่ปฎิบัติทั่วไป ที่ใช้บังคับการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการโดยหน่วยงานรัฐบาล ที่จัดซื้อเพื่อใช้ในความมุ่งประสงค์ของรัฐบาล (การจัดชื้อจัดจ้างโดยรัฐ)และไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะขายต่อในเชิงพาณิชย์ หรือวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการเพื่อการพาณิชย์

(ซี) การอุดหนุนหรือการให้โดยประเทศภาคี หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวเนื่องกับการได้รับหรือการยังคงได้รับการอุดหนุนหรือการให้นั้น ไม่ว่าการอุดหนุนหรือการให้นั้นถูกเสนอให้นักลงทุน และการลงทุนภายในประเทศเป็นการเฉพาะ

(ดี) การบริการที่ให้ตามอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของประเทศภาคี ทั้งนี้เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงฉบับนี้ บริการที่ให้จากการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาล หมายถึง บริการใดๆ ซึ่งไม่ได้ให้บนพื้นฐานทางการพาณิชย์หรือในการแข่งขันกับผู้ให้บริการรายหนึ่งหรือมากกว่านั้น

(อี) มาตรการที่ถูกนำมาใช้หรือรักษาไว้โดยประเทศภาคีที่มีผลกระทบต่อการค้าบริการ

หมายเหตุ

(จ) ชื่อและรายละเอียดการติดต่อของหน่วยงานที่มีอำนาจที่รับผิดชอบการอนุมัติดังกล่าวจะถูกแจ้งให้ประเทศภาคีอื่นผ่านทางสำนักงานเลขาธิการอาเซียน

5. โดยไม่คำนึงถึงอนุวรรค 4 (อี) ให้ข้อ 7 (การประติบัติต่อการลงทุน) ข้อ 8 (การเวนคืน) ข้อ 9 (การชดเชยต่อความสูญเสีย) ข้อ 10 (การโอนเงินและการส่งกลับกำไร) ข้อ 12 (การรับช่วงสิทธิ) และข้อ 14 (ข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศภาคีกับผู้ลงทุน) ใช้บังคับโดยอนุโลมกับมาตรการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อการให้บริการโดยผู้ให้บริการของประเทศภาคีผ่านการจัดตั้งสถานประกอบการทางพาณิชย์ในอาณาเขตของประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศภาคี แต่เฉพาะในขอบเขตที่มาตรการดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับการลงทุนและพันธกรณีภายใต้ความตกลงฉบับนี้เท่านั้น ไม่ว่าสาขาการบริการดังกล่าวนั้นจะระบุอยู่ในตารางข้อผูกพันเฉพาะการบริการของประเทศภาคีภายใต้ความตกลงการค้าบริการของ กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนาม ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ.2007 (พ.ศ. 2550) หรือไม่ก็ตาม

ข้อ 4

การประติบัติเยี่ยงคนชาติ

ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายภายในอาณาเขตของตนจะต้องให้การประติบัติต่อผู้ลงทุนและต่อการลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เป็นการอนุเคราะห์ที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ให้ต่อผู้ลงทุนและต่อการลงทุนของผู้ลงทุน

เหล่านั้นของตน ในสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการ การดำเนินการ การปฏิบัติการการคงไว้ การใช้ การขาย การชำระบัญชี หรือการจำหน่ายจ่ายโอนอื่น ๆ ของการลงทุน

ข้อ 5

การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง

1. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้การประติบัติแก่ผู้ลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหรือการลงทุนของผู้ลงทุนนั้นที่เป็นการอนุเคราะห์ที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ตนให้แก่ผู้ลงทุนของประเทศที่ไม่ใช่คู่ภาคีและการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น หรือประเทศที่สาม และ/หรือการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น ในสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับการการอนุญาตให้เข้ามา การจัดตั้ง การได้มา การขยาย การจัดการ การดำเนินการ การปฏิบัติการ การคงไว้ การใช้ การชำระบัญชี การขาย และ การจำหน่ายจ่ายโอนอื่น ๆ ของการลงทุน

2. โดยไม่คำนึงถึงวรรค 1 หากประเทศภาคีให้การอนุเคราะห์ที่ดีกว่าแก่นักลงทุนของประเทศภาคีอื่นหรือประเทศที่สามและการลงทุนของนักลงทุนนั้น ด้วยความตกลงหรือข้อตกลงอื่นใดในอนาคตที่ประเทศภาคีดังกล่าวเป็นภาคี ประเทศภาคีดังกล่าวไม่มีพันธะในการให้ความอนุเคราะห์นั้นแก่นักลงทุนของประเทศภาคีอื่นและการลงทุนของนักลงทุนนั้น อย่างไรก็ตามหากได้รับการร้องขอจากประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ประเทศภาคีดังกล่าวจะต้องมอบโอกาสที่เพียงพอในการเจรจาเพื่อได้รับผลประโยชน์ที่ได้มอบไว้ให้ในความตกลงฉบับนั้น

3. การประติบัติดังที่กำหนดไว้ในวรรค 1 และ วรรค 2 จะไม่รวมถึง

(เอ) การประติบัติที่เป็นพิเศษใดก็ตามที่ให้กับนักลงทุนและการลงทุนของนักลงทุนนั้นภายใต้ความตกลงระดับทวิภาคี ความตกลงระดับภูมิภาค หรือความตกลงระหว่างประเทศ หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรือความร่วมมือระดับภูมิภาคไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตามที่มีอยู่กับประเทศไม่ใช่ภาคี

(บี) การประติบัติที่เป็นพิเศษใดก็ตามในปัจจุบันหรืออนาคตที่ให้กับนักลงทุนและการลงทุนของนักลงทุนนั้นในความตกลงหรือข้อตกลงใดๆ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หรือระหว่างประเทศภาคีใดและอาณาเขตศุลกากรที่แยกต่างหากของภาคีนั้น

4. เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น พันธกรณีภายใต้ข้อนี้ไม่รวมไปถึงข้อบังคับที่ให้ประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งขยายวิธีพิจารณาที่ใช้ในการระงับข้อพิพาทนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในความตกลงฉบับนี้ให้แก่ผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

ข้อ 6

มาตรการที่มีลักษณะขัดกับพันธกรณี

1. ข้อ 4 (การประติบัติเยี่ยงคนชาติ) และข้อ 5 (การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง) จะไม่ใช้บังคับกับ

(เอ) มาตรการใหม่หรือที่มีอยู่เดิม ที่มีลักษณะขัดกับพันธกรณี ที่คงไว้หรือได้ออก ภายในอาณาเขตของตน

(บี) การสืบเนื่องหรือการแก้ไขมาตรการที่มีลักษณะขัดกับพันธกรณีใดๆที่กล่าวไว้ในอนุวรรค (เอ)

2. กลุ่มประเทศภาคีจะต้องพยายามที่จะยกเลิกมาตรการที่มีลักษณะขัดกับพันธกรณีแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ

3. กลุ่มประเทศภาคีจะต้องมีการหารือกันตามข้อ 24 (การทบทวน) เพื่อนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ใน ข้อ 2 (เอ) และ ข้อ 2 (อี) กลุ่มประเทศภาคีจะต้องพยายามที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ถูกกำกับโดยสถาบันภายใต้ ข้อ 22 (ข้อตกลงทางด้านสถาบัน)

ข้อ 7

การประติบัติต่อการลงทุน

1. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้การประติบัติต่อการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันและให้ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่างเต็มที่

2. เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น

(เอ) การประติบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน หมายถึงพันธกรณีที่ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องไม่ปฎิเสธการให้ความยุติธรรมในกระบวนการทางกฎหมายหรือทางปกครองใดๆ และ

(บี) ความคุ้มครองและความมั่นคงอย่างเต็มที่ กำหนดให้ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายใช้มาตรการต่างๆ อย่างสมเหตุสมผลเท่าที่จำเป็นเพื่อทำให้มั่นใจถึงความคุ้มครองและความมั่นคงของการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง

3. การวินิจฉัยว่ามีการละเมิดอีกข้อบทหนึ่งของความตกลงฉบับนี้ หรือของความตกลงระหว่างประเทศอื่นนั้นไม่ถือว่าเป็นการละเมิดข้อบทนี้

ข้อ 8

การเวนคืน

1. ประเทศภาคีจะต้องไม่เวนคืน ทำให้เป็นของรัฐ หรือใช้มาตรการอื่นใดที่คล้ายคลึง (“การเวนคืน”) ต่อการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(เอ) เพื่อความมุ่งประสงค์ทางสาธารณะ

(บี) สอดคล้องกับกฎหมายภายในที่ใช้บังคับอยู่ รวมถึงวิธีพิจารณาทางกฎหมาย

(ซี) ดำเนินการโดยไม่เลือกปฏิบัติ และ

(ดี) มีการชำระค่าชดเชยที่สอดคล้องกับวรรค 2

2. ค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องเทียบเท่ากับมูลค่าตลาดที่เป็นธรรมของการลงทุนที่ถูกเวนคืน ณ เวลาเมื่อการเวนคืนถูกประกาศต่อสาธารณะ หรือเมื่อเกิดการเวนคืนขึ้น แล้วแต่ว่ากรณีใดเกิดขึ้นก่อน และค่าชดเชยจะต้องโอนได้อย่างเสรีในสกุลเงินตราที่ใช้ได้โดยเสรีจากประเทศผู้รับการลงทุน มูลค่าตลาดที่เป็นธรรมจะต้องไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในมูลค่าตลาดที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสาธารณชนได้รับทราบล่วงหน้าถึงการเวนคืนนั้น

3. ค่าชดเชยจะต้องกำหนดและชำระโดยไม่ล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล ในกรณีที่เกิดความล่าช้า ค่าชดเชยจะต้องรวมถึงดอกเบี้ย ณ อัตราดอกเบี้ยเชิงพาณิชย์ที่ใช้โดยทั่วกันนับจากวันที่เวนคืนจนถึงวันที่ชำระ(ฉ) ค่าชดเชยรวมถึงดอกเบี้ยทบต้นใดๆจะต้องชำระในสกุลเงินตราที่ใช้ดำเนินการลงทุนแต่แรก หรือในสกุลเงินตราที่ใช้ได้โดยเสรี หากถูกร้องขอจากผู้ลงทุน

4. โดยไม่คำนึงถึงวรรค 1 วรรค 2 และวรรค 3 มาตรการเวนคืนที่ดินใดๆ จะต้องเป็นไปตามที่นิยามไว้ในกฎหมายและกฎระเบียบภายในปัจจุบันและที่แก้ไขใดๆ ของประเทศภาคีที่ดำเนินการเวนคืน และจะต้องเป็นไปเพื่อความมุ่งประสงค์ของการชำระค่าชดเชยและขึ้นอยู่กับการชำระค่าชดเชยที่สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบที่ได้กล่าวถึงแล้ว

5. เมื่อประเทศภาคีเวนคืนทรัพย์สินของนิติบุคคลที่ก่อตั้งหรือจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายและกฎระเบียบของประเทศตน และผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าของหุ้น ประเทศภาคีจะต้องใช้บังคับข้อบทตามวรรคก่อนหน้าเพื่อให้มั่นใจว่าได้ชำระค่าชดเชยแก่ผู้ลงทุนดังกล่าวเท่าที่ผู้ลงทุนมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน

6. ข้อบทนี้จะต้องไม่ใช้บังคับกับการออกใบอนุญาตบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ในภาคผนวก 1 ซี ของความตกลงดับบลิว ที โอ

ข้อที่ 9

การชดเชยต่อความสูญเสีย

ผู้ลงทุนของประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งที่การลงทุนของตนในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเกิดความเสียหายอันเป็นผลจากสงครามหรือการสู้รบด้วยอาวุธอื่นๆ การปฏิวัติ สถานการณ์ฉุกเฉิน กบฏ การก่อความไม่สงบ หรือการจราจลในอาณาเขตของประเทศภาคีฝ่ายหลังนั้น จะต้องได้รับการประติบัติจากประเทศภาคีนั้นในเรื่องการชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าชดเชย หรือการแก้ปัญหาอื่นใด ที่ไม่ด้อยไปกว่าที่ประเทศภาคีนั้นให้การประติบัติ ในสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน แก่ผู้ลงทุนของประเทศที่สามใดๆ หรือคนชาติของตนแล้วแต่ว่ากรณีใดดีกว่ากัน

หมายเหตุ

(ฉ) สำหรับมาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ในกรณีที่เกิดการล่าช้า อัตราและการชำระค่าดอกเบี้ยของค่าชดเชยสำหรับการเวนคืนการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งจะถูกกำหนดโดยสอดคล้องกับกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายของประเทศเหล่านั้น โดยกฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบายดังกล่าวจะต้องใช้บนพื้นฐานการไม่เลือกปฎิบัติต่อการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งหรือประเทศที่ไม่ใช่ภาคี

ข้อ 10

การโอนเงินและการส่งกลับกำไร

1. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องอนุญาต ให้นักลงทุนจากประเทศภาคีอื่นใด ทำการโอนเงินทั้งหมดที่เกี่ยวกับการลงทุนในอาณาเขตของตนได้ในสกุลเงินตราที่ใช้ได้โดยเสรีตามอัตราตลาดของอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่มีการโอน และอนุญาตการโอนดังกล่าวให้เข้าสู่และออกจากอาณาเขตของตนได้อย่างเสรี โดยไม่ล่าช้า การโอนดังกล่าวนั้นจะรวมถึง

(เอ) ทุนประเดิมและทุนเพิ่มเติมใดๆ เพื่อคงไว้หรือเพิ่มการลงทุน(ช)

(บี) กำไรสุทธิ กำไรส่วนทุน เงินปันผล ค่าสิทธิ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การช่วยเหลือทางวิชาการ และค่าธรรมเนียมการจัดการและค่าธรรมเนียมด้านเทคนิค ดอกเบี้ยและรายได้ประจำอื่นที่เป็นผลจากการลงทุนของนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นใด

(ซี) เงินที่ได้รับจากการขายทั้งหมดหรือบางส่วนหรือการชำระบัญชีของการลงทุนของนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นใด

(ดี) การคืนเงินกู้ยืมที่นักลงทุนของประเทศภาคีหนึ่งให้กับนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นใดซึ่งประเทศภาคีเหล่านั้นถือว่าเป็นการลงทุน

(อี) รายได้สุทธิและค่าตอบแทนอื่นๆ ของบุคคลธรรมดาของประเทศภาคีอื่นใด ที่ได้รับการจ้างหรืออนุญาตให้ทำงานเกี่ยวกับการลงทุนในอาณาเขตของตน

(เอฟ) การชำระเงินตามสัญญาที่ทำโดยผู้ลงทุนของประเทศภาคีอื่นหรือการลงทุนของผู้ลงทุนนั้นรวมถึงการชำระเงินตามธุรกรรมการกู้ยืมเงิน และ

(จี) การชำระเงินตามข้อ 8 (การเวนคืน) และข้อ 9 (การชดเชยต่อความสูญเสีย)

2. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องให้การประติบัติต่อการโอนตามวรรค 1 อย่างอนุเคราะห์ที่เทียบเท่ากับที่ให้แก่การโอนที่เป็นผลมาจากการลงทุนของนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นใดหรือประเทศที่สามในสภาวการณ์ที่คล้ายคลึงกัน

หมายเหตุ

(ช) กลุ่มประเทศภาคีเข้าใจว่าการอ้างถึง “ทุนประเดิมและทุนเพิ่มเติมใดๆ เพื่อคงไว้หรือเพิ่มการลงทุน” ใช้กับการลงทุนขาเข้าที่ผ่านขั้นตอนการอนุมัติอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

3. โดยไม่คำนึงถึงวรรค 1 และวรรค 2 ประเทศภาคีอาจขัดขวางหรือชะลอการโอน โดยการใช้บังคับกฎหมายและกฎระเบียบของตนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฎิบัติและโดยสุจริต ในเรื่องที่เกี่ยวกับ

(เอ) การล้มละลาย การมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือการให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้

(บี) การไม่กระทำตามกฎระเบียบของประเทศภาคีผู้รับการลงทุนในเรื่องการค้าหรือการซื้อขายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า สิทธิเลือกหรืออนุพันธ์

(ซี) การไม่ทำตามพันธกรณีทางภาษี

(ดี) การกระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมหรือทางอาญา และการได้คืนทรัพย์สินที่ได้มาจากอาชญากรรม

(อี) การประกันสังคม การเกษียณราชการ หรือแผนการออมเงินภาคบังคับ

(เอฟ) การปฎิบัติตามคำสั่งในกระบวนการยุติธรรมหรือทางปกครอง

(จี) ผลประโยชน์จากการถูกเลิกจ้างในส่วนที่เกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนรวมถึงจากการที่โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ปิดกิจการ และ

(เอช) รายงานทางการเงินหรือการจัดเก็บข้อมูลการโอนเมื่อจำเป็นต่อการปฎิบัติตามกฎหมายหรือหน่วยงานกำกับด้านการเงิน

4. เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น การโอนเงินในวรรคก่อนต้องเป็นไปตามพิธีการที่กำหนดโดยกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศภาคีผู้รับการลงทุนที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงิน ตราบเท่าที่กฎหมายและข้อบังคับนั้นจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการปฎิบัติตามพันธกรณีของภาคีภายใต้ความตกลงฉบับนี้

5. ไม่มีความใดในความตกลงฉบับนี้จะกระทบต่อสิทธิและพันธกรณีของภาคีในฐานะที่เป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศภายใต้ข้อบทของความตกลงของกองทุน รวมทั้งการใช้มาตรการการปริวรรตซึ่งสอดคล้องกับข้อบทของความตกลงของกองทุน โดยที่ประเทศภาคีจะต้องไม่กำหนดข้อจำกัดต่อธุรกรรมทุนที่ไม่สอดคล้องกับข้อผูกพันเฉพาะของตนตามความตกลงฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกรรมนั้นยกเว้น

(เอ) ภายใต้ข้อ 11 (มาตรการเพื่อรักษาดุลการชำระเงิน) หรือ

(บี) ตามคำร้องขอของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ

(ซี) ในสถาวการณ์ไม่ปกติที่การเคลื่อนย้ายของเงินทุนหรือการคุกคามดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาทางการเงินหรือทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในประเทศภาคีนั้น โดยข้อจำกัดนั้นต้องไม่กระทบต่อสิทธิและพันธกรณีของประเทศภาคีในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกภายใต้วรรค 1 ข้อ 11 ของ แกตส์และมาตรการนั้นต้องเป็นไปตามวรรค 2 ข้อ 11 ของความตกลงฉบับนี้ โดยอนุโลม

ข้อ 11

มาตรการเพื่อรักษาดุลการชำระเงิน

1. ในกรณีที่มีปัญหาเรื่องดุลการชำระเงินและปัญหาการเงินภายนอกที่ร้ายแรง หรือการคุกคามที่อาจทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ประเทศภาคีอาจนำมาใช้หรือคงไว้ซึ่งข้อจำกัดด้านการลงทุน รวมถึงการชำระเงินหรือการโอนเงินที่เกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว โดยเป็นที่ยอมรับว่าความกดดันในบางกรณีต่อดุลการชำระเงินของประเทศภาคีในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อจำกัดเพื่อทำให้มั่นใจว่าสามารถรักษาไว้ซึ่งระดับการสำรองทางการเงินที่เพียงพอสำหรับการดำเนินการตามแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

2. ข้อจำกัดตามวรรค 1 จะต้อง

(เอ) สอดคล้องกับข้อบทของความตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

(บี) ไม่เลือกปฎิบัติระหว่างกลุ่มประเทศภาคี

(ซี) หลีกเลี่ยงความเสียหายที่ไม่จำเป็นต่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ เศรษฐกิจ และทางการเงินของประเทศภาคีอื่นใด

(ดี) ไม่เกินกว่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขสภาวการณ์ที่ระบุไว้ในวรรค 1

(อี) เป็นการดำเนินการชั่วคราวและค่อยๆ ยกเลิกแบบก้าวหน้าเป็นลำดับ เมื่อสถานการณ์ที่ระบุในวรรค 1 ข้างต้นดีขึ้น และ

(เอฟ) ใช้บังคับโดยให้ประเทศภาคีอื่นใดได้รับการประติบัติที่เป็นการอนุเคราะห์ที่ไม่ด้อยกว่าประเทศที่สาม

3. ข้อจำกัดใดๆ ที่นำมาใช้หรือคงไว้โดยประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งภายใต้วรรค 1 หรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ ในนั้น จะต้องแจ้งประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งให้รู้โดยพลัน

ข้อที่ 12

การรับช่วงสิทธิ

1. ในกรณีที่ประเทศภาคีใด หรือหน่วยงานตัวแทน สถาบัน องค์กรตามกฎหมาย หรือบริษัทใดที่ได้รับมอบหมาย อันเป็นผลจากที่ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของการลงทุน ได้ชำระแก่ผู้ลงทุนของตนอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเรียกร้องใดๆ ของผู้ลงทุนภายใต้ความตกลงฉบับนี้ ประเทศภาคีอื่นที่เกี่ยวข้องจะต้องยอมรับว่าประเทศภาคีอันแรก หรือหน่วยงานตัวแทน สถาบันองค์กรตามกฎหมาย หรือบริษัทใดที่ได้รับมอบหมายจะได้รับสิทธิโดยชอบธรรมของการรับช่วงสิทธิที่จะใช้สิทธิและแสดงสิทธิเรียกร้องของนักลงทุนของตน สิทธิหรือสิทธิเรียกร้องที่ได้รับการรับช่วงสิทธิจะต้องไม่มากไปกว่าสิทธิหรือสิทธิเรียกร้องเดิมของผู้ลงทุน

2. เมื่อประเทศภาคี หรือหน่วยงานตัวแทน สถาบัน องค์กรตามกฎหมาย หรือบรรษัทใดที่ได้รับมอบหมายได้ดำเนินการชำระแก่ผู้ลงทุนของประเทศภาคีนั้นและได้รับโอนสิทธิและสิทธิเรียกร้องจากผู้ลงทุน ผู้ลงทุนนั้นจะต้องไม่ดำเนินการต่อเกี่ยวกับสิทธิและสิทธิเรียกร้องเหล่านั้นต่อประเทศภาคีอื่น เว้นเสียแต่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการในนามของประเทศภาคีนั้น หรือหน่วยงานตัวแทน สถาบัน องค์กรตามกฎหมาย หรือบรรษัทที่ได้รับมอบหมายที่ชำระค่าสินไหมทดแทน

ข้อ 13

ข้อพิพาทระหว่างกลุ่มประเทศภาคี

ข้อบทของความตกลงว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆ ระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงนาม ณ กรุงเวียงจันทน์สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.2004 (พ.ศ. 2547) จะใช้บังคับกับการระงับข้อพิพาทระหว่างหรือภายในกลุ่มประเทศภาคีภายใต้ความตกลงฉบับนี้

ข้อ 14

ข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศภาคีกับผู้ลงทุน

1. ข้อนี้จะใช้บังคับกับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งกับผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง เกี่ยวกับการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดพันธกรณีภายใต้ข้อ 4 (การประติบัติเยี่ยงคนชาติ) ข้อ 5(การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง) ข้อ 7 (การประติบัติต่อการลงทุน) ข้อ 8 (การเวนคืน) ข้อ 9 (การชดเชยต่อความสูญเสีย) และข้อ 10 (การโอนเงินและการส่งกลับกำไร) ซึ่งก่อความสูญเสียหรือความเสียหายต่อการลงทุนของผู้ลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการ การดำเนินการ การปฏิบัติการ การขาย หรือการจำหน่ายจ่ายโอนอื่น ๆ ของการลงทุน

2. ข้อนี้จะไม่ใช้บังคับกับ

(เอ) ข้อพิพาทด้านการลงทุนที่เกิดขึ้นก่อน หรือข้อพิพาทที่ได้แก้ไขแล้ว หรือที่ได้อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการทางตุลาการหรือการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ก่อนหน้าที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

(บี) ในกรณีผู้ลงทุนผู้พิพาทมีสัญชาติหรือเป็นพลเมืองของประเทศภาคีผู้พิพาทนั้น

3. คู่พิพาทจะต้องแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้วยวิธีการปรึกษาหารือเท่าที่จะเป็นไปได้

4. หากไม่สามารถแก้ไขข้อพิพาท ตามวรรค 3. ได้ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ประเทศภาคีผู้พิพาทมีการร้องขอเพื่อปรึกษาหารือและเจรจาเป็นลายลักษณ์อักษร เว้นแต่คู่พิพาทจะมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นผู้ลงทุนผู้พิพาทอาจเลือกที่จะยื่นข้อเรียกร้องสิทธิ

(เอ) ต่อศาลหรือองค์คณะทางปกครองของประเทศภาคีนั้น โดยที่ศาลหรือองค์คณะทางปกครอง ดังกล่าวต้องมีเขตอำนาจเหนือข้อเรียกร้องสิทธินั้น หรือ

(บี) ภายใต้อนุสัญญาอิกสิดและกฎว่าด้วยขั้นตอนในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของอิกสิด(ซ) โดยที่ทั้งประเทศภาคีผู้พิพาทและประเทศภาคีผู้ไม่พิพาทเป็นภาคีของอนุสัญญาอิกสิด หรือ

(ซี) ภายใต้กฎการอำนวยเพิ่มเติมของอิกสิดโดยที่ประเทศภาคีผู้พิพาท หรือประเทศภาคีผู้ไม่พิพาทประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาอิกสิด หรือ

(ดี) ภายใต้กฎว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ หรือ

(อี) ต่อสถาบันการอนุญาโตตุลาการอื่นใด หรือภายใต้กฎของการอนุญาโตตุลาการอื่นใด หากคู่พิพาทตกลงกัน

5. ในกรณีที่ได้ยื่นข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของศาลภายในประเทศแล้ว ก็อาจยื่นต่อกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ โดยที่ผู้ลงทุนที่เกี่ยวข้องต้องถอนกรณีข้อพิพาทดังกล่าวจากศาลภายในประเทศก่อนที่จะมีคำตัดสินสุดท้าย ในกรณีของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม เมื่อผู้ลงทุนได้ยื่นข้อพิพาทต่อศาลหรือองค์คณะทางปกครองหรือวิธีพิจารณาทางอนุญาโตตุลาการตามอนุวรรค 4 (บี) 4(ซี) 4(ดี) หรือ 4(อี) แล้ว ให้ถือว่าการเลือกวิธีพิจารณาเป็นที่สิ้นสุด

6. การยื่นข้อพิพาท ต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการอนุญาโตตุลาการภายใต้อนุวรรค 4 (บี) 4(ซี) 4(ดี)หรือ 4 (อี) โดยสอดคล้องกับข้อบทของข้อนี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(เอ) การยื่นข้อพิพาทด้านการลงทุนเพื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 ปีนับจากเมื่อผู้ลงทุนผู้พิพาทได้รู้ หรือมีเหตุอันสมควรให้รู้ถึงการละเมิดพันธกรณีที่ภายใต้ความตกลงฉบับนี้ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียหรือความเสียหายต่อผู้ลงทุนหรือต่อการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น

(บี) ผู้ลงทุนผู้พิพาทส่งหนังสือแจ้งเจตจำนงค์เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต้องยื่นอย่างน้อย 90 วัน ก่อนที่จะยื่นข้อเรียกร้องสิทธิแก่ประเทศภาคีผู้พิพาทถึงเจตนาของตนที่จะยื่นข้อพิพาทด้านการลงทุน

หมายเหตุ

(ซ)ในกรณีของฟิลิปปินส์ การยื่นข้อเรียกร้องสิทธิภายใต้ อนุสัญญาอิกสิดและกฎว่าด้วยขั้นตอนในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของอิกสิด จะต้องอยู่ภายใต้ข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างคู่พิพาทในข้อพิพาท ในกรณีที่ข้อพิพาทด้านการลงทุนนั้นเกิดขึ้นต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการอนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อได้รับหนังสือแจ้งเจตจำนงค์แล้ว ประเทศภาคีผู้พิพาทอาจกำหนดให้ผู้ลงทุนผู้พิพาทเข้าสู่วิธีพิจารณาทางการปกครองภายในประเทศตามที่ระบุไว้ตามกฎหมายและกฎระเบียบภายในของตนก่อนที่จะยื่นข้อพิพาทภายใต้อนุวรรค 4 (บี) 4(ซี) 4(ดี)หรือ 4(อี) โดยหนังสือแจ้งเจตจำนงค์จะต้อง

(หนึ่ง) เสนออนุวรรค 4 (บี) 4(ซี) 4(ดี) หรือ 4(อี) อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป็นเวทีสำหรับการระงับข้อพิพาท และในกรณีของอนุวรรค 4 (บี) ให้เสนอให้เลือกว่าจะใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือการอนุญาโตตุลาการ

(สอง) สละสิทธิที่จะเริ่มหรือดำเนินกระบวนการพิจารณาใดๆ ต่อไป ไม่รวมถึงกระบวนการพิจารณาของมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ตามที่อ้างถึงในวรรค 7 ก่อนที่เวทีการระงับข้อพิพาทอื่นใดที่อ้างถึงในวรรค 4 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เป็นข้อพิพาท และ

(สาม) สรุปโดยย่อถึงการละเมิดที่กล่าวอ้างว่ามีของประเทศภาคีผู้พิพาทภายใต้ความตกลงฉบับนี้ รวมถึงข้อต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิด และความสูญเสียหรือความเสียหายที่อ้างว่าเกิดแก่ผู้ลงทุนหรือการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น

7. ประเทศภาคีจะต้องไม่ขัดขวางผู้ลงทุนผู้พิพาทจากการแสวงหามาตรการคุ้มครองชั่วคราว ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชำระค่าเสียหาย หรือการหาข้อยุติในสาระสำคัญของประเด็นข้อพิพาทต่อศาลหรือองค์คณะทางปกครองของประเทศภาคีผู้พิพาทก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในเวทีการระงับข้อพิพาทใดๆที่ อ้างถึงในวรรค 4 เพื่อการสงวนไว้ซึ่งสิทธิและผลประโยชน์ของตน

8. ประเทศภาคีจะต้องไม่ให้การคุ้มครองทางการทูต หรือนำเอาข้อเรียกร้องระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับข้อพิพาทซึ่งผู้ลงทุนของตนและของกลุ่มประเทศภาคีอื่นใด จะต้องให้ความยินยอมในการยื่น หรือได้ยื่นเพื่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือการอนุญาโตตุลาการภายใต้ข้อนี้ เว้นแต่ประเทศภาคีอื่นนั้นไม่สามารถปฏิบัติตามและทำให้สอดคล้องกับคำชี้ขาดที่ตัดสินออกมาในข้อพิพาทนั้น และเพื่อความมุ่งประสงค์ของวรรคนี้ การคุ้มครองทางการทูตจะต้องไม่รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางการทูตที่ไม่เป็นทางการด้วยความมุ่งประสงค์เพียงเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกในการระงับข้อพิพาท

9. เมื่อผู้ลงทุนเรียกร้องว่าประเทศภาคีผู้พิพาทได้ละเมิดข้อ 8 (การเวนคืน) โดยการออกหรือบังคับใช้มาตรการทางภาษี ประเทศภาคีผู้พิพาทและประเทศภาคีผู้ไม่พิพาทจะต้องทำการปรึกษาหารือเมื่อมีการร้องขอจากประเทศภาคีผู้พิพาท โดยมุ่งที่จะวินิจฉัยว่ามาตรการทางภาษีที่สงสัยดังกล่าวนั้นมีผลเทียบเท่ากับการเวนคืนหรือการทำให้เป็นของรัฐหรือไม่ คณะผู้พิจารณาที่อาจจัดตั้งขึ้นตามข้อนี้จะต้องมีการวินิจฉัยอย่างรอบคอบถึงคำตัดสินของประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายภายใต้วรรคนี้

10. หากประเทศภาคีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเริ่มการปรึกษาหารือ หรือไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่ามาตรการทางภาษีนั้นมีผลเทียบเท่ากับการเวนคืนหรือการทำให้เป็นของรัฐ ภายในช่วงเวลา 180 วันนับจากวันที่ได้รับคำร้องขอให้ปรึกษาหารือตามที่อ้างถึงในวรรค 4 ผู้ลงทุนผู้พิพาทจะต้องไม่ถูกขัดขวางจากการยื่นข้อเรียกร้องของตนต่อการอนุญาโตตุลาการ ที่สอดคล้องกับข้อนี้

ข้อ 15

การปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์

1. ขึ้นอยู่กับการแจ้งและการปรึกษาหารือล่วงหน้า ประเทศภาคีฝ่ายหนึ่งอาจปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์ของความตกลงฉบับนี้ ต่อ

(เอ) ผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้มีการลงทุนโดยนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือควบคุมโดยบุคคลของประเทศที่ไม่ใช่ภาคี และนิติบุคคลนั้นไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในอาณาเขตของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ

(บี) ผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้มีการลงทุนโดยนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของ หรือควบคุมโดยบุคคลของประเทศที่ปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์

2. โดยไม่คำนึงถึงวรรค 1 ในกรณีของไทย ภายใต้กฎหมายและ/ หรือ กฎระเบียบของตนที่ใช้บังคับอยู่ไทยอาจปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์ของความตกลงฉบับนี้ ที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้เข้ามา การจัดตั้ง การได้มา และการขยายการลงทุนของผู้ลงทุนจากประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นนิติบุคคลของประเทศภาคีนั้น และต่อการลงทุนของผู้ลงทุนดังกล่าว ที่ไทยพิสูจน์ได้ว่า นิติบุคคลนั้นเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมโดยบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล9ของประเทศที่มิใช่ภาคีหรือประเทศภาคีที่ปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์

3. โดยไม่มีผลต่อวรรค 1 ฟิลิปปินส์อาจปฏิเสธการให้สิทธิประโยชน์ของความตกลงฉบับนี้ต่อผู้ลงทุนของประเทศภาคีอีกฝ่ายหนึ่งและต่อการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น ที่ตนพิสูจน์ได้ว่าผู้ลงทุนดังกล่าวได้ทำการลงทุนโดยละเมิดข้อบทของกฎหมายแห่งเครือจักรภพ หมายเลข 108 ที่มีชื่อว่ากฎหมายเพื่อลงโทษพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยการทำให้เป็นของรัฐซึ่งสิทธิพื้นฐาน สัมปทาน หรือสิทธิประโยชน์ ตามที่ได้แก้ไขโดยพระราชกฤษฎีกา หมายเลข 715 หรือที่รู้จักกันในนาม “ดิ แอนไทดัมมี่ลอว์” ตามที่มีการแก้ไขต่อมา

ข้อ 16

ข้อยกเว้นทั่วไป

1. ภายใต้ข้อกำหนดว่า มาตรการดังกล่าวจะต้องไม่นำมาใช้ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติตามอำเภอใจหรืออย่างไม่มีเหตุผลระหว่างกลุ่มประเทศภาคี ผู้ลงทุนหรือการลงทุนของผู้ลงทุนนั้น ซึ่งอยู่ในสภาพการณ์เดียวกัน หรือก่อให้เกิดข้อจำกัดที่แอบแฝงต่อผู้ลงทุนหรือการลงทุนของผู้ลงทุนของประเทศภาคีอื่น ไม่มีความใดในความตกลงฉบับนี้ที่จะถูกตีความว่าเป็นการขัดขวางการออกหรือการบังคับใช้ ซึ่งมาตรการต่างๆ โดยประเทศภาคีใดๆ ที่

(เอ) จำเป็นเพื่อคุ้มครองศีลธรรมของประชาชน หรือรักษาความสงบเรียบร้อยสาธารณะ

(บี) จำเป็นเพื่อคุ้มครองชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช

(ซี) จำเป็นเพื่อทำให้มั่นใจว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่งไม่ขัดต่อข้อบทในความตกลงฉบับนี้ รวมถึงข้อบทอื่นที่เกี่ยวกับ

(หนึ่ง) การป้องกันการปฏิบัติที่หลอกลวงและฉ้อโกง เพื่อจัดการกับผลของการผิดสัญญา

(สอง) การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของปัจเจกชน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประมวลผลและการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล และการรักษาความลับของประวัติและบัญชีส่วนบุคคล และ

(สาม) ความปลอดภัย

(ดี) มุ่งหมายที่จะประกันการกำหนดหรือการจัดเก็บภาษีทางตรงที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือผู้ลงทุนของรัฐสมาชิกใด ๆ อย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ

(อี) กำหนดขึ้นเพื่อการคุ้มครองทรัพย์สมบัติแห่งชาติที่มีคุณค่าทางศิลปะประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี หรือ

(เอฟ) เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด หากมาตรการดังกล่าวได้ใช้บังคับควบคู่ไปกับการจำกัดการผลิตหรือบริโภคภายในประเทศ

2. ตราบเท่าที่มาตรการมีผลกระทบต่อการให้บริการทางการเงิน วรรคสอง (ระเบียบข้อบังคับภายในประเทศ) ของภาคผนวกว่าด้วยการบริการการเงินภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยความตกลงการค้าบริการ ของความตกลงดับบลิว ที โอ (“แกตส์”) จะต้องถูกรวมเข้าไว้และถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของความตกลงฉบับนี้โดยอนุโลม

ข้อ 17

ข้อยกเว้นด้านความมั่นคง

ไม่มีความใดในความตกลงฉบับนี้ที่จะถูกตีความไปในทางที่จะ

(เอ) กำหนดให้ประเทศภาคีใดให้ข้อมูลใดๆ ที่ตนพิจารณาแล้วเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลนั้นจะขัดต่อผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงที่มีความสำคัญยิ่งของตน หรือ

(บี) ขัดขวางประเทศภาคีใดๆ ในการดำเนินการใดๆ ที่พิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงที่สำคัญของตน ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง

(หนึ่ง) การดำเนินการเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถแตกตัวและรวมตัวทางอะตอม หรือวัสดุที่เกิดขึ้นจากวัสดุนั้น

(สอง) การดำเนินการเกี่ยวกับการค้าอาวุธ ยุทธภัณฑ์ และเครื่องมือเกี่ยวกับการสงคราม และการค้าสินค้าและวัสดุอื่น ซึ่งกระทำโดยทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดหาให้แก่หน่วยจัดตั้งทางทหาร

(สาม) การดำเนินการเพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่สำคัญ จากความพยายามจงใจที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวใช้การไม่ได้หรือเสื่อมสภาพลง

(สี่) การดำเนินการในยามสงคราม หรือในยามฉุกเฉินภายในอื่นๆ หรือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือ

(ซี) ขัดขวางประเทศภาคีใดๆ ในการดำเนินการใดๆ ตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติเพื่อการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

ข้อ 18

พันธกรณีอื่น

1. หากกฎหมายของประเทศภาคีใด หรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้วในขณะที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับหรือจัดตั้งขึ้นหลังจากที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ภายในกลุ่มประเทศภาคี และมีผลต่อสถานะการลงทุนของผู้ลงทุนประเทศภาคีอื่น ให้ได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าที่ให้ภายใต้ความตกลงฉบับนี้ สถานะดังกล่าวจะไม่ถูกกระทบโดยความตกลงฉบับนี้

2. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องถือปฎิบัติข้อผูกพันใดๆ ที่ตนอาจเข้าร่วมกับนักลงทุนของประเทศภาคีอื่นที่ถือว่าเป็นการลงทุนของเขา

ข้อ 19

ความโปร่งใส

1. เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความตกลงฉบับนี้ ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้อง

(เอ) จัดให้มีการเผยแพร่กฎหมาย ระเบียบ นโยบาย และแนวทางพิจารณาทางการปกครอง ทั้งหมดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบต่อการลงทุนในอาณาเขตของตน

(บี) แจ้งต่อประเทศภาคีอื่นโดยทันทีและอย่างน้อยปีละครั้ง ถึงการออกกฎหมายใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย กฎระเบียบ นโยบาย หรือแนวทางพิจารณาทางการปกครองที่ใช้โดยทั่วไป ซึ่งมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนในอาณาเขตของตน หรือข้อผูกพันภายใต้ความตกลงฉบับนี้

(ซี) จัดตั้งหรือระบุจุดสอบถามข้อมูล หากมีการร้องขอจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศภาคี เพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรการที่กำหนดให้เผยแพร่หรือจัดให้มีภายใต้อนุวรรค (เอ) และ (บี) ได้ในทันที

(ดี) แจ้งต่อประเทศภาคีอื่นๆ โดยผ่านเลขาธิการอาเซียนอย่างน้อยปีละครั้ง ถึงความตกลงหรือข้อตกลงในอนาคตที่เกี่ยวกับการลงทุนซึ่งให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและที่ตนเป็นภาคีอยู่

2. ไม่มีความใดในความตกลงฉบับนี้ จะกำหนดให้ประเทศภาคีต้องจัดให้หรืออนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลลับซึ่งการเปิดเผยจะขัดขวางการบังคับใช้กฎหมาย หรือมิเช่นนั้น ขัดกับประโยชน์สาธารณะ หรือจะทำให้เสื่อมผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่ชอบด้วยกฎหมายของนิติบุคคล สาธารณชน หรือเอกชนรายใดโดยเฉพาะ

3. การแจ้งหรือการติดต่อสื่อสารทั้งหมดที่กระทำตามวรรค 1 จะต้องเป็นภาษาอังกฤษ

ข้อ 20

การส่งเสริมการลงทุน

ประเทศภาคีจะต้องให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและทำให้เขตการลงทุนอาเซียน-จีน เป็นที่รู้จักมากขึ้น

โดยวิธีต่างๆ รวมถึง

(เอ) การเพิ่มการลงทุนอาเซียน-จีน

(บี) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน

(ซี) การส่งเสริมการจัดงานการจับคู่ทางธุรกิจ

(ดี) การจัดและสนับสนุนการจัดบรรยายสรุปและการจัดสัมมนาในเรื่องโอกาสการลงทุน และในเรื่องกฎหมายการลงทุน กฎระเบียบ และนโยบาย และ

(อี) การจัดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน เกี่ยวกับการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน

ข้อ 21

การอำนวยความสะดวกทางการลงทุน

ขึ้นอยู่กับกฎหมายและระเบียบของกลุ่มประเทศภาคี กลุ่มประเทศภาคีจะต้องให้ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกทางการลงทุนระหว่างอาเซียนและจีน โดยวิธีต่างๆ รวมถึง

(เอ) สร้างสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นต่อการลงทุนทุกรูปแบบ

(บี) ทำให้ขั้นตอนการยื่นขอลงทุนและการอนุมัติการลงทุนง่ายขึ้น

(ซี) สนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ซึ่งรวมถึงข้อบังคับด้านการลงทุน กฏระเบียบ นโยบาย และกระบวนการในการลงทุนและ

(ดี) จัดตั้งศูนย์บริการเรื่องการลงทุนแบบครบวงจรในแต่ละประเทศภาคีผู้รับการลงทุน เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้บริการปรึกษาแก่ภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องใบอนุญาตและใบอนุมัติ

ข้อ 22

ข้อตกลงทางด้านสถาบัน

1. ในระหว่างการจัดตั้งองค์กรถาวร เออีเอ็ม-เอ็มโอเอ็ฟซีโอเอ็ม โดยการสนุบสนุนและช่วยเหลือจากเอสอีโอเอ็ม-เอ็มโอเอ็ฟซีโอเอ็ม จะทำหน้าที่ในการควบคุม กำกับดูแล ประสานงาน และทบทวนการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้

2. สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องติดตาม และรายงานผลการปฏิบัติตามความตกลงฉบับนี้ต่อเออีเอ็ม-เอ็มโอเอ็ฟซีโอเอ็ม โดยประเทศภาคีทุกประเทศจะต้องให้ความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการอาเซียนในการดำเนินการดังกล่าว

3. ประเทศภาคีแต่ละฝ่ายจะต้องแต่งตั้งจุดติดต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างกลุ่มประเทศภาคีในทุกเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของความตกลงฉบับนี้ เมื่อได้รับการร้องขอจากประเทศภาคี จุดติดต่อของประเทศภาคีที่ได้รับการร้องขอ จะต้องระบุสำนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว และช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารกับประเทศภาคีที่ร้องขอ

ข้อ 23

ความสัมพันธ์กับความตกลงอื่น

ไม่มีสิ่งใดภายในความตกลงฉบับนี้ที่จะลิดรอนสิทธิและพันธกรณีที่มีอยู่ของประเทศภาคี ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศซึ่งประเทศภาคีนั้นเป็นภาคีอยู่

ข้อ 24

การทบทวนทั่วไป

เออีเอ็ม-เอ็มโอเอ็ฟซีโอเอ็ม หรือผู้แทนที่ได้รับการแต่งตั้ง จะต้องประชุมภายในหนึ่งปีนับจากวันที่ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ และหลังจากนั้น จะต้องพบกันในทุกสองปีหรือแล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อทบทวนความตกลงฉบับนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายวัตถุประสงค์ตามที่ระบุในข้อ 2 (วัตถุประสงค์)

ข้อ 25

การแก้ไข

ความตกลงฉบับนี้อาจแก้ไขได้ โดยความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรจากกลุ่มประเทศภาคีและการแก้ไขนั้นจะมีผลใช้บังคับในวันดังกล่าวหรือในวันอื่น ตามที่กลุ่มประเทศภาคีได้ตกลงร่วมกัน

ข้อ 26

การเก็บรักษา

สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ความตกลงฉบับนี้จะถูกเก็บรักษาไว้กับเลขาธิการอาเซียน ผู้ซึ่งจะส่งมอบสำเนาความตกลงที่ได้รับรองความถูกต้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศทันที

ข้อ 27

การมีผลใช้บังคับ

1. ความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับนับจากวันที่มีการลงนามความตกลงฉบับนี้หก (6) เดือน

2. กลุ่มประเทศภาคีต้องดำเนินการให้กระบวนการภายในของตนเสร็จสิ้น เพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

3. หากประเทศภาคีใดไม่สามารถดำเนินการตามกระบวนการภายในของตนให้เสร็จสิ้นเพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ภายในหก (6) เดือนนับจากวันที่มีการลงนามความตกลงฉบับนี้ สิทธิและพันธกรณีของประเทศภาคีดังกล่าวภายใต้ความตกลงฉบับนี้ จะเริ่มต้นสามสิบ (30) วันหลังจากวันที่ได้แจ้งว่ากระบวนการภายในดังกล่าวได้เสร็จสิ้นแล้ว

4. ประเทศภาคีจะต้องแจ้งประเทศภาคีอื่นๆ ทั้งหมดเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อได้ดำเนินการตามกระบวนการภายในของตนเสร็จสิ้น เพื่อให้ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ

เพื่อเป็นพยานในการนี้ ผู้มีนามข้างใต้ ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาลของตน ได้ลงนามความตกลงการลงทุนฉบับนี้ภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจซึ่งครอบคลุมด้านต่างๆระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน

จัดทำ ณ เมือง... ประเทศ... วันที่... ในปีคริสต์ศักราชสองพัน (แปด) เป็นสำเนาคู่ฉบับภาษาอังกฤษ

          สำหรับบรูไน ดารุสซาลาม                                  สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน
          ชื่อ                                                   ชื่อ
          ตำแหน่ง                                               ตำแหน่ง

สำหรับราชอาณาจักรกัมพูชา

ชื่อ

ตำแหน่ง

สำหรับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ชื่อ

ตำแหน่ง

สำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ชื่อ

ตำแหน่ง

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ