ศูนย์เศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ออสเตรเลีย ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง “ประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า[1]” โดยได้ศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของออสเตรเลียในช่วงสองทศวรรตที่ผ่านมา พบว่าออสเตรเลียได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้ามากกว่าการใช้มาตรการปกป้องทางการค้า ทำให้ออสเตรเลียมีรายได้เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (หรือ GDP) เพิ่มขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง อย่างไรก็ดี ในภาวะเศรษฐกิจหดตัวเช่นปัจจุบัน ประเทศต่างๆ อาจหันมาใช้มาตรการปกป้องทางการค้าเพราะเชื่อว่าสามารถปกป้องการผลิตภายในประเทศและรักษาการจ้างงานได้ แต่ผลของการใช้มาตรการดังกล่าวยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทางออกของวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จึงเป็นการลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อเพิ่มอุปสงค์และกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ
งานวิจัยนี้แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1) บทนำ กล่าวถึงทิศทางการเปิดเสรีในออสเตรเลียว่าได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงทศวรรตที่ 1970 โดยเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในควบคู่ไปกับการเปิดเสรีทางการค้า 2) ผลของการเปิดเสรีทางการค้าที่ออสเตรเลียได้ มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคการค้าระหว่างประเทศเท่านั้น ยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคแรงงาน และภาคบริการด้วย ซึ่งส่งผลให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นและอัตราการว่างงานลดลง 3) การจ้างงานอันเกิดจากการค้าระหว่างประเทศและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องมีมากกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 23 ของจำนวนงานทั้งหมดในออสเตรเลีย และ 4) การไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าการปกป้องทางการค้าที่ยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก การลงทุน การบริโภค และจีดีพี โดยประเมินว่า หากประเทศต่างๆ เพิ่มภาษีนำเข้าเฉลี่ยขึ้นเพียงร้อยละ 10 จะทำให้จีดีพีโลกลดลงประมาณร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 110 ล้านล้านเหรียญออสเตรเลีย
1. บทนำ
1.1. ออสเตรเลียได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศที่เน้นการเปิดเสรีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรตที่ 1970 โดยการปล่อยค่าเงินให้ลอยตัว การยกเลิกกฎเกณฑ์ทางการเงิน การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการประกาศใช้กฎหมายการแข่งขัน (Competition Law)
1.2. นอกจากนี้ ออสเตรเลียได้ดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าควบคู่กับการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยการทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ การลดและยกเลิกภาษีนำเข้า การยกเลิกระบบโควต้า การอำนวยความสะดวกด้านการเคลื่อนย้ายทุน และการลดการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศ
1.3. ในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ได้พัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจขึ้นมาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะประเทศเอเชียที่มีจีนและอินเดียเป็นจักรกลสำคัญ ออสเตรเลียในฐานะประเทศที่ดำรงอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจโลกอันผันผวนนี้ จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
1.4. อย่างไรก็ดี ทิศทางการเปิดเสรีในออสเตรเลีย ประกอบกับเศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นและแรงงานที่มีฝีมือ เป็นพื้นฐานสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจออสเตรเลีย ทำให้ประเทศสามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ และได้รับประโยชน์จากพัฒนาการของเศรษฐกิจเอเชียมากกว่าการมองว่าจะเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจ
2. ผลของการเปิดเสรีทางการค้า
2.1. ออสเตรเลียได้ดำเนินการลดอุปสรรคทางการค้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา โดยในปี พ.ศ. 2551 ออสเตรเลียได้ลดอัตราภาษีนำเข้าที่ใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยเฉลี่ยจากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 5 และคงไว้ที่ระดับนี้มาจนถึงปัจจุบัน
2.2. การปกป้องทางการค้าได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายด้านดังนี้ 1) บิดเบือนราคาสินค้าให้สูงกว่าราคาที่แท้จริง 2) กระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือนและภาคธุรกิจ (เนื่องจากสินค้ามีราคาสูง) 3) ทำให้เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น เนื่องจากกำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าน้อยลง เงินออมในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ภาวะเช่นนี้จะดึงดูดให้นักลงทุนหันมาลงทุนในดอลลาร์ออสเตรเลีย ผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งขึ้นด้วย 4) ลดแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และ 5) ขัดขวางการทำตลาดส่งออกใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ
2.3. งานวิจัยนี้นำแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์มาประเมินผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าในช่วงสองทศวรรตที่ผ่านมา พบว่าการค้าเสรีทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5-3.5 เท่ากับว่ารายได้ประชาชาติ (Gross National Income) ได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.8 ซึ่งอาจอนุมาณได้ว่า รายได้ที่แท้จริง (Real Income) ของครอบครัวผู้มีงานทำในออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้นประมาณ 2700 - 3900 เหรียญออสเตรเลีย
2.4. การไม่ใช้มาตรการปกป้องทางการค้ากระตุ้นให้มีการส่งออกเพิ่มขึ้น (ตามสัดส่วนของจีดีพีที่เพิ่มขึ้น) โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ออสเตรเลียมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสูง เช่น เครื่องจักรที่อาศัยเงินทุนและความรู้สูง และการส่งออกชิ้นส่วนโดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น
2.5. ภาคบริการก็ได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีด้วยเช่นกัน โดยระหว่างปี พ.ศ. 2551-52 ได้สร้างรายได้ให้แก่ออสเตรเลียประมาณร้อยละ 4.5 ของจีดีพีทั้งหมด ซึ่งมากกว่ามูลค่าการส่งออกเหล็กและถ่านหินรวมกัน การให้บริการด้านการศึกษาของออสเตรเลียเป็นตัวอย่างของการส่งออกภาคบริการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งออสเตรเลียจะได้รับประโยชน์จากให้บริการด้านการศึกษานี้ใน 4 ทิศทางด้วยกัน คือ 1) ให้บริการการศึกษาโดยผ่านโครงข่ายอิเล็กทรอนิกส์สู่นักเรียนในประเทศต่างๆ 2) นักเรียนจากต่างประเทศเดินทางมาเรียนที่ออสเตรเลีย 3) มหาวิทยาลัยออสเตรเลียไปเปิดสาขาในประเทศต่างๆ และ 4) นักวิชาการออสเตรเลียเดินทางไปสอนในต่างประเทศ ดังนั้น การลดอุปสรรคต่างๆ เช่น ข้อจัดกัดในการให้วีซ่า การสร้างความตกลงร่วมกันเพื่อรับรองวุฒิการศึกษา และการออกในอนุญาตให้แก่ครูชาวออสเตรเลียทำงานในต่างประเทศ ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาออสเตรเลียสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. การจ้างงานอันเกิดจากการค้าระหว่างประเทศ
3.1. มีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดเสรีในออสเตรเลียว่า ชาวจีนและชาวอินเดียกำลังจะ “แย่งงาน” ไปจากชาวออสเตรเลีย รัฐบาลออสเตรเลียจึงต้องดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ข้อสังสัยดังกล่าวตั้งอยู่บนความเชื่อว่ามีปริมาณงานคงที่จำนวนหนึ่ง เมื่อแรงงานต่างชาติเข้ามา “แย่งงาน” ไป ก็จะเหลืองานให้ชาวออสเตรเลียน้อยลง แต่ความจริงอาจมิได้เป็นเช่นนั้น เมื่ออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งจ้างงานน้อยลง การจ้างงานที่น้อยลงก็จะไปเพิ่มแทนที่ในอุตสาหกรรมอื่น ออสเตรเลียมีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นตามธรรมชาติหรือจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน ทำให้ความต้องการในการใช้/บริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
3.2. จากข้อมูลของ Australia Bureau of Statistics หรือ ABS ได้เชื่อมโยงการเปิดเสรีทางการค้ากับการจ้างงานว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางที่ส่งเสริมกัน ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกสามารถสร้างงานให้แก่ชาวออสเตรเลียได้ประมาณร้อยละ 13 หรือประมาณ 1 ใน 7 ของแรงงานออสเตรเลียทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากเหล็ก เกษตรกรรม โกดัง/คลังสินค้า และการขนส่ง(ทางน้ำและทางอากาศ)
3.3. นอกจากนี้ สินค้านำเข้าก็ได้สร้างงานให้แก่ชาวออสเตรเลียกว่า 1.1 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ของแรงงานออสเตรเลียทั้งหมด เนื่องจากงานส่วนใหญ่จะกระจายตัวตามเส้นทางการเคลื่อนผ่านสินค้านำเข้า เช่น การขนส่ง การลำเลียง การจำหน่าย และการเก็บรักษาสินค้านำ เป็นต้น
3.4. ดังนั้น กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศสามารถสร้างงานให้แก่ชาวอสเตรเลียได้มากกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 23 ของจำนวนงานทั้งหมดในออสเตรเลีย
4. การไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
4.1. แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้จะก่อตัวขึ้นจากภาคการเงิน แต่ได้ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่า เมื่อความเชื่อมั่นของภาคการเงินลดลง ภาคธุรกิจและครัวเรือนจะชะลอการใช้จ่าย ทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (หรือ GDP) ลดลง ทำให้เศรษฐกิจหดตัว เกิดผลกระทบขยายออกไปทั่วโลก รวมทั้งภาวะการว่างงานและการชะงักงันของการทำธุรกรรมการเงินเพื่อการค้า (Trade Finance)
4.2. ประเทศต่างๆ จึงได้ออกมาตรการที่แตกต่างกันมาเพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มธุรกรรมการเงินเพื่อการค้าเพราะเชื่อว่าการค้าเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาจมีแรงกดดันภายในประเทศให้รัฐบาลออกมาตรการปกป้องทางการค้าเพื่อรักษาการผลิตและการจ้างงานภายในประเทศไว้ต่อไป
4.3. ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ออสเตรเลีย ได้ประเมินผลกระทบของการประกาศใช้มาตรการปกป้องทางการค้าว่า การปกป้องทางการค้าจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการนำเข้า การส่งออก การลงทุน การบริโภค และจีดีพี โดยประเมินว่า หากประเทศต่างๆ เพิ่มภาษีนำเข้าเฉลี่ยขึ้นเพียงร้อยละ 10 จะทำให้จีดีพีโลกลดลงประมาณร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 110 ล้านล้านเหรียญออสเตรเลีย และทำให้ภาคครัวเรือนใช้จ่ายลดลงประมาณ 84 ล้านล้านเหรียญออสเตรเลีย ทั้งนี้ ประเทศที่พึ่งการส่งออกโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในกรณีที่ประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการปกป้องทางการค้า
4.4. โดยสรุป หากประเทศต่างๆ ใช้มาตรการปกป้องทางการค้าจะส่งผลร้ายต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้า ดังนั้น จึงควรลดภาษีเพื่อเพิ่มอุปสงค์และกระตุ้นการขยายตัวทางค้าระหว่างประเทศ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630