เอเปคมุ่งหนุนการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) ประสบผลสำเร็จเร่งหารือการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาค และหวังสร้างความเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน พร้อมกันนี้ไทย-เปรู เตรียมลงนามพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 เพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าสินค้า และอำนวยความสะดวกทางการค้า
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ในระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศสิงคโปร์ จะมีการหารือประเด็นด้านการค้าที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ
1) การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี รัฐมนตรีเอเปคจะหารือกันว่า เอเปคจะสนับสนุนการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกที่จะมีขึ้นในปลายเดือนพฤศจิกายนที่เจนีวาได้อย่างไร โดยในช่วงเช้าวันที่ 11 พฤศจิกายน ก่อนเริ่มการประชุมรัฐมนตรีเอเปค Mr.Pascal Lamy ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก จะมีการหารือกับรัฐมนตรีด้านการค้าเอเปคด้วย เพื่อแจ้งความคืบหน้าการเจรจารอบโดฮา และการเตรียมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกให้รัฐมนตรีการค้าเอเปคทราบ
2) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดมากขึ้นในภูมิภาคเอเปค (Regional Economic Integration: REI) มี 3 ประเด็นที่จะหารือ คือ 1) การเร่งรัดการเปิดเสรีการค้าการลงทุนที่พรมแดน โดยเน้นเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า และการบริการ 2) การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจภายในประเทศให้มีขั้นตอนน้อยลงและสะดวกขึ้น และ 3) การปรับปรุงเครือข่ายโลจิสติกส์และขนส่งในภูมิภาคให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกันมากขึ้น
3) วิกฤตเศรษฐกิจ และการเตรียมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้เอเปคตกลงนำประเด็นเรื่องการกระจายผลประโยชน์จากกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปอย่างทั่วถึงมากขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในปีหน้า ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคครั้งนี้ จึงจะมีพิจารณาแนวทางการสร้างความเจริญเติบโตแบบมีส่วนร่วมที่ยั่งยืน (Inclusive growth) เช่น การเน้นนโยบายพัฒนา SME การพัฒนาศักยภาพและฝีมือแรงงาน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ไทยจะมีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า กับนายมาร์ติน เปเรส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวสาธารณรัฐเปรู ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีเปรูร่วมเป็นสักขีพยาน
โดยพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 นี้ เป็นการปรับรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ปี 2002 เป็นปี 2007 เพื่อให้พิธีสารและพิธีสารเพิ่มเติมเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทย-เปรู (Early Harvest) ที่ได้ลงนามไปแล้วเมื่อปี 2548 และ 2549 มีผลบังคับใช้ ภายใต้พิธีสารดังกล่าว ไทยและเปรูผูกพันที่จะลด/ยกเลิกภาษีประมาณร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมดให้แก่กัน
นอกจากนี้ ในช่วงการประชุมดังกล่าว ไทยจะมีการหารือทวิภาคีกับสมาชิกเอเปคบางประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาและสร้างความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630