เวทีเอเปคชี้วิกฤติศก.โลกยังไม่จบ เตือนเอเชียเสี่ยงฟองสบู่

ข่าวทั่วไป Friday November 20, 2009 15:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

รัฐมนตรีเอเปค ชี้วิกฤติเศรษฐกิจโลกยังห่างไกลจุดสิ้นสุด ด้านปธ.ธนาคารโลกระบุ เอเชียเสี่ยงเศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกิน และอาจเผชิญภาวะฟองสบู่

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าววานนี้ (11 พ.ย.) ถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้ โดยระบุว่า ที่ประชุมมีการหารือกันว่าในอนาคตต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มการค้าต่างๆ ที่ก่อกำเนิดขึ้นมากมาย รวมถึงต้องหาจุดสรุปของการเจรจาการค้าโลกรอบโดฮา และการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ต่อจากพิธีสารเกียวโต

ในส่วนของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ที่ประชุมปรารถนาจะให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป และประสานกันว่าจะยุติมาตรการกระตุ้นอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น รัฐมนตรีเอเปคยังเห็นพ้องว่า ต้องระวังไม่ให้เกิดลัทธิปกป้องทางการค้าขึ้นในโลก เพราะจะสร้างความสูญเสียโดยรวม อีกทั้งที่ประชุมยังหารือกันถึงความจำเป็นในการปฏิรูประบบการเงินและการคลังโลก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสถานะของธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

นายกษิตกล่าวว่า ไทยในฐานะประธานสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ชี้แจงต่อประชุมเกี่ยวกับพัฒนาการของอาเซียน ทั้งในเรื่ององค์กรสิทธิมนุษยชน โลจิสติกส์ พิธีการทางศุลกากร ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ประเทศอีกฟากของแปซิฟิกได้ศึกษาเรื่องการเชื่อมโยง นอกจากนั้น ในเรื่องการพัฒนาก็ต้องมีความยั่งยืน โยงไปถึงคุณภาพชีวิตและการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ในโอกาสนี้ ไทยได้อัญเชิญปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าทำประโยชน์ให้กับไทยอย่างไร รวมถึงแบบอย่างโครงการในพระราชดำริ ซึ่งไทยจะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้บรรดามิตรประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเปค ว่าจะอยู่ได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัตน์

เตือนวิกฤติเศรษฐกิจจบยาก

ร่างแถลงการณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเอเปค ระบุว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ สถานการณ์ยังคงเปราะบาง และการฟื้นตัวเป็นไปอย่างเชื่องช้า การแก้ปัญหาควรมุ่งไปที่ต้นเหตุของปัญหา

นายจอร์จ เอี๋ยว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า การกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องอันตรายมาก และอาจทำลายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว และยังเปราะบาง จึงควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า

กลุ่มรัฐมนตรีคลังเอเปคแสดงความวิตก ถึงความเป็นไปได้ ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยระลอกสอง พร้อมเรียกร้องให้มีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

การประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปค มีขึ้นก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งจะมีผู้นำโลก เช่น นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ นายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีจีน ร่วมประชุมกับผู้นำ 19 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ในวันนี้ (12 พ.ย.) รัฐมนตรีจาก 21 ประเทศ จะประชุมกันหลายวาระ นอกเหนือจากประเด็นเศรษฐกิจ รวมถึงการแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

เตือนเลี่ยงฟองสบู่สินทรัพย์

ขณะเดียวกัน นายโรเบิร์ต เซลลิค ประธานธนาคารโลก กล่าวนอกรอบการประชุมเอเปค ว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางในเอเชียจำเป็นต้องพิจารณามาตรการควบคุมด้านการเงิน เพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียกำลังฟื้นตัวท่ามกลางสภาพคล่องหนาแน่น แม้ว่าตัวเขาเองค่อนข้างสบายใจกับแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ แต่คาดว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้า

ประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความกังวล ได้แก่ ภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ในระบบเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกบางประเทศที่กลับมาขยายตัว หลังจากดิ่งลงอย่างหนักในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ผลจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการเงิน ในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 60 ปี

ประธานธนาคารโลกกล่าวว่า ความท้าทายที่แท้จริงในปัจจุบัน คือ ความเสี่ยงของบุคคลที่เราทำธุรกรรมด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจเริ่มกลับมาขยายตัว ประเทศต่างๆ ยังจมอยู่กับปัญหาสินเชื่อ ผู้ว่าการธนาคารกลางในเอเชียต้องเผชิญความท้าทายมากกว่าเดิม เนื่องจากธนาคารเหล่านี้ไม่สามารถเดินรอยตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เหมือนที่เคยทำในอดีต

หลายประเทศอาจเสี่ยงที่จะเผชิญกับผลกระทบด้านเงินเฟ้อในบางธุรกิจ และยังทำให้เกิดอันตรายในการสร้างความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว เนื่องจากสถานการณ์แวดล้อมในสหรัฐและยุโรปยังมีปัญหา ดังนั้น จุดยืนในการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ในบรรดาประเทศสมาชิกเอเปค ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารกลางในเอเชียบางประเทศที่แนวโน้มเศรษฐกิจออกมาดี ก็ดูเหมือนพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ