นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงในวันนี้ว่า ได้มีการลงนามในพิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ภายใต้พิธีสารระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐเปรู เพื่อเร่งการเปิดเสรีการค้าสินค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้า กับนายมาร์ติน เปเรส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศและการท่องเที่ยวสาธารณรัฐเปรู ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค โดยมีนายกรัฐมนตรีของไทย และประธานาธิบดีเปรูร่วมเป็นสักขีพยาน
ภายใต้พิธีสารดังกล่าว ไทยและเปรูผูกพันที่จะลด/ยกเลิกภาษีประมาณร้อยละ 70 ของรายการสินค้าทั้งหมดให้แก่กัน โดยสินค้าไทยที่จะได้รับประโยชน์จากการลด/ยกเลิกภาษีของเปรู อาทิ รถปิคอัพ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ เครื่องซักผ้า เตาอบไมโครเวฟ ปริ๊นเตอร์ หลอดไฟฟ้า เลนส์แว่นตา ยางและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน สินค้าที่ไทยลด/ยกเลิกภาษีให้กับเปรูส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบซึ่งไทยจำเป็นต้องนำเข้าอยู่แล้วเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือเป็นสินค้าที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน เช่น สินแร่และหัวแร่สังกะสี น้ำมันปลา อาหารทะเลแช่แข็ง สิ่งสกัดใช้ฟอกหนัง ในขณะที่สินค้าของไทยที่ยังไม่มีความพร้อม ไทยก็ไม่ได้นำมารวมอยู่ในรายการสินค้าที่จะเร่งลดภาษีกับเปรู เช่น ปลาป่น แคโทดทองแดง สังกะสีเจือและไม่เจือ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะเร่งดำเนินการเรื่องระเบียบต่างๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีระหว่างกันได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2553
คาดว่าการเปิดเสรีครั้งนี้ จะทำให้การค้าระหว่างไทย และเปรูขยายตัวเพิ่มขึ้นจากในปัจจุบันที่มีมูลค่ารวมประมาณ 327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมทั้งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวที่จะทำการค้ากับประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้มากขึ้น โดยอาศัยเปรูเป็น Gateway เนื่องจากสภาพที่ตั้งของเปรูอยู่กึ่งกลางภูมิภาคอเมริกาใต้ และขณะนี้เปรูอยู่ระหว่างการสร้างเส้นทางหลวงไปยังบราซิล เพื่อเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและแอตแลนติก และมีการสร้างท่าเรือเพิ่มเติมขึ้น ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคนี้
พิธีสารเพิ่มเติมฉบับที่ 2 นี้ เป็นการปรับรายการสินค้าและกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าจากระบบฮาร์โมไนซ์ปี 2002 เป็นปี 2007 เพื่อให้พิธีสารและพิธีสารเพิ่มเติมเพื่อเร่งเปิดเสรีการค้าและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทย-เปรู (Early Harvest) ที่ได้ลงนามไปแล้วเมื่อปี 2548 และ 2549 มีผลบังคับใช้
นายอลงกรณ์ ได้เปิดเผยต่อไปว่า พิธีสารฉบับนี้ ยังไม่รวมการเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวของไทยรวมทั้งปลาป่น ซึ่งเป็นความห่วงกังวลของอุตสาหกรรมนี้ โดยรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 12.8 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลาป่นไปแล้วตั้งแต่ปี 2551 จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดทำระบบประกันคุณภาพ GMP และโครงการจัดทำระบบประกันคุณภาพ HACCP ของโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมปลาป่นไทย ซึ่งในส่วนของโครงการจัดทำระบบประกันคุณภาพ GMP ได้ดำเนินการจนประสบความสำเร็จ โดยมีโรงงานปลาป่นที่เข้าร่วม 40 โรงงาน ทำให้คุณภาพปลาป่นของไทยดีขึ้น ซึ่งก็เชื่อได้ว่าหากในอนาคตไทยจำเป็นต้องเปิดตลาดปลาป่นให้กับเปรู ผู้ประกอบการไทยก็น่าจะแข่งขันได้
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630