การเปิดเสรีลงทุนในอาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday December 15, 2009 14:14 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

คำถาม & คำตอบ : การเปิดเสรีลงทุนในอาเซียน

1. คำถาม ความตกลง ACIA คืออะไร?

คำตอบ “ACIA” ย่อมาจาก ASEAN Comprehensive Investment Agreement เป็นความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน (ฉบับใหม่) ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่

(1) การเปิดเสรีการลงทุน

(2) การให้ความคุ้มครองการลงทุน

(3) การส่งเสริมการลงทุน

(4) การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน

มีเนื้อหาครอบคลุมการลงทุนในธุรกิจ 5 สาขา ได้แก่

(1) การเกษตร

(2) การทำประมง

(3) การทำป่าไม้

(4) การทำเหมืองแร่

(5) อุตสาหกรรมการผลิต และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจ 5 สาขาดังกล่าว

2. คำถาม ความตกลง ACIA จะมีผลบังคับใช้เมื่อใด?

คำตอบ ความตกลง ACIA จะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อสมาชิกอาเซียนครบทั้ง 10 ประเทศให้สัตยาบัน เพื่อเป็นการยืนยันการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลง ทั้งนี้ ไทยยังไม่ได้ยื่นสัตยาบันสารสำหรับความตกลง ACIA (สถานะวันที่ 10 ธ.ค. 2552)

3. คำถาม ระหว่างที่ความตกลง ACIA ยังไม่มีผลบังคับใช้ ไทยมีข้อผูกพันภายใต้ความตกลงด้านการลงทุนอื่นกับอาเซียนหรือไม่?

คำตอบ ไทยเป็นภาคีในกรอบความตกลงเขตการลงทุนอาเซียน หรือ AIA (Framework Agreement on ASEAN Investment Area) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปี 2541 (สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี) และจะยังมีผลไปจนกว่าความตกลง ACIA จะมีผลบังคับใช้ (เมื่อ ACIA มีผลบังคับใช้จะมีผลให้ AIA ถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ)

4. คำถาม ทำไมไทยต้องเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจ 3 รายการ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2553?

คำตอบ ความตกลง AIA กำหนดให้สมาชิกเปิดเสรีการลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ทยอยเปิดเสรีรายการที่สงวนไว้ใน รายการข้อยกเว้นชั่วคราว (Temporary Exclusion List — TEL) ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 ม.ค. 2553 ซึ่งในรายการ TEL ของไทยได้สงวนไว้ 3 รายการ คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำป่าไม้จากป่าปลูก และการเพาะขยายหรือปรับปรุงพันธุ์พืช

ทั้งนี้ ธุรกิจทั้ง 3 ประเภทเป็นรายการในบัญชี 3 ของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ต่างชาติสามารถขออนุญาตประกอบธุรกิจโดยถือหุ้นข้างมากได้ถึง 100% โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

5. คำถาม การเปิดเสรีการลงทุนในธุรกิจ 3 รายการ คืออะไร?

คำตอบ การเปิดเสรีการลงทุน คือ การอนุญาตให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ โดยสามารถถือหุ้นข้างมากได้จนถึง 100% อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาเซียนก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่รัฐกำหนดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทย

6. คำถาม ที่ผ่านมามีนักลงทุนอาเซียนเข้ามาขออนุญาตทำธุรกิจใน 3 สาขาข้างต้น หรือไม่

คำตอบ จากสถิติของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2543 ถึงเดือน เม.ย. 2552 ไม่มีนักลงทุนอาเซียนมายื่นขออนุญาตลงทุนเลย

7. คำถาม การเปิดเสรีธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการจับสัตว์น้ำในไทยด้วยหรือไม่?

             คำตอบ     การเปิดเสรีการลงทุนเป็นการอนุญาตให้ต่างชาติเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเท่านั้น ไม่รวม การจับสัตว์น้ำในน่านน้ำไทย เนื่องจากการจับสัตว์น้ำเป็นธุรกิจสงวนที่ห้ามต่างด้าวทำ (ต่างชาติ    ถือหุ้นได้ไม่เกิน 49%) ในบัญชี 1 ของ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542

8. คำถาม การเปิดเสรีธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ทำให้ต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำไทยจริงหรือ?

คำตอบ การกำหนดอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยในพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของรัฐชายฝั่งต้องเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล หรือเป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525)

นอกจากนั้น พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 มาตรา 3 ระบุไว้ชัดเจนว่า “น่านน้ำไทย” หมายถึง น่านน้ำที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย โดยมีความหมายรวมถึง พื้นดิน พื้นน้ำ ทะเลอันเป็นอ่าวไทย และทะเลที่ห่างจากดินแดนที่เป็นประเทศไทยไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล

ดังนั้น การเปิดเสรีเป็นเพียงการอนุญาตให้ทำธุรกิจ ไม่มีผลต่ออาณาเขตน่านน้ำไทย

9. คำถาม การเปิดเสรีธุรกิจเพาะขยาย/ปรับปรุงพันธุ์พืช เปิดให้ต่างชาตินำพันธุ์พืชไทยออกนอกประเทศ จริงหรือ?

คำตอบ ไทยมี พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 หมวด 3 ที่ห้ามไม่ให้ ผลิต จำหน่าย นำเข้า/ส่งออก พันธุ์พืชที่ได้รับการคุ้มครอง โดยรัฐมนตรีสามารถออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชที่ได้รับความคุ้มครองได้ เช่น ข้าว อ้อย กล้วยไม้สกุลหวาย เป็นต้น สำหรับพันธุ์พืชใหม่ก็สามารถห้าม ไม่ให้ผลิต จำหน่าย นำเข้า/ส่งออก ได้หากเป็นไปเพื่อการอนุรักษสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

ดังนั้น การเปิดเสรีเป็นเพียงการอนุญาตให้ทำธุรกิจ แต่ไม่ได้เป็นการอนุญาตเรื่องพันธุ์พืช

10. คำถาม การเปิดเสรีธุรกิจป่าไม้จากป่าปลูก เปิดให้ต่างชาติรุกล้ำป่าสงวนจริงหรือ?

คำตอบ พรบ. ป่าสงวน พ.ศ. 2507 ระบุไว้ว่าการใช้ประโยชน์และการปลูกสวนป่าในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นคนไทย หรือ นิติบุคคลที่มีหุ้นไทยเกิน 50% ส่วนการปลูกสร้างสวนป่าในป่าเสื่อมโทรม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ได้มีมติระงับการพิจารณาอนุญาตการใช้ประโยชน์ในเขตป่าเสื่อมโทรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จึงไม่มีการอนุญาตให้เช่าที่ดินที่เป็นป่าเสื่อมโทรมอีก

ดังนั้น ต่างชาติไม่สามารถเข้าไปลงทุนในพื้นที่ป่าสงวนได้

พรบ. สวนป่า พ.ศ. 2535 กำหนดว่าผู้ที่จะเข้าไปลงทุนทำสวนป่าในพื้นที่เอกชนต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ สิทธิครอบครอง หรือ สิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน

ดังนั้น ทุนต่างชาติสามารถทำสวนป่าได้ กรณีเช่าที่ดินเอกชนเท่านั้น

พรบ. เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ. 2545 ซึ่งระบุว่าผู้ขออนุญาตมีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองเลื่อยโซ่ยนต์ต้องเป็นคนไทย กรณีนิติบุคคล ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลต้องเป็นคนไทย

11. คำถาม ไทยไปผูกพันให้ต่างชาติเข้ามาครอบครองที่ดินได้ จริงหรือ?

คำตอบ การทำข้อผูกพันของประเทศไทยนั้น ได้ระบุไว้ว่า การถือครองที่ดินของชาวต่างชาติให้เป็นไปตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

  • ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 96 ทวิ คนต่างด้าวที่นำเงินมาลงทุนในไทย 40 ล้านบาทขึ้นไป สามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี
  • พรบ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 27 คนต่างด้าวที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิในที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร หากเลิกกิจการก็ต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตนั้น
  • พรบ. การนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ.2522 มาตรา 44 คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้ประกอบการอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิในที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควร หากเลิกกิจการก็ต้องจำหน่ายที่ดินที่ได้รับอนุญาตนั้น
  • พรบ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มาตรา 65 คณะกรรมการมีอำนาจอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้รับสัมปทานถือกรรมสิทธิในที่ดินเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมได้เท่าที่จำเป็น

จะเห็นได้ว่า คนต่างด้าวสามารถถือครองที่ดินได้อยู่แล้วตามกฎหมาย ดังนั้น การเปิดเสรีการลงทุนจึงไม่ได้เป็นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองกรรมสิทธิที่ดิน

ในส่วนของการเช่าที่ดินนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเช่าที่ดินซึ่งใช้บังคับทั่วไป ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว ดังนี้

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 540 การเช่าอสังหาริมทรัพย์สามารถทำสัญญาเช่าได้ไม่เกิน 30 ปี และเมื่อสัญญาสิ้นสุดสามารถต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 30 ปี
  • พรบ. การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาตรา 3 และ 4 การเช่าที่ดินขนาดไม่เกิน 100 ไร่ เพื่อพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม อาจทำสัญญาเช่าได้เกินกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี และสามารถต่อสัญญาได้อีกไม่เกิน 50 ปี แต่หากเกินกว่า 100 ไร่ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขความจำเป็น และประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมที่ดิน ทั้งนี้ ในกรณีผู้เช่าเป็นคนต่างด้าว และต้องการเช่าที่ดินเกินกว่า 100 ไร่ จะต้องนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทด้วย

ดังนั้น การที่คนต่างด้าวจะเช่าที่ดินในประเทศไทยนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการลงทุนอาเซียนแต่อย่างใด

12. คำถาม รัฐยังคงมีสิทธิในการกำกับดูแลธุรกิจ/อุตสาหกรรมเหล่านี้หรือไม่?

คำตอบ รัฐยังคงมีอำนาจเต็มที่ในการออกมาตรการมากำกับดูแล สามารถกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการให้อนุญาตและการดำเนินธุรกิจได้ ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เป็นการกีดกันต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการในการควบคุมพันธุ์พืช/สัตว์

ส่วนเรื่องสิทธิบัตรนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของความตกลงด้านการลงทุนฯ ดังนั้น แม้ไม่มีความตกลงเปิดเสรีลงทุนต่างชาติก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐกำหนด

13. คำถาม ไทยไม่ทำตามพันธกรณีได้หรือไม่

คำตอบ กรณีที่ไทยไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา ประเทศสมาชิกอาเซียนอาจเรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีรายการอื่นเป็นการทดแทน โดยจะต้องมีกระบวนการเจรจาหารือเพื่อหาทางออกให้เป็นที่ พอใจแก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถตกลงกันได้ก็อาจต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทต่อไป

14. คำถาม การเจรจาความตกลงว่าด้วยการลงทุน (ACIA) เป็นไปตามบทบัญญัติภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (มาตรา 190) หรือไม่?

คำตอบ กรอบการเจรจาของความตกลง ACIA คือ ปฏิญญาว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอและได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย. 2550 (สมัยพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี)

เมื่อการเจรจาความตกลง ACIA เสร็จสิ้นลง คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบในความตกลง ACIA เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2552 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นางพรทิวา นาคาศัย) ได้ลงนามในความตกลงเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2552 ณ จังหวัดเพชรบุรี

ความตกลง ACIA กำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องยื่นรายการข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุน ดังนั้นความตกลง ACIA ที่ได้ลงนามไปแล้วนั้นจึงมีสถานะเสมือนเป็นกรอบในการจัดทำรายการข้อสงวนการเปิดเสรีการลงทุน

ทั้งนี้ คณะจัดทำร่างรายการข้อสงวนยังอยู่ในระหว่างการจัดทำข้อสงวน จึงยังไม่ได้เสนอรายการข้อสงวนต่อ ครม./รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งนโยบาย/แนวทางในการจัดทำร่างข้อสงวน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้ยึดกฎหมายภายในของไทยเป็นหลักประกอบกับความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มีรองนายก รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นประธานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

15. คำถาม ความตกลง AIA/ ACIA ทำให้ไทยเสียเปรียบ?

คำตอบ ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามความตกลงเหมือนกันทุกประการ สำหรับการเปิดเสรีรายสาขานั้น ความตกลงไม่ได้ระบุให้ต้องมีการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกอาเซียน ดังนั้น หากประเทศสมาชิกมีความ อ่อนไหวหรือไม่พร้อมแข่งขันในสาขาใด ก็มีสิทธิที่จะขอสงวนรายการเหล่านั้นไว้ในรายการข้อสงวนของตนได้

16. คำถาม ต่างชาติที่ไม่ใช่อาเซียน (non-Party) ใช้ประโยชน์จากความตกลง AIA/ ACIA ได้ไหม?

คำตอบ ความตกลง AIA ให้ประโยชน์กับนักลงทุนอาเซียนด้วยกันเท่านั้น แต่ ACIA มีขอบเขตที่กว้างขึ้น โดยขยายให้นักลงทุนต่างชาติที่ไม่ใช่อาเซียนด้วย แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขว่าจะต้อง “ประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ” ในอาเซียนอยู่แล้ว โดยแต่ละประเทศสามารถกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคำว่า “นัยสำคัญ” ที่เหมาะสมสำหรับประเทศนั้นๆ ได้

อย่างไรก็ดี ไทยได้ระบุไว้ในข้อสงวนไม่ให้ต่างชาติที่ไม่ใช่อาเซียนมาสวมสิทธิอาเซียนเพื่อเรียกร้องประโยชน์ของความตกลง ACIA จากไทย

17. คำถาม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ตัดสินใจที่จะเปิดเสรีใช่ไหม?

คำตอบ กรมเจรจาฯ เป็นเพียงตัวแทนของประเทศเข้าร่วมการเจรจาความตกลงต่างๆ โดยก่อนจะไปเจรจาจะต้องขอรับนโยบายจาก กนศ. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน/ประชาชนประกอบการจัดทำท่าทีไทย และเมื่อการเจรจาสิ้นสุดลงก็จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเห็นชอบก่อนที่จะสามารถมีการลงนามผูกพันความตกลงได้

18. คำถาม หน่วยงานใดรับผิดชอบการเจรจาเปิดเสรีด้านการลงทุนของไทย?

คำตอบ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 3/2550 ได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ร่วมกันเจรจาจัดทำความตกลงฯ โดย ให้อธิบดี กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจา

กนศ. ครั้งที่ 2/2552 มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำรายการข้อสงวนเปิดเสรีการลงทุนของไทย และมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เช่น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (กรมอาเซียน กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ) ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมประมง กรมป่าไม้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

แท็ก Investment   อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ