ผล FTA เกาหลี-อียูต่อไทย อาจใช้เป็นมาตรฐานในการเจรจากับคู่ค้าอื่น

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2010 15:21 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลง FTA ระหว่างอียูและเกาหลีอาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการค้าไทย-อียู ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ไปจนถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และแรงงานที่อียูให้ความสำคัญและผลักดันให้รวมประเด็นด้านสังคมเหล่านี้ไว้ ในความตกลง FTA กับประเทศคู่เจรจา โดยมีสภายุโรปเป็นแรงผลักดันสำคัญ ให้ใช้เกาหลีเป็น benchmark ในการเจรจากับคู่ค้าอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดแวดล้อม แรงงาน และสังคม ไว้ใน FTA ซึ่งก็รวมถึงไทยด้วย

การเจรจา FTA อียูและเกาหลีได้สิ้นสุดหลังจากเจรจามาเป็นระยะเวลา 2 ปี และได้มีการลงนามย่อไปเมื่อเดือน ตค. 2552 ต่อไปเป็นกระบวนการภายในของทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายอียูยังต้องได้รับการลงมติเห็นชอบจากคณะมนตรียุโรป และสภายุโรปด้วย และฝ่ายเกาหลีต้องได้มติเห็นชอบจากสภาเกาหลีด้วย คาดว่าความตกลง FTA จะถูกนำมาปรับใช้ประมาณช่วงประมาณครึ่งหลังของปี 2553

อียูและเกาหลีมองว่า FTA ฉบับนี้ถือเป็นการย้ำบทบาทของอียูในภูมิภาคเอเชีย ย้ำความสำเร็จของการเจรจา modern FTA หรือที่อียูเรียกว่า FTA สำหรับศตวรรตที่ 21 กล่าวคือเป็น FTA แบบสมบูรณ์แบบ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าและการบริการ และรวมทั้งเรื่องมาตรการด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี และที่แน่นอนเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าและธุรกิจให้แก่ทั้งผู้ส่งออกอียู และเกาหลี เพราะ FTA ฉบับนี้ หมายถึงการลดอัตราภาษีศุลกากร ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม มีทั้งกลุ่มสินค้าที่ FTA จะส่งผลในการลดอัตราภาษีทันทีหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ และประเภทสินค้าที่ต้องมีช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (ระหว่าง 3-5 ปี)

สภายุโรป ที่หลายคนอาจคิดว่าไม่มีบทบาทมากนักในเรื่องการเจรจา FTA และการค้า ก็มีแสดงบทบาทของตนหลักดันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และสังคมให้เป็นส่วนหนึ่งของ FTA ดังกล่าว นาย David Martin สมาชิกสภายุโรป ที่ดูเรื่อง FTA เปิดเผยว่าสภายุโรปพอใจผลของการเจรจา FTA ของอียู-เกาหลี โดยมีประเด็นสำคัญที่สภายุโรปผลักดันรวมอยู่ใน FTA ประมาณ 85% จากประเด็นที่สภายุโรปเสนอให้คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นตัวแทยอียูไปเจรจา ประเด็นสำคัญที่สภายุโรปผลักดันและประสบความสำเร็จด้วย อาทิ

  • การเปิดตลาดสำหรับสินค้าเกษตรของสหภาพยุโรปสู่ตลาดเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับสินค้าปศุสัตว์ ประเภทเนื้อหมูของอียูสู่ตลาดเกาหลี
  • การลดภาษีสำหรับสินค้าเด่นของยุโรปหลายรายการ อาทิ วิสกี้และไวน์จากยุโรป
  • ภาคบริการ อาทิ การบริการด้านการเงิน การธนาคาร บริการด้านกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นสาขาที่อียูมีขีดความสามารถในการแข่งขันและภาคบริการอียู ต้องการเข้าตลาดเกาหลี โดนความตกลง FTA จะมีมาตรการ

เพื่อยกเลิกมาตรการกีดกันไปหลายประเด็น

  • ที่สำคัญ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและแรงงาน ที่รวมอยู่ในตัวบทเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Chapter สภายุโรปแจ้งว่าอันที่จริงข้อเรียกร้องของสภายุโรปสูงกว่านั้น แต่ประเด็นที่ตกลงได้กับเกาหลีก็ถือว่าน่าพอใจ

ประเด็นด้านแรงงาน เป็นประเด็นที่สภายุโรป รวมทั้งภาคประชาสังคมและ NGOs ยุโรปคอยจับตาอยู่อย่างใกล้ชิด อาทิ European Trade Union Confederation (ETUC) โดยเฉพาะการให้สัตยาบันมาตรฐานแรงงานหลัก (core standards) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และการปรับใช้มาตรฐานด้านแรงงานของเกาหลี ในระหว่างการเจรจา FTA ฉบับนี้ เกาหลีได้ให้สัตยาบันมาตรฐานแรงงานหลักของ ILO เพิ่มเติมไปแล้วหลากฉบับ แต่ยังมีอีกหลายฉบับสำคัญที่ยังไม่ได้ลงนาม ในส่วนของไทย ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน 3 ฉบับหลัก ซึ่งเกี่ยวกับการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ

สำหรับด้าน สิ่งแวดล้อม นาย David Matin สมาชิกสภายุโรป ต้องการเห็นความตกลง FTA กับเกาหลีเป็น benchmark สำหรับมาตรฐานและความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการเจรจาระหว่างอียูกับ คู่เจรจาอื่นๆ ด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนที่เป็นที่จับตาและเป็นเหตุให้การเจรจา FTA ต้องล่าช้าออกไปในช่วงต้นปี 2552 เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรปล็อบบี้รุนแรงและเรียกร้องว่าตนเสียผล ประโยชน์จาก FTA อียู-เกาหลีฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะการลดภาษียานยนต์ให้เกาหลีทำให้รถยนต์เกาหลีจะมาตีตลาดรถยนต์ยุโรป โดยเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กของเกาหลีคงจะเข้ามาตีตลาดยุโรป ด้วยราคาที่ถูกลง สมาคมผู้ผลิตยานยนต์ยุโรป (The European carmakers' association) ไม่พอใจกับความตกลง FTA ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง duty draw back หรือที่ผู้ผลิตรถยนต์ในเกาหลีจะสามารถขอคืนภาษีนำเข้าสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ที่นำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ที่ห่วงกังวลคือชิ้นส่วนราคาถูกจากจีน แล้วยังจะได้รับการยกเลิกภาษีสำหรับตลาดอียูอีก ปกติอัตราภาษีนำเข้า รถยนต์มายังอียูอยู่ที่ 10% แต่เมื่อความตกลง FTA อียูเกาหลีมีผลบังคับใช้ อียูจะค่อยๆ ลดภาษีในอัตราที่เท่าๆ กันทุกปี และยกเลิกหมดภายใน 3 ปี หรือประมาณปี 2556

ฝ่ายเกาหลีแจ้งว่า อันที่จริงจากการส่งออกรถยนต์เกาหลีมายังอียูอยู่ที่ประมาณ 300,000 คันต่อปี แต่เป็นรถยนต์ที่ผลิตในเกาหลีเพียงประมาณ 100,000 คัน โดยที่เหลือเป็นรถเกาหลีที่ประกอบในยุโรป อาทิ ยุโรปตะวันออก

ส่วน ญี่ปุ่นดูจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์ในเกมการเจรจา FTA อียู-เกาหลีครั้งนี้ เนื่องจากเกรงว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นจะต้องสูญเสียขีดความสามารถในการ แข่งขันของรถยนต์ญี่ปุ่นในตลาดยุโรป โดยเฉพาะด้านราคาเนื่องจากเกาหลีจะได้รับอัตราภาษีที่ต่ำกว่า นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ญี่ปุ่นจึงมีท่าทีคล้ายๆ จะถามอียูว่าสนใจจะทำ FTA กับตนและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อีกไหม นอกจากคานาดา อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์และทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับ การผลิตยานยนต์ญี่ปุ่น ต้องจับตาผลกระทบของความตกลง FTA อียูเกาหลีให้ดี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ