พาณิชย์ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยหลังบรรลุผล AFTA

ข่าวทั่วไป Tuesday January 12, 2010 15:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

พาณิชย์ย้ำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ภาษีสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) เป็น 0% คาดส่งผลให้การค้าไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 25% ต่อปี แนะผู้ประกอบการเร่งใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบขยายโอกาสทางการค้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 อาเซียนได้บรรลุผลการเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนฯ สิงคโปร์) ได้ลดเป็น 0% หมดทุกรายการ สำหรับสมาชิกอาเซียนใหม่ 4 ประเทศ (CLMV) ภาษีสินค้าทั้งหมดอยู่ที่ 0-5 % หมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และจะลดเป็น 0% ทั้งหมดในปี 2558 สำหรับการลดภาษีสินค้าในปี 2553 อาเซียนได้ประกาศลดภาษีเป็น 0% เพิ่มเติมจำนวน 1,657 รายการ หรือประมาณ 20% ของจำนวนรายการสินค้าที่จะนำมาลดภาษีทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยและอาเซียนได้ลดภาษีสินค้าจำนวน 80% ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนเป็น 0% ไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 หรือคิดเป็นจำนวน 7,657 รายการ

“ การบรรลุผลของการเปิดเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน จะส่งผลดีต่อการค้าของไทยกับอาเซียนที่จะขยายตัวมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ย 20% จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 25% ต่อปี นอกจากนี้อาเซียนยังเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรถึงกว่า 580 ล้านคน นับเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ/ผู้ประกอบการไทยควรเร่งการใช้สิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น ทั้งในด้านการส่งออก ซึ่งไทยจะสามารถส่งออกสินค้าที่ได้แหล่งกำเนิดสินค้าของไทยไปยังตลาดอาเซียน ด้วยอัตราภาษี 0% สร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ด้านการนำเข้า จะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้วัตถุดิบมากขึ้น สามารถเลือกหาแหล่งนำเข้าจากประเทศที่มีศักยภาพในอาเซียน ด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่ต่ำ นำมาผลิตและส่งออกต่อไป ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย” นายอลงกรณ์กล่าว

ทั้งนี้ สินค้าของไทยที่มีศักยภาพในตลาดอาเซียนมีหลายกลุ่ม คือ สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว ที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศสมาชิกอื่น เช่น อินโดนีเซียผูกพันภาษีข้าวใน WTO สูงถึง 160% แต่ในอาเซียน 25% น้ำตาลที่ตลาดหลักของไทย คืออินโดนีเซีย จะลดภาษีภายใต้ AFTA เหลือ 5-10% ในปี 2558 เป็นต้น สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยางพาราแท่ง/ยางแผ่นรมควัน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ อาหารสำเร็จรูป (อาหารกระป๋อง)

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาขาที่ยังมีความกังวลกันอยู่ โดยเฉพาะสาขาเกษตร ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวยาวนานกว่าด้านอุตสาหกรรม ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการกำหนดหลายมาตรการเพื่อเตรียมพร้อม ได้แก่ การบริหารการนำเข้า จัดตั้งระบบติดตาม ตรวจสอบการนำเข้า กำหนดการใช้มาตรการด้านคุณภาพต่างๆ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ด้านสุขอนามัย ด้านมาตรฐาน ความเข้มงวดด้านการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า นอกจากนี้หากเกิดการทะลักสามารถใช้มาตรการปกป้อง (safeguard measure) โดยการขึ้นภาษีหรือกำหนดปริมาณการนำเข้าได้ ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยินดีให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม โดยสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับความตกลง สาระสำคัญและข้อผูกพันของไทยได้ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ call center 02-507-7555 อีกทั้งสามารถสอบถามการใช้สิทธิประโยชน์ มาตรการรองรับและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัว ได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ สายด่วน 1385

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ