เมื่อพูดถึงเรื่องภาษีอาฟตาในหมวดยานยนต์ ส่วนใหญ่จะโฟกัสไปเรื่องรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูป (CBU) เท่านั้น แต่ในความจริงยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับโรงงานประกอบและอะไหล่ทดแทน ในวันที่ 1 ม.ค. 2553 กลุ่มสมาชิกอาเซียนพร้อมใจลดภาษีนำเข้าสินค้าตามกรอบอาฟตาในสินค้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) เหลือ 0% จากปัจจุบันที่จัดเก็บ 5%
รถนำเข้า 11 ยี่ห้อใช้สิทธิอาฟตา
ปัจจุบันมีรถยนต์ที่นำเข้าผ่านสิทธิภาษีอาฟตา จำนวน 11 ยี่ห้อ ได้แก่ เปอโยต์ โตโยต้า (อวันซ่า อินโนว่า) โปรตอน (ทุกรุ่น-มาเลเซีย) ฟอร์ด (โฟกัส-ฟิลิปปินส์) มาสด้า (มาสด้า 3-ฟิลิปปินส์) ฮอนด้า(ฟรีด-อินโดนีเซีย) นาซา (ทุกรุ่น ซูซูกิ-สวิฟท์) นิสสัน (เอ็กซ์เทรล) เกีย (ปิคันโต) วอลโว่ อย่างไรก็ตาม รถแต่ละรุ่นที่นำเข้ามาจำหน่าย ส่วนใหญ่ไม่ใช่ตลาดหลัก และมีปริมาณการขายน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดของอุตสาหกรรม 5-6 แสนคันต่อปี เรียกว่า รถจากอาฟตา ไม่ได้เป็นตลาดหลัก และการพัฒนารถรุ่นใหม่ ในอนาคตก็ยังไม่ใช่รถที่จะมีอิทธิพลต่อตลาดไทยอยู่ดี
โดยที่การลดภาษีเหลือ 0% อาจจะมีผลต่อต้นทุน แต่ราคาขายปลีกจะปรับลดลงหรือไม่ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่แรงจูงใจ เพราะภาระภาษีอยู่ในระดับพันบาทเท่านั้น สำหรับรถยนต์ที่ระดับราคา 5 แสนบาท เมื่อเทียบกับความต้องการรถแล้ว จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าเปรียบเทียบราคารถรุ่นใหม่ มีการตั้งราคาขายปลีกไม่สูงมาก อาทิเช่น รถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ยี่ห้อโปรตอน รุ่นเอ็กซ์โซรา จากมาเลเซีย ที่เพิ่งเปิดตัวไปในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 26 ปลายปี 2552 งานราคาช่วงแนะนำเริ่มต้น 6.99 แสนบาท (ล่าสุดปรับเป็น 7.19 แสนบาท)
แม้หลังวันปีใหม่ กำแพงภาษีอาฟตาไม่มีแล้ว แต่รถยนต์ก็ไม่ลดราคาลง ผู้นำเข้าอ้างว่าตั้งราคารวมต้นทุน และส่วนต่างที่ลดลงไว้ก่อนแล้ว หากพิจารณาภาระภาษีของรถยนต์ 1 คัน ระดับราคา 4.99 แสนบาท เป็นภาษี 9.48 หมื่นบาท ภาระภาษีลดลงเพียงเล็กน้อย จึงไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงในตลาด
ภาคผลิตรถไทยได้เปรียบ
มองกลับกัน ผลดีของภาษี 0% ไทยได้เปรียบแน่นอน เพราะเป็นประเทศที่ส่งออกรถยนต์จำนวนมากไปยังประเทศสมาชิกอาฟตา โดยเฉพาะรถยนต์ปิกอัพ และรถยนต์นั่งระดับกลาง-ระดับบน อีกทั้งรถที่ส่งจากเมืองไทยไปจำหน่าย ถูกยกย่องว่ามีคุณภาพการประกอบดีที่สุดในภูมิภาค ได้รับการยอมรับในระดับโลก และในอนาคตอันใกล้ ไทยจะมีโปรดักท์แชมเปียนส์ ที่สองต่อจากปิกอัพ คือ รถอีโค คาร์ รถเก๋ง ขนาดเล็กตามเทรนด์ของตลาดโลก และมีจุดเด่นในเรื่องความประหยัดน้ำมันและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กำแพงภาษีรถยนต์ในอาเซียนเปิดกว้าง จะสร้างประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมไทย
มาเลเซียอุปสรรครวมตลาด
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือ และเปิดรับกติกาทุกข้อแบบไม่มีลูกเล่นใดๆ จนหลายครั้งภาคเอกชนต้องออกมาแสดงความวิตกว่ารัฐบาลได้ปกป้องผลประโยชน์ของชาติอย่างเต็มที่หรือไม่ แต่ด้วยความที่เป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน จึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในเวทีสากล แต่สำหรับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ยังปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ จนรถเพื่อนบ้านหรือแม้แต่ค่ายรถที่มีโรงงานในมาเลเซียหลายยี่ห้อ ไม่สามารถแข่งขันกับรถยนต์แห่งชาติอย่างโปรตอนได้
ที่ผ่านมา มาเลเซียไม่ยอมลดภาษีรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปให้เหลือ 5% โดยอ้างนโยบายรถยนต์แห่งชาติ จนเมื่อปี 2549 จึงยอมปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 5% จาก 40% และเรียกร้องต่อประเทศสมาชิกอาเซียน ว่า มาเลเซียควรต้องได้รับการลดภาษีจากประเทศสมาชิกอาเซียนเช่นกัน นโยบายรถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย กำหนดมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศ อาทิเช่น การสนับสนุนเงินทุนผ่านทาง Industrial Adjustment Fund ให้กับบริษัทรถยนต์แห่งชาติ การคืนภาษี 50% ให้กับผู้ผลิต ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในมาเลเซียได้เปรียบด้านต้นทุนภาระภาษี หรือการห้ามมิให้บริษัทที่มีใบอนุญาตผลิตรถยนต์ยี่ห้อใหม่
มาตรการที่ส่งผลกระทบมากที่สุด คือ การจำกัดการนำเข้าสินค้ารถยนต์จากต่างประเทศ โดยผู้ต้องการนำเข้ารถยนต์ทั้งส่วนบุคคล และนิติบุคคล จะต้องขอใบอนุญาตนำเข้ารถยนต์ ซึ่งกระบวนการได้มาซึ่งใบอนุญาตจะต้องมีการจ่ายเงินนอกระบบ เฉลี่ย 3 แสนบาทต่อการนำเข้ารถยนต์ 1 คัน ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตโดยรัฐบาลมาเลเซีย คือ โปรตอน และโปโรดัว มีราคาตั้งแต่ 3.5 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาทเท่านั้น มาตรการนี้ส่งผลกระทบโดยตรงกับไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ของผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ ที่ต้องการขยายตลาดเข้าไปในมาเลเซียด้วย
หากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers) เหล่านี้ยังอยู่ คงยากที่ไทยจะส่งรถไปจำหน่ายในมาเลเซีย ขณะที่มาเลเซียสามารถส่งรถมาขายบ้านเราได้เสรี มากกว่าที่เป็นอยู่ และผู้บริโภคชาวไทยเปิดใจรับแล้วพอสมควร
บีบฐานการผลิตต้องปรับตัว
นอกจากการรวมตลาดเป็นหนึ่งเดียวแล้ว สิ่งที่ตามมาจากการเปิดเสรีครั้งนี้ คือ การรวมกันของฐานการผลิต ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อควรระวัง ข้อดีคือต้นทุนการผลิตของค่ายรถที่มีเครือข่ายฐานการผลิตในอาเซียนจะต่ำลง ด้วยการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยานยนต์กันในงานที่ตนเองถนัด และทำต้นทุนได้ต่ำ ในกรณีนี้ไทยดูจะได้เปรียบ เพราะว่าชิ้นส่วนสำคัญและมีมูลค่าสูงส่วนใหญ่จะผลิตไทย อาทิเช่น เครื่องยนต์ หรือชุดเกียร์ หากเกิดการแลกเปลี่ยน ไทยจะได้ดุลการค้ามาก อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศ แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ไม่มีการลดราคารถยนต์ลงมา ทั้งที่ต้นทุนต่ำลงและต่ำลงมานานแล้ว
ข้อควรระวังและได้กลายเป็นข้อเสียไปแล้วในบางประเทศ คือ การเลือกย้ายฐานการผลิตของค่ายเล็ก อาจจะเลือกปิดฐานการผลิตในประเทศที่ผู้นำตลาดอันดับต้นๆ แข็งแกร่งเกินกว่าจะสอดแทรกทำกำไรได้ แล้วเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นฐานในการผลิตแล้วส่งกลับมาจำหน่าย อาทิเช่น จักรยานยนต์ซูซูกิ ที่แม้จะเป็นอันดับ 3 ในตลาด แต่มีส่วนครองตลาดเพียง 4% จากตลาดรวมระดับ 1.5 ล้านคัน ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 2552 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ซูซูกิ มอเตอร์ โค ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น มีแผนย้ายโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์จากไทยไปอินโดนีเซีย โดยระบุว่า ตลาดขนาดใหญ่กว่า 4 ล้านคันต่อปีของอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในเหตุผลของการย้ายโรงงานครั้งนี้
เพิ่มขีดแข่งขันอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์เอเชียแปซิฟิก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟกเจอริ่ง จำกัด ระบุว่า การที่ภาษีศุลกากรขาเข้าสินค้ายานยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงเหลือ 0% จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้กับทุกประเทศในอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
หากมองจากการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) จะได้ประโยชน์น้อยจากการลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% เพราะในส่วนของไทยที่มีการผลิตรถยนต์มากเป็นอันดับที่ 14 ของโลก หรือโตโยต้า เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนอยู่แล้ว แต่จะได้ประโยชน์มากกว่าจากการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไม่สามารถผลิตได้ในไทย หรือต้นทุนผลิตสูงกว่า อาทิเช่น ชิ้นส่วนพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องยนต์หรือชุดเกียร์ เพราะสามารถส่งออกได้ง่ายขึ้น
การที่ฐานการผลิตรถยนต์และค่ายชิ้นส่วนรายใหญ่ต่างใช้ไทยเป็นโรงงานแม่ ในการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยีระดับสูง มีมูลค่ามาก ทำให้ประเทศไทย "คุ้ม" หรือได้ประโยชน์มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สร้างงานและเพิ่มโอกาสในการส่งรถออกไปขายในประเทศอาเซียนด้วยกัน
http://www.suthichaiyoon.com/WS01_A001_news.php?newsid=18539
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630