ความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีเดือนกุมภาพันธ์ 2553 (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น)

ข่าวทั่วไป Wednesday February 24, 2010 15:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)

ความเป็นมา/การดำเนินการ

ความเป็นมา

  • ในระหว่างการประชุม Boao Forum for Asia ณ มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2002 ผู้นำของไทยและญี่ปุ่นได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพันธมิตรทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Working Group on Japan-Thailand Economic Partnership: JTEP) เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน รวมทั้งการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายสามารถยกร่างรายงานเสนอแนวทางความร่วมมือใน 21 สาขา ในเดือนพฤศจิกายน 2003 ผู้นำของทั้งสองประเทศจึงได้เห็นชอบให้เริ่มการเจรจาหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Closer Economic Partnership: JTEP) อย่างเป็นทางการ ในระหว่างการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2003

กรอบการเจรจา

  • ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน โดยให้มีการเปิดเสรีทั้งด้านสินค้า บริการและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในสาขาต่างๆ

สรุปผลความตกลง

  • ได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2007 โดยนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ และความตกลงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2007 เป็นต้นไป สาระสำคัญของความตกลง JTEPA คือ

1) การเปิดเสรีการค้าสินค้า โดยจะลด/ยกเลิกภาษีมากกว่า 90% ของรายการสินค้าและมูลค่าการนำเข้า และมีมาตรการปกป้องสองฝ่ายในกรณีที่การลด/เลิกภาษีก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ

2) การค้าบริการ ไทยสามารถไปลงทุนเปิดกิจการและทำงานในญี่ปุ่นได้มากขึ้นและง่ายขึ้นในหลายสาขา เช่น บริการด้านดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย บริการสปา บริการโรงแรม บริการร้านอาหาร บริการอู่ซ่อมรถ เป็นต้น รวมทั้งมาตรการปกป้องฉุกเฉินซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา

3) การลงทุน ให้บริษัทไทย/คนไทยเข้าไปลงทุนในทุกสาขา ยกเว้น อุตสาหกรรมผลิตยาอุตสาหกรรมอวกาศและยานอวกาศ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมัน อุตสาหกรรมพลังงานอุตสาหกรรมการกระจายเสียง การทำเหมืองแร่ การประมง การเกษตร ป่าไม้ และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สามารถแก้ไขข้อผูกพันแบบถอยหลังได้ แต่อาจต้องมีการชดเชยหรือปรับข้อผูกพันอื่น เพื่อให้ประโยชน์โดยรวมไม่ลดลง

4) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ใช้หลัก Wholly-Obtained หรือ เกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร หรือ เกณฑ์มูลค่าเพิ่มภายในประเทศ 40% หรือ เกณฑ์กระบวนการผลิต

5) โครงการความร่วมมือในกรอบ JTEPA ทั้ง 7 โครงการ ได้แก่ โครงการความร่วมมือเพื่อสนับสนุนโครงการครัวไทยสู่โลก โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการเศรษฐกิจสร้างมูลค่า โครงการหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน โครงการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โครงการอุตสาหกรรมเหล็ก และโครงการสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์

สถานะล่าสุด

กลไกติดตามผล มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (ดูแลการปฏิบัติตามความตกลงฯ ในภาพรวม และพิจารณาข้อเสนอแก้ไข) คณะอนุกรรมการร่วม (ติดตามผลเฉพาะบท) และคณะอนุกรรมการพิเศษ (ว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร และว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสหกรณ์) โดยกำหนดให้มีการทบทวนทั่วไป (10 ปี) และการทบทวนเฉพาะบท (การค้าสินค้า 10 ปี หรือก่อนหน้านั้นตามที่จะตกลง, การค้าบริการ 3 หรือ 5 ปี, การลงทุน 5 ปี)

การดำเนินการขั้นต่อไป

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อเจรจาในเรื่องต่างๆ ที่กำหนดไว้ในความตกลง เช่น การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การค้าสินค้า กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และการลงทุน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ