นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อาเซียนตลาดเดียว โอกาสการค้า-การลงทุน ธุรกิจไทย” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอคองคอร์ด รัชดา โดยมีท่านผู้บริหารบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ แขกผู้มีเกียรติและเข้าร่วมสัมมนา
ซึ่งได้กล่าวว่า วันนี้ดิฉันรู้สึกยินดี และเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาพิเศษในเรื่อง “อาเซียนตลาดเดียว โอกาสการค้า-การลงทุน ธุรกิจไทย” ที่กล่าวเช่นนี้ก็เนื่องจาก
อาเซียนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทยในปัจจุบัน และกำลังจะกล่าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2015 (หรือ พ.ศ. 2558) คล้ายๆ กับสหภาพยุโรปที่ในช่วงต้นก็มีการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจยุโรป หรือ “EEC” (European Economic Community) ก่อนที่จะมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งและเหนียวแน่น เป็น “สหภาพยุโรป หรือ EU” ในปัจจุบัน
การรับรู้ หรือก้าวให้ทันกับกระแสภูมิภาคที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยให้พวกเราสามารถใช้โอกาสจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ และพร้อมปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยรวมต่อเศรษฐกิจของเรา
การจัดสัมมนาครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเริ่มต้นปีเสือ ซึ่งได้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ที่เริ่มขึ้นในปีนี้ และกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นอาเซียนตลาดเดียว หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจากนี้ไปการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและเอเชียมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงไป
[ความพร้อมของไทยสู่การเป็น AEC]
วันนี้คงไม่ต้องถามแล้วว่า ไทยพร้อมหรือไม่พร้อมกับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมๆ กับอาเซียนอื่น อีก 9 ประเทศ แต่คงต้องเป็นการยืนยันว่า ไทยพร้อมอย่างแน่นอนที่จะก้าวไปสู่การรวมกลุ่มของอาเซียนในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้น
[เหตุผลที่ไทยต้องเข้าร่วมการรวมกลุ่มกับอาเซียน]
ทำไมดิฉันถึงกล่าวเช่นนี้ เหตุผลสำคัญ คือ
ประการแรก ประเทศไทยเราดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด เราพึ่งพาการส่งออกไปต่างประเทศเป็นลำดับหนึ่ง สินค้าและบริการที่เราส่งออกไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 72.3 ของ GDP ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงมากทีเดียวเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศเรา
ประการที่สอง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในทวีปอเมริกาเหนือ ที่มี นาฟต้า (NAFTA) ทวีปอเมริกาใต้ มีกลุ่มเมอร์โคซูร์ (MERCOSUR: อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย) ทวีปแอฟริกาใต้ มี สาคู (SACU: Southern African Customs Union) และกลุ่มทวีปที่มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่มีความคืบหน้ามากที่สุดอย่างเช่นสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกถึง 27 ประเทศแล้ว (โดยเพิ่งรับสมาชิกใหม่ 2 ประเทศ คือ โรมาเนีย และบัลแกเรีย เป็นสมาชิกใหม่เมื่อต้นปี 2550) และใกล้เข้ามาในภูมิภาคของเราอีกหน่อยอย่างเช่น การรวมกลุ่มของประเทศในตะวันออกกลาง หรือ จีซีซี (GCC: Gulf Cooperation Council) และในเอเชียใต้ก็มีกลุ่ม บิมสเทค (BIMSTEC: Bay of Bengal Initiative for Multi Sectoral Technical and Economic Cooperation) มีสมาชิก 7 ประเทศ ด้วยประชากรรวมกันกว่า 1,300 ล้านคน นอกจากนี้ ในแถบแปซิฟิก ก็ยังมีการรวมกลุ่มของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ CER (Closer Economic Relation)
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ซึ่งจากข้อมูลขององค์การการค้าโลก ระบุว่า ปัจจุบันการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ได้มาแจ้งกับ WTO มีจำนวนสูงถึง 420 กลุ่ม นี่ยังไม่ได้นับรวมถึงในส่วนที่มีการจัดทำและไม่ได้มาแจ้งกับ WTO ไว้ ซึ่งมีการประเมินไว้ว่า น่าจะสูงถึง 400 กลุ่มเลยทีเดียว จึงนับเป็นความจำเป็นของอาเซียนที่จะต้องเร่งรัดการรวมตัวทางเศรษฐกิจให้ก้าวทันกับกระแสเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ บทบาทของประเทศจีนและอินเดีย ที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ หากอาเซียนไม่เร่งรัดการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียตลาดทั้งด้านการค้า และการลงทุนให้กับทั้งสองประเทศนี้ ซึ่งไทยเราเองในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน คงหลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานรวมกลุ่มของอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของเรา
การหยุดนิ่ง หรืออยู่เฉยท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เท่ากับการถอยหลัง ในขณะที่ทุกประเทศเขาก้าวเดินไปข้างหน้า หากเรามัวแต่ชักช้า ชะลอ หรือลังเล ก็เท่ากับเป็นการถอยหลัง และปล่อยโอกาสที่จะไปช่วงชิง และปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของเรา
ในวันนี้ จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องประกาศความพร้อมของเราในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสและภูมิคุ้มกันให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศของเรา และไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากการรวมกลุ่มของอาเซียน ประชาชนที่เป็นผู้บริโภคอย่างพวกเราทุกคนก็ยังจะได้ประโยชน์จากการเลือกซื้อ เลือกใช้ เลือกบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ด้วยคุณภาพและราคาที่เหมาะสม จากการแข่งขันตามกลไกตลาด
ไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมในหลายด้าน และมีโอกาสอย่างสูงในการรวมกลุ่มของอาเซียน
1. ความพร้อมในด้านที่ตั้งที่จัดว่าเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียน
1.1) สามารถเชื่อมโยงได้กับประเทศเพื่อบ้านทั้งทิศเหนือ-ใต้-ตะวันออก-ตะวันตก
1.2) ความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ท่าเรือ ถนนหนทางที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผ่านกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ เช่น GMS, ACMECS, IMT-GT
2. ความพร้อมในทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างการผลิตภายใน
2.1) ภาคเกษตร เราจัดเป็นประเทศเกษตรกรรมชั้นนำ ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอีกหลายรายการ ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก
2.2) ภาคอุตสาหกรรม เราเป็นฐานการผลิตของหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
2.3) ภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 40% ของ GDP หลายสาขาบริการที่ไทยเรามีศักยภาพจำเป็นจะต้องส่งเสริมและให้มีการออกไปลงทุนภายนอกประเทศให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจสปา ธุรกิจก่อสร้าง สาขาสุขภาพ โรงพยาบาล รวมไปถึงบริการด้านซอฟแวร์ ซึ่งไทยเรามีความสามารถไม่แพ้ประเทศใดในอาเซียน
[ความสำคัญของอาเซียน]
ปัจจุบันอาเซียนนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทย นำหน้าตลาดดั้งเดิมอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้วไทยเราส่งออกไปอาเซียนมีมูลค่ากว่า 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการนำเข้าประมาณ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เบ็ดเสร็จเราเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าถึงเกือบ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับอาเซียนในฐานะมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิดกับไทยไม่ว่าจะในด้านสภาพภูมิศาสตร์ ความใกล้เคียงกันในด้านสังคมและวัฒนธรรม รวมไปถึงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
ในด้านการค้าและการลงทุน อาเซียนจัดเป็นตลาดสำคัญและมีศักยภาพ ด้วยประชากรรวมกันกว่า 580 ล้านคน มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ รวมกันกว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งของโลก มี FDI หรือการลงทุนทางตรงที่เข้ามาในภูมิภาคสูงถึง 59,440 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากการปรับปรุงความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน ให้เป็นความตกลงที่น่าดึงดูด และน่าสนใจสำหรับนักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ด้วยการเปิดเสรีที่มีความก้าวหน้า มีความชัดเจนในแง่เงื่อนไข กฎระเบียบ รวมถึงมีมาตรการที่จะให้ความคุ้มครองการลงทุนที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน และดึงดูด FDI ให้เข้ามาสู่ภูมิภาคของเราได้มากขึ้น
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านค่ะ
วันนี้บริบททางการค้าระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เราจำเป็นต้องก้าวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจำเป็นจะต้องหันมาติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการของเราให้มีความรู้ ความสามารถที่จะไปฉกฉวยโอกาสในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ไปแข่งขันกับคู่แข่งของเรา ให้เรามีความได้เปรียบทางการค้า รวมถึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับกลุ่มหรือสาขาที่เรายังไม่มีความพร้อมให้เขาสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจการค้าให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
[นโยบายกระทรวงพาณิชย์ต่ออาเซียน]
กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดนโยบายเรื่อง “ASEAN First Policy” หรือ การให้ความสำคัญกับอาเซียนลำดับแรก เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ในการสร้างพันธมิตรในระดับภูมิภาค สร้างโอกาส และลู่ทางในด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากอาเซียนเป็นมิตรประเทศที่มีความใกล้ชิด และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับไทยมาโดยตลอด
ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “ASEAN Hub” ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาค และอนุภูมิภาค ทั้งทางด้านการค้า การตลาด การลงทุน ในลักษณะที่เกื้อกูลกันให้เกิดเครือข่ายร่วมกัน เพื่อที่จะให้ภูมิภาค ASEAN เป็นฐานการค้าสินค้า/บริการของไทยสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงขยายฐานการผลิตของไทยสู่ตลาดโลก หรือ Thailand’s Production Platform for Global Marketplace โดยมี กลยุทธ์ 3 ด้าน คือ
1) การสร้างพันธมิตรทางการค้า โดยสร้างความร่วมมือระหว่างกันผ่านเวทีเศรษฐกิจต่างๆ
2) ตลาดสำหรับสินค้าไทย โดยขยายเครือข่ายการค้าไทยในภูมิภาค ASEAN ให้มูลค่าเพิ่มขึ้น
3) เสริมสร้างสมรรถนะนักธุรกิจไทย (Capacity Building) โดยช่วยให้ SMEs ไทยทำธุรกิจใน ASEAN ได้มากขึ้น
แต่ลำพังเพียงนโยบายของรัฐบาลอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เราต้องสร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการของเราด้วย ซึ่งมักจะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า เราจะสร้างความพร้อมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร และเราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ คำตอบ คือ คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่อยากจะขอฝากแง่คิดสำคัญไว้ 3 ประการ เพื่อสร้างความพร้อมติดอาวุธและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเรา คือ
[แง่คิดเพื่อเตรียมความพร้อม]
ประการแรก การใฝ่หาความรู้ ติดตามสถานการณ์ ความเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เราสามารถรู้เท่าทันและปรับตัวได้ทันท่วงที รู้ก่อน ปรับตัวได้ก่อน ก็มีความได้เปรียบ รู้ทีหลัง ปรับได้ช้า ก็ย่อมเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบเป็นธรรมดา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมีความรุดหน้าไปมาก น่าจะช่วยให้เราเป็นผู้ที่มีหูตากว้างไกล และทันต่อเหตุการณ์ ประการที่สอง การมีความคิดเชิงสร้างสรรค์ (creative thinking) การคิดให้แตกต่างจากผู้อื่น การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า บริการของเรา ซึ่งจะเป็นจุดขาย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา เราจำเป็นต้องลงทุนในเรื่อง R&D มากขึ้น เราคงไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของเราได้เพียงแค่การรับจ้างผลิตแล้วส่งออก (OEM) หรือเพียงแค่คัดลอก (copy) แล้วเลียนแบบ ซึ่งไม่ใช่เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เราต้องหันมาคิดค้น และสร้างตราสินค้าของเรา ใช้ภูมิปัญญาของเรา ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่ขณะนี้ เป็นเรื่องใกล้ตัว และเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญ ทั้งในเชิงส่งเสริมให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และการให้ความคุ้มครองในสิทธิทรัพย์สินทางปัญญานั้น การดำเนินงานในเรื่องนี้ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากในช่วงแรก แต่หากสามารถทำได้ประสบผลสำเร็จแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
ประการที่สาม การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ หรือ ระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เรามีเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง และสามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ ที่กว้างขวางมากขึ้นด้วย และหากเป็นไปได้ อาจจำเป็นต้องมองหาลู่ทางในการออกไปลงทุนในตลาดภายนอก ซึ่งอาจทำในลักษณะ Joint Venture เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ได้โดยตรง และใช้จุดแข็งของประเทศคู่ค้าของเราให้เกิดประโยชน์ การทำธุรกิจในวันนี้คงไม่สามารถอยู่ได้โดยลำพังเพียงคนเดียว จำเป็นต้องมีการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน หรืออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้สามารถมีการพัฒนาร่วมกันไปได้ทั้งระบบ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมในเชิง cluster ต่างๆ เพื่อให้เราสามารถสร้างจุดแข็งในอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านค่ะ อนาคตของอาเซียนต่อจากนี้นับว่ามีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับพวกเรามากทีเดียว การที่อาเซียนจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศสมาชิกทุกประเทศเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันเป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน
[ประโยชน์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียน]
มีผลการศึกษาระบุว่า การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพื่อเป็นตลาดเดียว/ฐานผลิตเดียว จะทำให้รายได้ที่แท้จริงของอาเซียนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5.3 หรือคิดเป็นมูลค่า 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 6 เท่าเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับจากการบรรลุเป้าหมายของ AFTA โดยสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกันจาก AEC นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมการดึงดูด FDI และเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (rise in per capita GDP) รวมถึงช่วยลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก
ผลการศึกษานี้น่าจะเป็นสิ่งยืนยันสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้เรามั่นใจว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวม และยังจะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ที่สำคัญ คือ
ต่อผู้ผลิต
โดยผู้ผลิตสามารถนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลง และลดต้นทุนการผลิต รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จาก Supply Chain ในอาเซียน เช่น การใช้วัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากประเทศอาเซียนอื่นๆ หรือ อาจโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ หรือเลือกใช้ปัจจัยการผลิตที่มีความได้เปรียบสูงสุดจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ เช่น
กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม มีจุดเด่นในด้านทรัพยากรธรรมชาติ วัตถุดิบ และแรงงาน
สิงคโปร์ มาเลเซีย มีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นฐานการผลิต เป็นต้น
ต่อเกษตรกร
สามารถส่งสินค้าเกษตรออกไปขายได้มากขึ้น เนื่องจากภาษีสินค้าเกษตรเป็น 0 และสามารถขยายตลาดสินค้าเกษตรไปยังประเทศนอกกลุ่มได้ เนื่องจากอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้น
ต่อผู้ส่งออก-นำเข้า
จะทำให้มีตลาดสินค้าที่ใหญ่มากขึ้น ไม่จำกัดอยู่ตลาดในประเทศ 60 ล้านคน แต่จะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึง 580 ล้านคนรวมถึงขยายโอกาสการส่งออกและเพิ่มโอกาสทางการค้า เมื่ออุปสรรคด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีระหว่างอาเซียนถูกยกเลิกไป จะเปิดโอกาสให้สินค้าเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จากภาษีนำเข้าของประเทศคู่เจรจาที่ลดลง ทำให้ไทยจะมีโอกาสที่ขยายการส่งออกไปยังอาเซียนได้มากขึ้น และยังเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคใกล้เคียงด้วย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
ต่อผู้บริโภค
ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง เลือกซื้อสินค้าได้หลากหลายมากขึ้น และยังได้รับความคุ้มครอง จากข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันของอาเซียน
[ความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน]
จากที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประโยชน์ที่เราคิดว่าจะเกิดขึ้นต่อภาคส่วนต่างๆ ภายในประเทศของเรา ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นที่พวกเราจะต้องช่วยกันสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ได้รับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์และโอกาสทางการค้าที่จะเกิดขึ้น
แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน คือ “ประชาชนไทยยังไม่ได้มีความรู้สึกถึงความเป็นพลเมืองอาเซียนมากนัก”
ประชาชนเห็นว่าอาเซียนเป็นเรื่องที่ไกลตัว เป็นเรื่องของหน่วยงานภาครัฐ
ประชาชนยังไม่รู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์โดยตรงจากความร่วมมือของอาเซียน
ประชาชนยังไม่รับรู้ถึงพัฒนาการที่สำคัญของอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้ของกฎบัตรอาเซียนหรือการจัดตั้งประชาคมอาเซียน หรือแม้แต่ความตกลงด้านเศรษฐกิจที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการประกอบธุรกิจของตน อันที่จริงแล้วอาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวไม่ว่าจะเป็นทางตรง หรือทางอ้อม
สินค้าที่เราอุปโภค/บริโภคหลายๆ รายการมาจากประเทศสมาชิกอาเซียน
โครงการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ (การเงิน การคลัง) การศึกษา พลังงาน สาธารณสุข การท่องเที่ยว ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มของอาเซียน และนำมาซึ่งสวัสดิการที่ดีของพลเมืองอาเซียนเอง
กระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน จึงมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องในหลายรูปแบบ ทั้งในรูปแบบของการสัมมนา การฝึกอบรม การจัดทำบทความ เผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ ไม่ว่า จะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ และยังคงจะต้องดำเนินการต่อไป เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นในวงกว้าง ให้ประชาชนของเราได้รู้เท่ากันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการสัมนนาในวันนี้ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของเราที่จะเตรียมความ พร้อมให้กับทุกท่าน เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ในภูมิภาคของเรา
[การเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาค GMS ผ่านระเบียงเศรษฐกิจ]
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านค่ะ เมื่อพูดถึงสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง ก็ทำให้นึกถึงเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาคที่จะมีความทั่วถึงรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องเส้นทางคมนาคมขนส่งที่จะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถทำการติดต่อขนส่ง ไปมาหาสู่ระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS: Greater Mekong Subregion ที่มีการพัฒนาเส้นทาง หรือระเบียงเศรษฐกิจในหลายแนว ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการท่องเที่ยว โดยเส้นทางที่สำคัญ ได้แก่
1) ระเบียงเศรษฐกิจในแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor : NSEC ) ซึ่งเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ไทย พม่า และจีนตอนใต้ เป็นเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก-เชียงตุง-เมืองลา-เขตสิบสองปันนา-นครคุนหมิง มีระยะทาง 1,800 กิโลเมตร โดยเส้นทางนี้เป็นประตูการค้าที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงใช้เพื่อเข้าสู่ตลาดจีน 2) ระเบียงเศรษฐกิจในแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) ซึ่งเชื่อมโยงเศรษฐกิจของ 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย ลาว และเวียดนาม มีระยะทาง 1,450 กิโลเมตร ซึ่งทำให้ช่วยร่นระยะทางการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกได้ถึง 14 วัน โดยเส้นทางนี้มีเมืองเมียวดี ท่าเรือน้ำลึกทวาย และเมืองเมาะลำไย ของพม่าที่เป็นประตูการค้าเชื่อมการขนส่งของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงออกสู่มหาสมุทรอินเดียและตลาดโลก 3) ระเบียงเศรษฐกิจแนวใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ซึ่งเชื่อมโยงเศรษฐกิจของ 4 ประเทศ ได้แก่ พม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีระยะทางประมาณ 1,000 กิโลเมตร เส้นทางนี้ได้เชื่อมเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจหลักของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คือ นครโฮจิมินห์ของเวียดนาม กรุงพนมเปญของกัมพูชา และกรุงเทพฯของประเทศไทยกับท่าเรือน้ำลึกทวาย เมืองเมาะลำไยของพม่าเพื่อออกสู่มหาสมุทรอินเดีย
แม้ว่าปัจจุบันเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 3 เส้นทางข้างต้น ยังไม่ได้เปิดใช้อย่างเต็มที่ แต่ดิฉันมั่นใจว่า ท่านผู้เกียรติทั้งหลาย สามารถมองเห็นถึงศักยภาพของเส้นทางเหล่านี้ ว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเฉพาะไทย ซึ่งถือว่า มีที่ตั้งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในภูมิภาคนี้ ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้อย่างทั่งถึง และขยายโอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนของเรา
[อนาคตการขยาย FTA ของอาเซียน]
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านค่ะ ถ้าหากอาเซียนสามารถก้าวไปสู่เป้าหมาย AEC ได้ อาเซียนจะเป็นตลาดที่มีประชากรมากกว่า 580 ล้านคน และมี GDP มากกว่า 1,275 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงจะเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน
นอกจากนี้ ปัจจุบันอาเซียนยังได้จัดทำ FTA กับประเทศคู่เจรจาในกรอบอาเซียน + 1 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แล้วเสร็จ ในอนาคต ซึ่งคงไม่ไกลจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะหันมาจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างกัน ไม่ว่าจะในกรอบอาเซียน+3 ที่มีสมาชิก คือ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ [มีประชากร รวมกันกว่า 2,060 ล้านคน (31% ของประชากรโลก) GDP 9,900 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (18% ของ GDP โลก)] หรือ ในกรอบอาเซียน +6 ที่มีสมาชิกเพิ่มมาจากกรอบ +3 อีก 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย [มีประชากร รวมกันกว่า 3,280 ล้านคน (50% ของประชากรโลก) GDP 12,250 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (22% ของ GDP โลก)] ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ท้าทาย และหากเราไม่มีการเตรียมความพร้อมกันแต่เนิ่นๆ โอกาสที่คาดคิดว่าเราจะได้จากการรวมกลุ่มดังกล่าว ก็อาจกลายเป็นผลกระทบที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น
[การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการไทย]
การจัดตั้ง AEC ถือเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของภูมิภาคอาเซียน และเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากอาเซียนจะได้ประโยชน์จากการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันแล้ว ยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าในเวทีการค้าโลกอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น การรวมกลุ่มเป็น AEC จะเป็นผลดีต่อไทยแน่นอน เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด ประกอบกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเอื้ออำนวยให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และที่ผ่านมาอาเซียนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทยทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่จะทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ในวันนี้ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาและเรียนรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและของภูมิภาคที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับและปรับตัวได้อย่างเหมาะสม สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าบริการ หรือการลงทุน ซึ่งคงไม่สามารถหยุดอยู่นิ่งได้ ต้องศึกษาลู่ทาง โอกาส และผลกระทบ รวมถึงเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวจากกฎเกณฑ์ หรือกติกาทางการค้าที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
หากเราสามารถปรับตัวได้ก่อน เรียนรู้ที่จะใช้โอกาสจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับเรา ในทางกลับกัน หากเรายังไม่ทราบ หรือไม่รู้ และไม่พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเราอย่างหลีกหนีไม่พ้น
ในวันนี้ ดิฉันจึงขอเสนอแนวทางในการเตรียมความพร้อม ดังนี้
ในเชิงรุก
ศึกษาเสาะหาแหล่งวัตถุดิบใน AEC เพราะเราสามารถนำเข้าวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากแหล่งผลิตใน AEC ที่มีความได้เปรียบด้าน ราคาและคุณภาพ
ศึกษารสนิยมความต้องการใน AEC เพื่อที่จะผลิตตรงตามความต้องการของตลาดที่ใหญ่ขึ้น และใช้ประโยชน์จาก Economy of Scale หรือการประหยัดต่อขนาดการผลิต
ดูความเป็นไปได้การย้ายฐานผลิต เราสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหมาะเป็นแหล่งผลิตที่เขามีจุดแข็งในส่วนที่เราไม่มี
หันมามอง CLMV โดยวิสัยทัศน์ใหม่ จากการมอง CLMV เป็นเพียงตลาด แต่ควรพิจารณาว่าจะสามารถใช้ CLMV เป็นฐานการส่งออกไปนอก AEC ได้หรือไม่ เพื่อใช้ประโยชน์จากสถานะ Least Developed Countries (LDCs) ที่ได้รับสิทธิพิเศษในตลาด เช่น สหภาพยุโรป
พัฒนาและปรับระบบต่างๆ ของบริษัทเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากโลจิสติกส์ได้เต็มที่ เนื่องจากการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาคจะทำให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ถูกลงและสะดวกขึ้น
ศึกษา/เสาะหาความเป็นไปได้ในการตั้งธุรกิจและใช้แรงงานจาก AEC เนื่องจากจะตั้งฐานธุรกิจที่ใดก็ได้ในอาเซียน เนื่องจากกฎระเบียบต่างๆ จะผ่อนคลายและเปิดกว้างมากขึ้น และในด้านแรงงานจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อีกทางหนึ่ง
เปิด/เจาะตลาดคู่ค้าของอาเซียน ภายใต้ FTA ที่อาเซียนมีกับประเทศคู่เจรจา ไทยจะมีความได้เปรียบทางภาษีนำเข้ามากกว่าคู่แข่งอื่นนอกอาเซียน
ในเชิงรับ
ต้องเรียนรู้คู่แข่ง เนื่องจากจะเกิดคู่แข่งใหม่จากอาเซียน จึงจำเป็นต้องเรียนรู้คู่แข่งเหล่านั้น
ไม่ละเลยการลดต้นทุน เนื่องจากต้นทุนของคู่แข่งก็อาจต่ำลง จากการผลิตเพื่อสนองตลาดที่ใหญ่ขึ้น ดังนั้น ถ้าผู้ผลิตไทยไม่พยายามเช่นเดียวกันก็อาจจะสู้เขาไม่ได้
เร่งเสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อน เนื่องจากคู่แข่งจะเข้ามาแข่งถึงในเขตแดนเรา เราจะต้องเรียนรู้จุดอ่อนและทราบจุดแข็งของเรา เพื่อที่จะได้ปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
ผูกมัดใจลูกค้าในทุกรูปแบบ เนื่องจากบริษัทที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมรองรับ หรือ เคยผลิตส่งบริษัทแม่ อาจถูกแย่งลูกค้า โดยคู่แข่งในประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้เปรียบกว่าในการเป็นฐานการผลิต จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการผูกมัดใจลูกค้าของเราด้วย
ต้องคิดว่า “ทำอย่างไรให้บุคลากรอยู่กับเรา” เพราะอาจถูกแย่งแรงงานฝีมือ ต้องเรียนรู้วิธีการผูกมัดใจบุคลากรของเราไว้ เพื่อให้เขาอยู่กับเรา ทำงานให้เราอย่างเต็มที่และเต็มใจ
เรียนรู้คู่แข่งทุกคน /วิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อย โอกาสและอุปสรรค (SWOT) จะต้องรู้จักคู่แข่งของเราอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะคู่แข่งภายในประเทศ แต่จะต้องดูคู่แข่งจาก 9 ประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศในกลุ่มบวกสาม (คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และบวกหก (ซึ่งเพิ่มออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ด้วย
[มาตรการรองรับผลกระทบ]
ในส่วนของภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลกระทบให้กับภาคธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมที่อาจจะปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยได้เตรียมแผนงานรองรับผลกระทบในด้านต่างๆ เช่น
การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในสินค้าเกษตร แปรรูป สินค้าอุตสาหกรรม และบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าให้สามารถปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้
มาตรการป้องกันผลกระทบ ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอจัดทำกฎหมายซึ่งได้ผ่านสภานิติบัญญัติออกมาเป็น พรบ. มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น หรือ Safeguard Measure ซึ่งหากการดำเนินการตามแผนงาน AEC ก่อให้เกิดผลกระทบ ก็สามารถนำกฎหมายนี้มาใช้ได้
การจัดตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการตามแผนงานไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ตามคำสั่ง กนศ. ที่ 1/2550 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2550) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงานและเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินงานไปสู่การเป็น AEC โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ถึง 47 หน่วยงาน
สำหรับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญและรับผิดชอบโดยตรงต่อการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ และดิฉันได้กำหนดมาตรการทั้งเชิงรุกและเชิงรับสำหรับการเปิดเสรีอาเซียนและการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้โดยได้มอบหมายให้ทุกกรมฯ ดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นบูรณาการในเรื่องต่างๆ ได้แก่
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของการเจรจาการค้า และได้มอบหมายให้ดำเนินการจัดสัมมนา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องของอาเซียนและ AEC ให้กับภาคเอกชนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมต่างๆ ในการจัดฝึกอบรม ตลอดจน การศึกษาผลดีและผลเสียของการเปิดเสรีอาเซียนในเชิงลึก
กรมการค้าต่างประเทศ สนับสนุนในเรื่องของการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ดูแลในเรื่องมาตรการนำเข้าส่งออก และกองทุน FTA นอกจากนั้น ยังได้มอบหมายให้จัดตั้งศูนย์ AFTA Outline ขึ้น เพื่อตอบคำถามของผู้ประกอบการที่สงสัยในเรื่องของอาเซียนและ AEC ด้วย
กรมการค้าภายใน รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องของกฎหมายการแข่งขัน การควบคุมสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีอาเซียนในครั้งนี้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา รับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ต่างๆ ของไท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมและสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้
กรมส่งเสริมการส่งออก ซึ่งดูแลสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก โดยได้มอบหมายให้คอยติดตามและรายงานสถานการณ์การค้าในประเทศต่างๆ เป็นระยะ โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานให้เป็นไปในเชิงรุกและสอดรับกับนโยบายที่ได้มอบหมายให้ดูแลกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญๆ ภายใต้รูปแบบ Chiefs of Products ตลอดจน การส่งเสริมกิจกรรมการตลาดควบคู่ไปด้วย
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานอย่างเป็นบูรณาการร่วมกันจะส่งเสริมให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีอาเซียนและ AEC อย่างแน่นอน
[สรุป]
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านค่ะ
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดในวันนี้ ขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า
อาเซียนจะกลายเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 (2015)
ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของตลาดและฐานการผลิตร่วมของอาเซียน หรือ Single Market and Production Based
ภาษีนำเข้าจะเป็นศูนย์ ในอาเซียน-6 ณ 1 มค 2553ใน CLMV ณ 1 มค 2558
จะไปทำธุรกิจภาคบริการ หรือไปลงทุนในอาเซียนอื่นๆได้อย่างเสรี
ผลที่จะเกิดขึ้นมีทั้งได้และเสีย ต้องช่วยให้เอกชนปรับตัว ผู้ที่อาจเสียประโยชน์ ต้องช่วยให้เตรียมรับมือ ผู้ที่จะได้ประโยชน์ ต้องกระตุ้นให้รับรู้และหาทางใช้ประโยชน์
เน้นการใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุก มากกว่าวิตกคิดแต่จะรับ
ภาคเอกชนตระหนัก(รู้) แต่อย่า(ตื่น)ตระหนก
ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านคะ
ด้วยมาตรการและแผนงานต่างๆ ดังที่ดิฉันได้กล่าวมาทั้งหมดในวันนี้ ดิฉันจึงมีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยเรามีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะเดินหน้าก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
และดิฉันขอเชิญชวนทุกท่าน และทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการก้าวเดินไปสู่เป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน และร่วมกันเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการใช้ประโยชน์จากโอกาสต่างๆ ที่กำลังจะเปิดกว้างมากขึ้นจากกฎเกณฑ์ กฎระเบียบต่างๆ ที่จะผ่อนคลายลงไปจากการรวมกลุ่มของอาเซียน
ขอให้ร่วมกันเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมภายในของเรา ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที และสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับเราให้ได้
ขอบคุณค่ะ
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630