เอกชนไทยไฟเขียวเปิดเสรีการค้าบริการ อาเซียนหุ้นได้ 70% แนะรัฐฯ ศึกษาผลกระทบ SMEs และจริงใจบังคับใช้กฎหมาย มั่นใจไทยได้มากกว่าเสีย

ข่าวทั่วไป Thursday April 22, 2010 15:28 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาฯ หารือเอกชนไทย มั่นใจขานรับเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียน ให้สิทธินักลงทุนอาเซียนถือหุ้นได้ไม่ต่ำกว่า 70% แต่ติงรัฐบาลศึกษาผลกระทบ SMEs และช่วยเหลือให้เข้มแข็ง รวมถึงจริงจังในการบังคับใช้กฏหมายภายในให้เกิดประสิทธิภาพ

          นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนการค้าบริการอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ    กล่าวว่า กรมเจรจาฯ ได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเป้าหมายการเปิดตลาดการค้าบริการอาเซียนและข้อผูกพันการค้าบริการชุดที่ 8  ซึ่งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2553  เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน และภาครัฐ ในทุกสาขาบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย   บริการธุรกิจ เช่น วิชาชีพต่างๆ ธุรกิจโฆษณา อสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษา วิจัย การพิมพ์ การจัดงานประชุมและนิทรรศการ และคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมและโสตทัศน์  ก่อสร้าง    จัดจำหน่าย  การศึกษา  สิ่งแวดล้อม สุขภาพและการแพทย์  ท่องเที่ยว   นันทนาการ วัฒนธรรมและกีฬา ขนส่งและโลจิสติกส์  ซึ่งปีนี้ไทยรวมทั้งสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต้องเปิดเสรีการค้าบริการโดยให้สิทธินักลงทุนอาเซียนสามารถถือหุ้นได้ไม่ต่ำกว่า 70%    ใน 4 สาขาเร่งรัด  ได้แก่ ขนส่งทางอากาศ   สุขภาพ   การท่องเที่ยว   โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์  นอกจากนี้มีเป้าหมายเปิดเสรีในปี  2556  สำหรับสาขาโลจิสติกส์  และเปิดเสรีครบทุกสาขาในปี 2558

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ กล่าวถึงผลการสัมมนาในรายสาขาธุรกิจต่างๆ ว่า สำหรับสาขาสุขภาพแพทย์ห่วงว่าจะเกิดปัญหาสมองไหล ซึ่งมีหลายมิติทั้งในแง่ของแพทย์จากต่างชาติที่จะเข้ามา และแพทย์ไทยที่จะออกไปในอาเซียน การไหลออกจากโรงพยาบาลรัฐไปโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานแล้ว ส่วนธุรกิจโรงพยาบาลไม่น่าห่วงเพราะโอกาสที่ต่างชาติจะมาสร้างโรงพยาบาลใหม่น้อย เพราะต้องลงทุนสูงมาก แต่ความเป็นไปได้คือการเข้ามาถือหุ้นเพิ่มในกิจการที่มีอยู่เดิม ซี่งไม่น่าเป็นประเด็นที่ต้องกังวล ตราบใดที่ผู้บริโภคยังได้ประโยชน์และทำให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีให้แก่โรงพยาบาลในไทย ส่วนประเด็นการให้บริการด้านการแพทย์ เช่น การรับส่งผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ การทำห้องยา การตรวจ การทำแล็บเคลื่อนที่ เป็นต้น มีแนวโน้มที่ต่างชาติจะเข้ามาให้บริการหากมีการเปิดเสรีในส่วนนี้ ในกรณีเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็อาจจะไปตั้งธุรกิจบริการด้านการแพทย์ที่ลงทุนน้อยและให้มูลค่าเพิ่มได้มากกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับสาขาท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไม่มีความกังวลในประเด็นการแข่งขัน แต่ขอให้ภาครัฐดูแลผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ให้ดี และมีความเป็นห่วงเรื่องกฎหมายภายในและการบังคับใช้กฎหมาย สำหรับสิ่งที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีคือ การบริหารจัดการ เพราะเปิดให้บุคลากรระดับผู้จัดการเข้ามาให้บริการได้ ส่วนธุรกิจโรงแรมอาจจะมีการเปิดเสรีในส่วนของโรงแรมระดับห้าดาวขึ้นไปก่อน เพราะว่ามีเครือโรงแรมใหญ่ๆ เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยอยู่แล้ว สำหรับร้านอาหาร อาจจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าจะเปิดเสรีก็ต้องกำหนดเรื่องพื้นที่ที่ให้บริการว่าควรจะมีขนาดพื้นที่เท่าไหร่ ส่วนธุรกิจบริการด้านมัคคุเทศก์ยังขอสงวนไว้ให้คนไทย สำหรับสาขาโทรคมนาคมซึ่งเป็นสาขาบริการที่เป็นต้นทุนของธุรกิจอื่น และผู้เล่นมีแต่รายใหญ่ คงไม่ต้องพิจารณาในแง่การแข่งขันแต่อาจมีปัญหาเรื่องกฎหมายปัจจุบันที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง และมีข้อกังวลว่าการเปิดเสรีจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง โครงสร้างพื้นฐาน และข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม เอกชนไม่กังวลเรื่องการแข่งขันเพราะทุกคนยอมรับว่าต่างชาติเข้ามาให้บริการในธุรกิจนี้อยู่แล้ว สำหรับสาขาโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการ SMEs ไม่คัดค้านการเปิดเสรี แต่ขอให้ภาครัฐหารือกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดและต้องการให้ภาครัฐช่วยพัฒนาฝึกอบรมผู้ประกอบการรายย่อย โดยขอให้พิจารณาเปิดเสรีในส่วนที่จะไม่กระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย และถ้ามองในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การที่มีต่างชาตินอกอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทยก็เกิดประโยชน์กับไทยในแง่ของการลงทุน โดยต่างชาติจะใช้ไทยเป็นประตูส่งออกการค้าบริการไปยังอาเซียนประเทศอื่น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่าไม่ว่าจะมีการเปิดเสรีหรือไม่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัว และต้องมีการรวมกลุ่มให้เข้มแข็ง ส่วนสาขาวิศวกร และสถาปนิก มีความเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย แต่ไทยยังเสียเปรียบเรื่องภาษาอยู่มาก ต้องมีการพัฒนาในส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น การเข้ามาของต่างชาติในเชิงธุรกิจเกิดขึ้นอยู่แล้วและในการเปิดเสรีภายใต้อาเซียนสำหรับธุรกิจนี้ยังต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ นอกจากนี้กำหนดไว้ด้วยว่าต้องมีคนไทยถือหุ้นและต้องมีใบอนุญาตในการทำงาน จึงจะสามารถให้บริการได้ สาขาก่อสร้าง ในสาขานี้เอกชนยอมรับว่ามีการแข่งขันค่อนข้างสูง แต่เป็นโอกาสที่ไทยจะออกไปดำเนินธุรกิจในประเทศอื่นได้ สำหรับธุรกิจบริการสาขาการศึกษา บางส่วนกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย บางส่วนมีความเป็นห่วงว่าธุรกิจการศึกษาที่เข้ามาต้องมีคุณภาพ บางส่วนก็มีความเห็นว่าการเปิดเสรีสาขาการศึกษาจะทำให้เกิดประโยชน์ในการได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการ การใช้ภาษาอังกฤษ สื่อการเรียนการสอน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนนักเรียนระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการศึกษาถือเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยให้เป็นสากลและทำให้ทรัพยากรมนุษย์ในประเทศมีคุณภาพ สำหรับบริการธุรกิจที่ครอบคลุมวิชาชีพ โฆษณา ธุรกิจจัดประชุม ห้องแล็บ การวิจัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีข้อเสนอแนะมากนัก อย่างไรก็ดี มีผู้ให้ความเห็นว่าถ้ามีการเปิดเสรีกันอย่างจริงจังทุกประเทศ ผู้ประกอบการไทยก็สามารถแข่งขันได้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนการค้าบริการอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวสรุปว่า ไม่มีสาขาบริการใดที่เอกชนไม่พร้อมเปิดเสรี หรือคัดค้านการเปิดเสรี ประเด็นสำคัญที่สุดคือเอกชนต้องการให้ภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นว่าประเทศไทยต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อพร้อมรับการเปิดเสรี รวมถึงต้องการให้รัฐบาลศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีที่จะมีกับ SMEs ไทยรายย่อย และเร่งช่วยเหลือ SMEs ให้มีความเข้มแข็ง และรวมกลุ่มกันให้ได้ ซึ่งผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จะเป็นส่วนสำคัญในการจัดทำเป็นข้อผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของไทยในอาเซียน ซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ความคิดเห็นของภาครัฐ และเอกชนจากการสัมมนาเปิดเสรีการค้าบริการอาเซียน

1. ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ ม.พระจอมเกล้าธนบุรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร)

การเปิดเสรีบริการด้านโลจิสติกส์ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อที่จะแข่งขันในการเปิดเสรี คือ เรื่องการบริหารต้นทุน สองคือ ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นลูกจ้างหรือผู้รับเหมาช่วง เมื่อมีปัญหาเรื่องกำไร ก็จะมีการตัดราคากันเอง สามคือ ต้องเพิ่มเครือข่าย

2. นายแพทย์สมเกียรติ เชื้อเพชระโสภณ ที่ปรึกษาการแพทย์ด้านยุทธศาสตร์ โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์

สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล การเปิดเสรีจะเป็นโอกาสหนึ่งที่จะทำให้ได้ทุนและพันธมิตรจากต่างชาติที่เข้ามาแต่ก็ยังบริหารโดยคนไทย ส่วนไทยก็มีโอกาสเข้าไปทำธุรกิจกับอาเซียนได้ ถ้าการเปิดเสรีจะทำให้สามารถถือหุ้นได้มากกว่าเดิมก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ให้บริการของไทยมากยิ่งขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องบุคลากรถ้ามีการเปิดเสรีก็จะเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาล แต่อาจจะกระทบกับบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศ

3. นายศุภฤกษ์ ศูรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด

ในเรื่องท่องเที่ยว ต้องให้ผู้ประกอบการสามารถรวมกลุ่มกันให้ได้ ภาคเอกชนต้องรวมกลุ่มกันเพื่อไปต่อรองกับภาครัฐให้เตรียมมาตรการรองรับความช่วยเหลือ หรือเสนอแนะมาตรการใดที่เห็นว่าสามารถนำมาใช้เพื่อให้แข่งขันได้

4. ดร.มัทนา ศานติวัตร นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ข้อดีของการเปิดเสรี ที่เห็นชัดเจนคือ ทำให้เกิดการตื่นตัวในแวดวงของสถาบันอุดมศึกษาอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาการประกันคุณภาพการศึกษา และทำให้ประเทศไทยมีความสนใจในเรื่องการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น ถ้าต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยอย่างทุ่มเทและตั้งใจ ก็จะทำให้มีผลดีคือเรื่องของการพัฒนา ถ่ายทอดความรู้ในด้านการศึกษาวิจัยได้มากขึ้น

ส่วนประเด็นที่กังวลคือ อาจมีการทุ่มทุน และในเชิงวัฒนธรรมอาจจะลดน้อยถอยลงไป สถาบันการศึกษาก็ต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อให้คงความเป็นไทยหรือความได้เปรียบในความเป็นไทย ซึ่งถ้าเราจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เราก็น่าจะทำได้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ