อาฟตาดันการค้าไทยกับอาเซียนขยายตัวกว่า 65 %

ข่าวทั่วไป Thursday May 6, 2010 15:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ผลความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน 3 เดือนแรกของปี 53 ส่งผลดีต่อไทย ทำให้การค้าของไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น 10,522.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 67.3 และนำเข้าของไทยจากอาเซียน มูลค่า 7,115.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.88 ทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 3,407.2 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย นับตั้งแต่เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) มีผลบังคับใช้ การค้าของไทยกับอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย แต่ในปัจจุบันอาเซียนได้กลายมาเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-มี.ค.) การค้าของไทยกับอาเซียน 9 ประเทศ มีมูลค่ารวม 17,638.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 52.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.4 ของมูลค่าการค้ารวมของไทยกับโลก ประกอบด้วย การส่งออกของไทยไปอาเซียน มูลค่า 10,522.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.3 และการนำเข้าของไทยจากอาเซียน มูลค่า 7,115.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.88 ทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็น 3,407.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อาเซียนจัดเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 23.7 ของการส่งออกรวมของไทย ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 นำหน้าตลาดส่งออกหลักเดิม อย่างเช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 11.7, 10.3 และ 10.0 ของการส่งออกรวมของไทยตามลำดับ สินค้าที่ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2553 ได้แก่ น้ำตาลทราย ร้อยละ 340.57 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ร้อยละ 272.2 ข้าว ร้อยละ 191.3 น้ำมันสำเร็จรูป ร้อยละ 114.0 รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ร้อยละ 106.6 เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ร้อยละ 89.7 แผงวงจรไฟฟ้า ร้อยละ 80.4 และยางพารา ร้อยละ 72.2 ทั้งนี้ พบว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 23.6 ของการส่งออกรวมของไทยไปยังอาเซียน รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 19.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 18.2 และเวียดนาม ร้อยละ 12.1 สำหรับการนำเข้า อาเซียนจัดเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 16.8 ของการนำเข้ารวมของไทย รองจากญี่ปุ่น ร้อยละ 20.6 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอาเซียนส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภททุน สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตและส่งออกต่อไป เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทย คือ มาเลเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 37.5 ของการนำเข้ารวมของไทยจากอาเซียน รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ ร้อยละ 20.9 อินโดนีเซีย ร้อยละ 18.7 และพม่า ร้อยละ 8.2

“การบรรลุผลของการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน นับเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ/ผู้ประกอบการไทยที่จะทำการค้าขายในอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรรวมกันถึงกว่า 580 ล้านคน” ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AFTA หรือการมาขอ FORM D เพื่อส่งออกสินค้าของไทยไปยังอาเซียน ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค.-ก.พ.) ซึ่งมีมูลค่า 1,940.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 71.9 แต่ยังคิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 20 ของการส่งออกรวมไปอาเซียน ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะใช้สิทธิประโยชน์ให้มากขึ้น โดยสินค้าไทยที่ได้ถิ่นกำเนิดสินค้าอาเซียน สามารถส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 ประเทศ (มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และบรูไนฯ) โดยจะไม่ถูกเก็บภาษีนำเข้า และอีก 4 ประเทศ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) ในอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบให้กับสินค้าของไทยด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าประเทศที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ในขณะที่ด้านการนำเข้า จะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการใช้วัตถุดิบมากขึ้น สามารถเลือกหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศที่มีศักยภาพในอาเซียน ด้วยต้นทุนที่ต่ำ นำมาผลิตและส่งออกต่อไป สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าของเรา ก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ