กรมเจรจาฯ กางโรดแมปแผนเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยึดอาเซียนเป็นฐานก้าวกระโดดไปสู่ภูมิภาคอื่น

ข่าวทั่วไป Monday June 7, 2010 14:44 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

"อลงกรณ์" กำหนดเป้าหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 โดยมีโรดแมปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนอาเซียนเป็นประชาคมเศรษฐกิจ และร่วมกับอาเซียนผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศในภูมิภาคอื่น

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 68 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 69 ว่าในฐานะที่ตนกำกับดูแลหน่วยงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย ได้มอบหมายให้กรมฯ จัดทำแนวทางการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยให้ความสำคัญสูงสุดต่อการเจรจาการค้ารอบโดฮา ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งจะได้ร่วมกับสมาชิกอื่นๆ ผลักดันให้สมาชิกรายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเร่งรัดการเจรจาให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว ส่วนการเจรจาการค้าระดับภูมิภาค ให้มุ่งกระชับการรวมกลุ่มอาเซียน ให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตที่เข้มแข็ง และนำอาเซียนออกไปขยายการค้าไปสู่ตลาดขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย และตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูงอย่างละตินอเมริกาและตะวันออกกลาง โดยมีเป้าประสงค์ที่จะเพิ่มโอกาสการส่งออก หาแหล่งเงินทุนและแหล่งออกไปลงทุน หาแหล่งวัตถุดิบเพื่อลดต้นทุน หาแนวทางพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า การให้ความสำคัญกับการผลักดันอาเซียนไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2558 เพื่อให้สินค้าและบริการเคลื่อนย้ายในอาเซียนได้อย่างเสรี การลงทุนมีความคล่องตัว และผู้ประกอบวิชาชีพบางสาขาสามารถเดินทางไปทำงานในอาเซียนได้สะดวก ซึ่งปีนี้อาเซียนได้ประสบความสำเร็จในการลดภาษีนำเข้าสินค้าแทบทั้งหมดเป็นศูนย์แล้ว สินค้าสามารถลื่นไหลในอาเซียนได้แล้ว บริการโดยทั่วไปก็สามารถเคลื่อนย้ายในอาเซียนได้อยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องทำต่อไปคือการเปิดเสรีการลงทุน ซึ่งในด้านการลงทุนผลิตสินค้า อาเซียนต้องจะพิจารณาเปิดให้มีการลงทุนระหว่างกันอย่างเต็มที่ โดยแต่ละประเทศจะยกเว้นเพียงบางสาขาเท่านั้น ส่วนด้านบริการ ในปีนี้อาเซียนมีเป้าหมายจะเปิดให้ธุรกิจในประเทศในอาเซียนประเทศหนึ่ง สามารถไปร่วมลงทุนถือหุ้นในอาเซียนอีกประเทศหนึ่งได้ถึงร้อยละ 51 ใน 80 สาขาจาก 128 สาขาบริการจะต้องเจรจาว่าจะเปิดในสาขา บริการใดบ้าง ธุรกิจบริการไทยจะสามารถไปลงทุนในอาเซียนอื่นได้อย่างไรบ้าง

สำหรับการร่วมกับอาเซียนในการเจรจาเขตการค้าเสรี กรมฯจะต้องให้ความสำคัญกับการการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี ASEAN +3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ASEAN+6 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) เพื่อสร้างตลาดขนาดกว่า 3,000 ล้านคนรวมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับกลุ่ม GCC ซึ่งเป็นประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ มีสมาชิก 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และกลุ่ม Mercosur ซึ่งเป็นตลาดร่วมแห่งอเมริกาใต้ ที่มีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอล่า ทั้งนี้ ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางและละตินอเมริกามีศักยภาพสูงที่จะสามารถเป็นแหล่งทุน วัตถุดิบ และตลาดที่สำคัญของไทยในอนาคต

การเจรจาในกรอบเอเปก จะผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้การค้าในเอเปกมีความคล่องตัวสูงสุด ส่วนการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในเอเปก คงต้องร่วมกับสมาชิกเอเปกแสวงหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสม โดยต้องทำให้เอเปก มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้เอเปกมีกลยุทธ์การเจริญเติบโตที่จะรองรับการฟื้นตัวภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจและเตรียมความพร้อมหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกในอนาคต

“การเจรจา FTA ในกรอบทวิภาคี ในปีนี้ตนก็ได้ขอกรมฯเร่งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเปิดเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ และจะต้องมีการเตรียมการเจรจากับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เนื่องจากความตกลง FTA กับทั้งสองประเทศได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนและพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายขอบข่ายของ FTA ซึ่งจะต้องมีการขออนุมัติกรอบการเจรจาจากรัฐสภาก่อน” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลประโยชน์ของการจัดทำ FTA จะมีมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับความรับรู้ใน FTA และการฉกฉวยโอกาสทางการค้าที่ FTA สร้างขึ้น ซึ่งกรมฯจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่ผลการเจรจาในกรอบเวทีต่างๆ ให้แก่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการ นำเข้าและส่งออก ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ