พาณิชย์บุกอินเดีย ต่อยอดการค้าหลังเปิดเสรี เสริมสร้างความร่วมมือเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ข่าวทั่วไป Monday June 7, 2010 14:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนจะเป็นหัวหน้าคณะนำผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เดินทางเยือนประเทศอินเดีย ในระหว่างวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2553 ณ กรุงนิวเดลี เมืองเจนไน และเมืองมุมไบ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับอินเดียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เมืองเจนไน และเมืองมุมไบ เป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของอินเดีย เป็นศูนย์กลางทางการเงิน และเมืองท่าสำคัญ ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้จะเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย (นาย Jyotiraditya M.Scindia) เพื่อผลักดันการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอินเดีย ในอีก 2 กรอบ คือ ไทย-อินเดีย และ BIMSTEC นอกเหนือจากที่ไทยและอินเดียได้เริ่มใช้ FTA อาเซียน-อินเดีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การค้า ระหว่างอาเซียนกับเอเชียใต้ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการรวมกลุ่มการค้าเสรีกับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย นอกเหนือจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังมีกำหนดเข้าพบรัฐมนตรีคมนาคม (นาย Kamal Nath) เพื่อหารือเรื่องระบบ Logistics เชื่อมโยงระบบการค้า การขนส่งระหว่างไทยกับกลุ่มบิมสเทค หรือประเทศในอ่าวเบงกอล เพื่อรองรับการค้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ จะศึกษาดูระบบการทำงานของท่าเรือเจนไน ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินเดีย และเป็น Hub ท่าเรือชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของอินเดีย และจะเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารสาสายการเดินเรือกาติ ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือใหญ่ที่ให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทุกรูปแบบ และมีการขนส่งทางบกครอบคุลมพื้นที่ให้บริการมากที่สุดในอินเดีย (98% ของพื้นที่ทั้งหมด) เน้นการขนส่งในเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน และช่องแคบมะละกา และปัจจุบันมีการส่งสินค้าไปท่าเรือระนอง1 เที่ยว/เดือน ซึ่งจัดว่ายังน้อยมาก จึงเป็นโอกาสดีที่จะมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของไทยและอินเดีย หรืออาจพิจารณาส่งเสริมให้มีการจัดทำความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง (Sister Ports) ระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือของอินเดีย เช่น ท่าเรือเจนไน และท่าเรือกัลกัตตา สำหรับที่มุมไบ ในฐานะที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะได้มีโอกาสหารือกับผู้บริหาร Film City อันเป็นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ Bollywood ที่มีชื่อเสียงของอินเดีย เพื่อหาแนวทางจัดทำความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และบันเทิง อันจะสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการไทยสร้างสรรค์ (Creative Thailand) ของรัฐบาลด้วย ซึ่งการได้หารือเรื่องนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวคิดระหว่างกันอันจะเกิดประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศของไทย และภูมิภาคอาเซียนต่อไป

“ไทยและอินเดียตั้งเป้าหมายว่าการค้าสองฝ่ายจะขยายตัวสูงถึง 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2555 จาก 4,951.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 อันเป็นผลจากการเปิดเสรีการค้าในกรอบอาเซียน-อินเดีย ที่ได้เริ่มมีการลดภาษีสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา ครอบคลุมสินค้าประมาณ 4,700 รายการ หรือกว่า 90% ของมูลค่าการค้าระหว่างกัน สินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีของอินเดีย เช่น อัญมณี และเครื่องประดับ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ อุปกรณ์สื่อสาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เป็นต้น” นายอลงกรณ์ กล่าว

ไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาช้านาน สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตั้งแต่ปี 2490 ในส่วนของการค้าอินเดียถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยในเอเชียใต้ และเป็นหนึ่งในประเทศที่กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายให้ความสำคัญในฐานะตลาดใหม่ และตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1.1 พันล้านคน การค้าสองฝ่ายมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากการลดภาษีสินค้า Early Harvest Scheme (EHS) จำนวน 82 รายการ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ตั้งแต่เดือนกันยายน 2547 และได้ลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่เดือนกันยายน 2549 เป็นต้นมา ทำให้การค้ารวมสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 4,951.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2552 และไทยกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอินเดีย ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ