สรุปผลการประชุมคณะทำงานด้านการค้าบริการอาเซียน — อินเดีย ครั้งที่ 8

ข่าวทั่วไป Monday July 5, 2010 14:32 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

1. การประชุมคณะทำงานด้านการค้าบริการอาเซียน — อินเดีย ครั้งที่ 8 จัดขึ้นพร้อมกับการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าอาเซียน — อินเดีย ครั้งที่ 26 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 — 18 มิถุนายน 2553 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยเป็นการประชุม ASEAN Caucus ในวันที่ 15 มิถุนายน 2553 และเป็นการประชุมเจรจากับอินเดียในวันที่ 16 — 18 มิถุนายน 2553

2. การประชุมในครั้งนี้มีนาย Wong Toon Joon, Deputy Director, Ministry of Trade and Industry, Singapore เป็นประธานฝ่ายอาเซียน และนาง Aparna Sinha, Joint Director, Department of Commerce, Ministry of Commerce & Industry, India เป็นประธานฝ่ายอินเดีย โดยมีผู้แทนของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศเข้าร่วมการประชุม

3. ที่ประชุมได้หารือใน 3 ประเด็นหลัก คือ (1) การเจรจาร่างข้อบทความตกลงการค้าบริการอาเซียน-อินเดีย (2) ข้อเสนอเปิดตลาดการค้าบริการ และ (3) รูปแบบการเปิดตลาดการค้าบริการ (modality)การเจรจาร่างข้อบทความตกลงการค้าบริการ

4. ความคืบหน้าการเจรจาร่างข้อบทความตกลงการค้าบริการมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง แต่มีข้อบทที่ยังไม่สามารถตกลงได้ซึ่งเป็นข้อบทที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญ ได้แก่ ข้อบทกฎระเบียบภายใน (Domestic Regulations) ข้อบทการยอมรับ (Recognition) ข้อบทมาตรการปกป้อง (Safeguards) ข้อบทการยกเว้นเรื่องความปลอดภัย (Security Exceptions) ข้อบทการปฏิเสธการให้ประโยชน์ (Denial of Benefit) ภาคผนวกสาขาการเงิน (Financial Services Annex) ซึ่งมีมาตรการการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน (Prudential Measures, Exchange Rate and Financial Stability) และภาคผนวกการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Annex on Movement of Natural Person)

5. ในเรื่องภาคผนวกการเคลื่อนย้ายบุคลากร (Annex on Movement of Natural Person) อินเดียยังคงยืนยันว่าภาคผนวกการเคลื่อนย้ายบุคคล (Movement of Natural Person: MNP) เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเจรจา FTA และได้เรียกร้องให้อาเซียนเริ่มเจรจาเรืองนี้กับอินเดีย โดยอาจจะพิจารณาจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน — ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ หรือร่างข้อเสนอของอินเดียที่มีอยู่ก็ได้

6. สำหรับเรื่องมาตรการการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน (Prudential Measures, Exchange Rate and Financial Stability) ในการประชุมครั้งนี้ผู้เชียวชาญด้านการเงินของอินเดียและอาเซียน (คือ ไทยและฟิลิปปินส์) ได้หารือกัน และมีความเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นด้านนโยบายในการใช้มาตรการรักษาเสถียรภาพเพื่อรักษาความมั่นคงทางระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนแต่ฝ่ายอินเดียก็ยังไม่ยอมรับถ้อยคำร่างข้อบทของอาเซียน และเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและร่างข้อบทใหม่ในเรื่องนี้ระหว่างกันต่อไป

ข้อเสนอ (Offer)

7. อินเดียได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงให้อาเซียน รอบที่ 2 เรียกว่า 2nd revised offer ซึ่งข้อเสนอนี้อินเดียได้เปิดตลาดเพิ่มเติมให้เฉพาะประเทศพม่า ลาว กัมพูชา อินเดียยังคงไม่พอใจข้อเสนอของประเทศเวียดนามบรูไน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียและเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายเปิดตลาดกันมากขึ้น

8. ในการประชุมครั้งนี้ อินโดนีเซีย ลาว และไทย ได้ยื่นข้อเสนอปรับปรุงรอบที่ 2 ให้กับอินเดียด้วย

รูปแบบการเปิดตลาด

9. อาเซียนต้องการให้อินเดียมี 1 ตารางข้อผูกพันเปิดตลาดที??จะใช้กับอาเซียน 10 ประเทศ แต่ขณะนี้อินเดียได้ยื่นข้อเสนอเปิดตลาดให้อาเซียนแต่ละประเทศไม่เท่ากัน แม้อินเดียจะยื่นข้อเสนอมา 1 ตารางแต่ภายในตารางเปิดตลาดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนไม่เท่ากัน (geographical carve out) ซึ่งมีผลเหมือนกับว่าอินเดียมี 10 ตารางข้อผูกพันเปิดตลาดที??จะใช้กับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน

10. เพื่อเป็นการโน้มน้าวให้อินเดียเปิดตลาดให้อาเซียนเท่ากันทุกประเทศ (มี 1 ตารางใช้กับอาเซียนทุกประเทศ) หัวหน้าคณะเจรจา (TNC: Trade Negotiating Committee) ได้เสนอให้อาเซียนนำข้อผูกพันที่อาเซียนได้เคยเปิดตลาดให้กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์แล้ว มาเป็นพื้นฐานในการเปิดตลาดการค้าบริการให้กับอินเดีย อินเดียได้แจ้งความเห็นในเบื้องต้นว่า ข้อเสนอเปิดตลาดการค้าบริการภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนดื อาเซียนแต่ละประเทศก็มีระดับการเปิดตลาดที่แตกต่างกันและอินเดียไม่แน่ใจว่าสาขาบริการภายใต้ความตกลงดังกล่าวจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง (request) ของอินเดียมากน้อยเพียงไร

11. การประชุมคณะทำงานด้านการค้าบริการอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 9 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2553 ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ