พิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-จีนฉบับที่ 2

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2010 14:19 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความเป็นมา

อาเซียนและจีนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสาธารณรัฐประชาชนจีน (ACFTA) ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้มีข้อร้องเรียนจากผู้นำเข้าและส่งออกทั้งในอาเซียนและจีนว่าไม่สามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีจากความตกลง ACFTA ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลงACFTA ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ โดยเฉพาะเรื่องการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนโดยซื้อขายผ่านนายหน้าในประเทศที่สาม เช่น ฮ่องกง อาเซียนและจีนจึงได้ปรับถ้อยคำ เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติในความตกลงการค้าเสรีอื่นๆที่อาเซียนทำกับคู่เจรจา

สาระสำคัญของพิธีสารฯ

สาระสำคัญของพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลง ACFTA เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงระเบียบพิธีการภายใต้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Operational Certification Procedure) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประเทศภาคีในการใช้สิทธิพิเศษภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนให้มากขึ้น ได้แก่

1) การปรับเนื้อหาให้ผู้นำเข้าสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Movement Certificate (หรือเงื่อนไขที่เรียกว่า Back-to-Back CO ภายใต้กรอบอาเซียน)

2) การกำหนดให้ผู้นำเข้าสามารถให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร สำหรับสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านประเทศนายหน้าภายใต้เงื่อนไขที่เรียกว่า Third Party Invoicing

3) การเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาของการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E (ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อใช้สิทธิ ACFTA) ให้สามารถกระทำได้ก่อนการส่งออก จากเดิมที่กำหนดให้กระทำได้ขณะเวลาที่มีการส่งออกหรือหลังการส่งออก

4) การระบุวิธีการดำเนินการเพื่อให้ศุลกากรสามารถตรวจปล่อยสินค้าได้โดยสะดวกมากขึ้น ในกรณีที่มีความแตกต่างเล็กๆน้อยๆ เช่น ความแตกต่างในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรที่ระบุในฟอร์มอี เป็นต้น ซึ่งเดิมระบุไว้เพียงกว้างๆทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติค่อนข้างมาก

ประโยชน์ที่จะได้รับ

          การลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลง ACFTA จะส่งผลให้ผู้นำเข้าส่งออกสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้เขตการค้าเสรีฯได้มากขึ้นและการดำเนินการเพื่อการตรวจปล่อยสินค้าที่มีการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นไปได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น    นอกจากนี้ สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยหรือจีนซึ่งได้รับการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจะสามารถได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากอีกฝ่ายหนึ่งแม้ว่าสินค้านั้นจะมีบัญชีราคาสินค้า(Invoice) ที่ออกโดยประเทศที่สามภายใต้เงื่อนไข Third Party Invoicing  รวมทั้งการส่งสินค้าที่ต้องผ่านประเทศตัวกลางซึ่งต้องแบ่งจำนวนสินค้า (Break Bulk) สามารถดำเนินการได้    ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้สินค้าของไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลง ACFTA ได้มากขึ้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ