พาณิชย์ฟังครั้งสุดท้าย FTA ไทย-อียู ก่อนส่ง ครม.ตัดสินใจร่วมเจรจาหรือไม่

ข่าวทั่วไป Thursday August 19, 2010 15:26 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

"พาณิชย์" เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ก่อนสรุปท่าทีเสนอ ครม. ระบุการเปิดเจรจา FTA จะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคข้อกีดกันการค้าในตลาดสหภาพยุโรป และลดความไม่แน่นอนของการได้ GSP ที่สำคัญไทยต้องชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียนอื่น

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการจัดเวทีสาธารณะ เรื่อง "คิดเห็นอย่างไร เตรียมพร้อมหรือไม่ จะรับมืออย่างไร หากไทยจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรป" จัดโดยคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนและกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่าเป็นการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะต่อภาครัฐ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจของรัฐบาลในการจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป และยังเป็นการสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190

"เมื่อการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนได้ข้อสรุปออกมาแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะมาประมวลผลการรับฟังความคิดเห็นที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะเจรจาหรือไม่ อย่างไร เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วก็จะยกร่างกรอบการเจรจาเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป"

นางพรทิวา กล่าวว่า ความจำเป็นในการทำ FTA กับสหภาพยุโรป เพราะสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก ในด้านการค้าเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดตลาดหนึ่งของโลกทั้งด้านสินค้าและบริการ แต่ยังมีการปกป้องตลาดภายในโดยใช้มาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษี เช่น กฎเกณฑ์ทางการค้าต่างๆ มาตรฐานสินค้า สิ่งแวดล้อมและแรงงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทย

ดังนั้น การเปิดเสรีการค้าจึงเป็นยุทธศาสตร์ของไทยในการลดและเลิกอุปสรรคทางการค้าของสหภาพยุโรป เพื่อให้ไทยสามารถรักษาตลาดและช่วงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่งทางการค้าในตลาดไว้ได้ รวมทั้งมีความแน่นอนมากกว่าการได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่เป็นการให้ฝ่ายเดียวของสหภาพยุโรป และประการที่สำคัญ อาเซียนหลายประเทศที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของไทย ได้แก่ สิงคโปร์ ได้เริ่มต้นเจรจากับสหภาพยุโรปไปแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า เวียดนามก็คาดว่าจะประกาศเจรจากับสหภาพยุโรปในอนาคตอันใกล้ มาเลเซียได้เริ่มหารือแนวทางการเจรจาในเบื้องต้นแล้ว ส่วนอาเซียนอื่นๆ ได้ศึกษาเป็นการภายในสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรปเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตามเรา ก็ต้องยอมรับว่าการเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป อาจจะมีขอบเขตขยายวงกว้างไปถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ อาจจะมีผลกระทบบ้างกับบางกลุ่มซึ่งกระทรวงพาณิชย์ตระหนักถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด จากการรับฟังความเห็นที่ผ่านมาของทุกภาคส่วนก็มีข้อกังวลและข้อเสนอแนะในการเจรจาต่อเรื่อง ดังกล่าว ดังนั้นการเปิดรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ ต้องการให้มีการเสนอแนะความต้องการให้รัฐบาลเตรียมมาตรการรองรับทั้งด้านรุก ด้านรับ และการปรับตัว หรือการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเจรจาในอนาคตด้วย

นายอัครพล ลีลาจินดามัย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (THAI-EU FTA) กล่าวในวันนี้ว่า การรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในรูปแบบกลุ่มย่อยทั้งสินค้าและบริการได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรุปและประมวลผลเพื่อจัดทำข้อคิดเห็นและเสนอแนะรายงานต่อคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อนำเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่าไทยควรจะจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปหรือไม่ต่อไป

คณะอนุกรรมการเอกชนได้จัดรับฟังความคิดเห็นรวม 9 ครั้ง 19 กลุ่มอุตสาหกรรม ในภาพรวมภาคเอกชนมีทั้งสนับสนุนและแสดงความห่วงกังวลหากไทยจะทำ FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งในกลุ่มที่สนับสนุนเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและช่วงชิงความได้เปรียบทางภาษีที่มีเหนือคู่แข่งขันทางการค้าอื่นๆ ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังไม่พร้อมแข่งขันจะขอระยะเวลาปรับตัวและเห็นว่า แม้จะลดภาษีนำเข้าลงแต่สหภาพยุโรปยังมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าตลาด เช่น มาตรการความปลอดภัยอาหาร มาตรฐานสิ่งแวดล้อม แรงงานและ CSR ซึ่งภาครัฐต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มอุตสาหกรร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ