กรุงเทพโพลล์: ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศักยภาพประเทศไทยในปัจจุบัน และอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า

ข่าวผลสำรวจ Monday February 21, 2011 09:21 —กรุงเทพโพลล์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนิสา ประวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันที่มีปัญหารุมเร้าในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาการชุมนุมประท้วง ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาความขัดแย้งกับประเทศกัมพูชา ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์ จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพประเทศไทยในปัจจุบัน และอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศจำนวน 1,427 คน เมื่อวันที่ 12— 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้

ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยเฉลี่ยรวมทุกด้านเพียงแค่ 3.47 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) โดยปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้า (มิ.ย. 53) ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 53 ที่มีคะแนนเท่ากับ 3.57 คะแนน (ลดลงร้อยละ 2.8) และเมื่อพิจารณาความเชื่อมั่นในแต่ละด้านพบว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ยังคงมีคะแนนไม่ถึงครึ่ง (4.01 คะแนน) รองลงมาคือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (3.47 คะแนน) ส่วนด้านการเมืองประชาชนมีความเชื่อมั่นน้อยที่สุด (2.94 คะแนน)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นในแต่ละตัวชี้วัดจากจำนวนทั้งสิ้น 12 ตัวชี้วัด พบว่า ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมีคะแนนต่ำที่สุด (1.91 คะแนน) เช่นเดียวกับผลการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนเป็นความเชื่อมั่นที่มีคะแนนสูงที่สุด แต่ก็ยังไม่ถึงครึ่ง (4.69 คะแนน) ส่วนด้านความเชื่อมั่นที่ปรับลดลงมากที่สุดคือด้านความรักและสามัคคีของคนในชาติ (ลดลง 0.38 คะแนน) ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศว่าสามารถแข่งขันได้ในอาเซียน แต่ไม่เชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกในระบบการเมืองไทยและเมื่อรวมกับความเชื่อมั่นในความรักความสามัคคีของคนในชาติที่ลดลง สองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยกัดกร่อนศักยภาพของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพของประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่า ร้อยละ 44.7 ระบุว่าเหมือนเดิม ร้อยละ 33.9 เชื่อว่าจะแย่ลง มีเพียงร้อยละ 21.3 ที่เชื่อว่าจะดีขึ้น

ตารางที่ 1 ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศักยภาพโดยรวมของประเทศไทยในปัจจุบัน
          ความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ                                         คะแนนความเชื่อมั่น (เต็ม 10 คะแนน)
                                                                  มิ.ย. 53       ก.พ. 54       เปลี่ยนแปลง
1) ด้านสถานะทางเศรษฐกิจของคนในประเทศ
     (รายได้เพียงพอกับรายจ่าย การมีงานทำ การกินดีอยู่)                       3.40          3.44          +0.04
2) ด้านฐานะการเงินของประเทศ
    (เงินคงคลัง หนี้ของประเทศ ทุนสำรองระหว่างประเทศ)                      3.53          3.48          -0.05
3)  ด้านศักยภาพของคนไทย
     (การศึกษา/สุขภาพ/ความรู้ความสามารถ/ความซื่อสัตว์มีวินัย และพัฒนาได้)        4.30          4.43          +0.13
4) ด้านความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน
    (ด้านการผลิต เป็นแหล่งท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน)                     4.47          4.69          +0.22
               ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ (เฉลี่ยรวม)                        3.92          4.01          +0.09

5)  ด้านความรักและสามัคคีของคนในชาติ                                     3.26          2.88          -0.38
6)  ด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
     (ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย และความเท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมาย)        3.30          3.05          -0.25
7)  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม                                   4.61          4.63          +0.02
8)  ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
      (โจรกรรม ชิงทรัพย์ ทำร้ายร่างกายภัยจราจร การปนเปื้อนในอาหาร และมลพิษ)  3.16          3.30          +0.14
          ความเชื่อมั่นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (เฉลี่ยรวม)                     3.58          3.47          -0.11

9)    ด้านการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น                                       2.17          1.91          -0.26
10)  ด้านการปฎิรูปการเมืองและพัฒนาระบอบประชาธิปไตย
        (คุณภาพนักการเมือง ระบบเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมของประชาชน )        3.16          2.80          -0.36
11)  ด้านความสามารถในการบริหารประเทศ ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน                  3.79          3.43          -0.36
12)  ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากหน่วยงานภาครัฐ
     (ถูกต้อง  เป็นกลาง และเป็นประโยชน์)                                 3.69          3.62          -0.07
          ความเชื่อมั่นด้านการเมือง (เฉลี่ยรวม)                             3.20          2.94          -0.26

          เฉลี่ยรวมทุกด้าน                                              3.57          3.47         -0.10(-2.8%)

ตารางที่ 2   ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อศักยภาพประเทศไทย ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
    ความเชื่อมั่นต่อศักยภาพประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า   เชื่อว่าจะดีขึ้น       เชื่อว่าจะเหมือนเดิม    เชื่อว่าจะแย่ลง
                                                    (ร้อยละ)            (ร้อยละ)          (ร้อยละ)
1.  ด้านเศรษฐกิจ                                       26.4               42.9             30.7
2.  ด้านการเมือง                                       23.3               53.5             23.2
3.  ด้านสังคม                                          14.2               37.8             48.0
          เฉลี่ยรวมทุกด้าน                               21.3               44.7             33.9

รายละเอียดในการสำรวจ

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่างๆ จากทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบด้วย ปทุมธานี นทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ลำปาง ขอนแก่น นครราชศรีมา นครสวรรค์ สระบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช และตรัง โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,427 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.9 และเพศหญิงร้อยละ 50.1

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน +/- 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) และการโทรศัพท์สัมภาษณ์ โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  12- 14 กุมภาพันธ์ 2554

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  21  กุมภาพันธ์ 2554

ข้อมูลประชากรศาสตร์

                                             จำนวน         ร้อยละ
เพศ
            ชาย                                712          49.9
            หญิง                                715          50.1
          รวม                                1,427         100.0

อายุ
            18 ปี - 25 ปี                        344          24.1
            26 ปี — 35 ปี                        387          27.1
            36 ปี — 45 ปี                        354          24.8
            46 ปีขึ้นไป                           342          24.0
          รวม                                1,427         100.0

การศึกษา
            ต่ำกว่าปริญญาตรี                       881          61.7
            ปริญญาตรี                            462          32.4
            สูงกว่าปริญญาตรี                        84          5.9
          รวม                                1,427         100.0

อาชีพ
            ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ                  167          11.7
            พนักงานบริษัทเอกชน                    387          27.1
            ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว/เกษตรการ   404          28.4
            รับจ้างทั่วไป                          200          14.0
            พ่อบ้าน / แม่บ้าน / เกษียณอายุ            89           6.2
            อื่นๆ เช่น นิสิตนักศึกษา อาชีพอิสระ ว่างงาน  180          12.6
          รวม                                1,427         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ