กรุงเทพโพลล์: “แนวโน้มการท่องเที่ยวของประชาชนในวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์”

ข่าวผลสำรวจ Thursday April 5, 2012 09:36 —กรุงเทพโพลล์

ประชาชนระบุค่าโดยสารและราคาพลังงาน มีผลต่อการตัดสินใจไปเที่ยวช่วงสงกรานต์ถึงร้อยละ 60.5 และต้องการให้ตำรวจคุมแข้มเรื่องเมาแล้วขับมากที่สุด

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,283 คน พบว่า

ประชาชน ร้อยละ 51.6 ไม่มีแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ขณะที่ร้อยละ 38.0 มีแผนการเดินทางแล้ว ในจำนวนนี้ร้อยละ 23.7 ระบุว่าจะเดินทางกลับจังหวัดบ้านเกิด และร้อยละ 13.8 ระบุว่าจะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด ขณะที่ร้อยละ 10.4 ยังไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงสถานะทางการเงินที่จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้พบว่า ร้อยละ 51.0 ระบุว่ามีสภาพคล่องพอๆ กับปีที่ผ่านมา ร้อยละ 29.5 ระบุว่ามีสภาพคล่องแย่กว่าที่ปีผ่านมา ขณะที่ร้อยละ 19.5 ระบุว่า มีสภาพคล่องดีกว่าปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ประชาชนระบุว่าราคาค่าโดยสาร และราคาพลังงาน มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ถึงร้อยละ 60.5 ขณะที่ร้อยละ 39.5 ระบุว่าไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจ

ส่วนสถานที่ที่ประชาชนนึกถึงมากที่สุดเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์คือ ถนนข้าวสาร (ร้อยละ 21.4) รองลงมาคือ คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ (ร้อยละ 17.4) และ พัทยา/บางแสนจังหวัดชลบุรี (ร้อยละ 15.4)

สำหรับกิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในช่วงสงกรานต์ คือ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ (ร้อยละ 71.9) รองลงมาคือ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ (ร้อยละ 58.5) และพบปะสังสรรค์กันในหมู่ญาติและเพื่อนฝูง (ร้อยละ 54.6)

ทั้งนี้เรื่องที่ต้องการให้ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐคุมเข้มมากที่สุดคือ การตั้งด่านตรวจจับผู้ที่เมาแล้วขับ (ร้อยละ 36.6) รองลงมาคือ จับกุมผู้ที่เมาสุราแล้วก่อเหตุทะเลาะวิวาท (ร้อยละ 13.4) และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมขัดต่อวัฒนธรรมไทย (ร้อยละ 11.0)

ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. แผน / การเตรียมตัว ที่จะเดินทางในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์

          - ไม่มีแผนการเดินทาง        ร้อยละ           51.6
          - มีแผนการเดินทางแล้ว       ร้อยละ           38.0
                      โดยระบุว่า            จะเดินทางกลับจังหวัดบ้านเกิด และไปเยี่ยมญาติ          ร้อยละ 23.7
                                          จะไปท่องเที่ยวต่างจังหวัด                          ร้อยละ 13.8
                                          จะไปเที่ยวต่างประเทศ                            ร้อยละ 0.5
          - ไม่แน่ใจ                 ร้อยละ 10.4

2. ความคิดเห็นต่อสถานะทางการเงินที่จะใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
          - มีสภาพคล่องทางการเงิน พอๆ กับปีที่ผ่านๆ มา                                  ร้อยละ 51.0
          - ไม่ค่อยมีสภาพคล่องทางการเงิน / แย่กว่าปีที่ผ่านมา                              ร้อยละ 29.5
          - มีสภาพคล่องทางการเงิน / ดีกว่าปีที่ผ่านมา                                    ร้อยละ 19.5

3. อัตราค่าโดยสาร และราคาพลังงานในปัจจุบัน ว่ามีผลต่อการตัดสสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือไม่
          - มีผล                              ร้อยละ 60.5
(โดยระบุว่า มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  ต้องเที่ยวจังหวัดใกล้ขึ้น ต้องใช้บริการรถโดยสารแทนการขับรถไปเอง ฯลฯ)
          - ไม่มีผล                            ร้อยละ 39.5
(โดยให้เหตุผลว่า เตรียมงบประมาณท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าแล้ว อัตราค่ารถโดยสารยังเท่าเดิมอยู่ มีปีละครั้ง ฯลฯ)

4. สถานที่ที่ประชาชนนึกถึงมากที่สุด 5 อันดับแรก เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ คือ
          - ถนนข้าวสาร          กรุงเทพฯ                              ร้อยละ 21.4
          - คูเมือง จ. เชียงใหม่                                        ร้อยละ 17.4
          - พัทยา บางแสน จ. ชลบุรี                                     ร้อยละ 15.4
          - ถนนสีลม กรุงเทพฯ                                          ร้อยละ 9.4
          - พระประแดง จ. สมุทรปราการ                                 ร้อยละ 4.7

5. กิจกรรมที่ตั้งใจจะทำในช่วงวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คือ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
          - ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ                                     ร้อยละ 71.9
          - รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่                                        ร้อยละ 58.5
          - พบปะสังสรรค์กันในหมู่ญาติ และเพื่อนฝูง                           ร้อยละ 54.6
          - เล่นสาดน้ำ                                                ร้อยละ 33.1
          - อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำกิจกรรมใดๆ                                 ร้อยละ 15.8

6. เรื่องที่ต้องการให้ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ กวดขันและคุมเข้ม มากที่สุดในช่วงสงกรานต์ คือ
          - การตั้งด่านตรวจจับผู้ที่เมาแล้วขับ                                ร้อยละ 36.6
          - จับกุมผู้ที่เมาสุราแล้วก่อเหตุทะเลาะวิวาท                          ร้อยละ 13.4
          - การแสดงออกที่ไม่เหมาะสมขัดต่อวัฒนธรรมไทย เช่น แต่งตัวโป๊          ร้อยละ 11.0

การทำอนาจารตามที่สาธารณะ การเต้นยั่วยวน ฯลฯ

          - ดูแลความปลอดภัยจาก การวางระเบิด และการก่อการร้าย             ร้อยละ 10.9
          - การลวนลามและการล่วงเกินทางเพศ                             ร้อยละ 10.8

รายละเอียดในการสำรวจ วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกี่ยวกับแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในแง่มุมต่างๆ อาทิ แผนการเดินทางท่องเที่ยว สภาพคล่องทางการเงิน สถานที่ที่นึกถึงมากที่สุด ตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเรื่องที่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความเข้มงวด ในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจากเขตการปกครองทั้งเขตชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก จำนวนทั้งสิ้น 30 เขต ได้แก่เขตคลองสาน จอมทอง ดินแดง ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ทุ่งครุ บางกอกน้อย บางกะปื บางคอแหลม บางแค บางซื่อ บางบอน บางพลัด บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระโขนง ภาษีเจริญ มีนบุรี ยานนาวา ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ สวนหลวง สัมพันธวงศ์ สาทร หนองแขม หนองจอก และห้วยขวาง และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานีและสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนน และประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,283 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.1 และเพศหญิงร้อยละ 50.9

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  2 — 3 เมษายน 2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :   5 เมษายน 2555

ข้อมูลประชากรศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน (คน) ร้อยละ เพศ

                       ชาย                                  630          49.1
                       หญิง                                  653          50.9
          รวม                                             1,283         100.0

อายุ
                      18 - 25 ปี                             316          24.6
                      26 - 35 ปี                             342          26.7
                      36 - 45 ปี                             320          24.9
                      46 ปีขึ้นไป                              305          23.8
          รวม                                             1,283         100.0

การศึกษา
                    ต่ำกว่าปริญญาตรี                            945          73.7
                    ปริญญาตรี                                 312          24.3
                    สูงกว่าปริญญาตรี                             26           2.0
          รวม                                             1,283         100.0
อาชีพ
                    ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ                81           6.3
                    พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน                326          25.5
                    ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว                 408          31.9
                    รับจ้างทั่วไป                               230          17.9
                    พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ                    103           8.0
                    อื่นๆ อาทิ นักศึกษา อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น    135          10.4
          รวม                                             1,283         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ