กรุงเทพโพลล์: 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการแก้ปัญหาไฟใต้

ข่าวผลสำรวจ Monday August 20, 2012 09:17 —กรุงเทพโพลล์

ประชาชนชายแดนใต้ 90% ชี้รัฐไม่จริงจังกับการแก้ปัญหา 59.2% เชื่อรัฐแก้ปัญหาไม่ถูกทาง 43.4% ย้ำการประกาศเคอร์ฟิวไม่ช่วยลดหรือแก้ปัญหาได้ และยิ่งไปกว่าประชาชน 79.8% ระบุใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัว

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการแก้ปัญหาไฟใต้” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงและมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ผลสำรวจพบว่า

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 55.4 เห็นว่ารัฐบาลไม่ค่อยจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รองลงมาร้อยละ 35.0 เห็นว่าไม่จริงจังเลย และมีเพียงร้อยละ 9.6 เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหา เมื่อถามต่อว่าแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของภาครัฐเดินมาถูกทางหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.2 เชื่อว่าเดินมาไม่ถูกทาง มีเพียงร้อยละ 6.1 เท่านั้นที่เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว ขณะที่ประชาชนร้อยละ 34.7 ไม่แน่ใจ

ทั้งนี้ประชาชนเชื่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาครัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากที่สุด คือ ความไม่จริงจัง จริงใจ และขาดการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ร้อยละ 22.8) รองลงมาคือ การทุจริตคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ของผู้ค้าหนีภาษี ความเห็นแก่เงินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (ร้อยละ 17.4) และความไม่เข้าใจปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดของภาครัฐ (ร้อยละ 13.9)

ด้านความเห็นของประชาชนต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่ภาครัฐควรนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้มากที่สุด คือ ควรปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาดมากกว่านี้ (ร้อยละ 39.8) รองลงมาคือ ภาครัฐควรเข้าใจและเข้าถึงคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ รวมถึงช่วยพัฒนาชุมชนทั้งการศึกษาและอาชีพ (ร้อยละ 24.6) และภาครัฐควรจริงจังกับการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 12.3)

สำหรับความเห็นของประชาชนต่อการประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยลดหรือแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ประชาชนร้อยละ 43.4 เชื่อว่าไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 16.7 ที่เชื่อว่าได้ ขณะที่ร้อยละ 39.9 ไม่แน่ใจ

ด้านความพอใจในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในทุกวันนี้พบว่า ประชาชนร้อยละ 50.8 บอกว่าไม่ค่อยพอใจ รองลงมาร้อยละ 29.5 บอกว่าพอใจ ขณะที่ร้อยละ 19.7 บอกว่าไม่พอใจเลย

เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ประชาชนร้อยละ 57.4 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวแต่เริ่มชินชาแล้ว รองลงมาร้อยละ 22.5 บอกว่ารู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ร้อยละ 20.1 บอกว่าใช้ชีวิตตามปกติ

สุดท้ายเมื่อถามว่าปัจจุบันนี้เห็นสัญญาณความสงบที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนข้างหน้าบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 94.1 ระบุว่ายังคงมืดมน มีเพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้นที่เห็นว่าเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง และเมื่อถามต่อด้วยคำถามเดิมว่าแล้วอีก 6 เดือนข้างหน้าสัญญาณความสงบจะเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 90.3 ระบุว่ายังคงมืดมนต่อไป มีเพียงร้อยละ 8.5 เท่านั้นเห็นว่าเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง

รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือไม่
          จริงจัง               ร้อยละ           9.6
          ไม่ค่อยจริงจัง          ร้อยละ          55.4
          ไม่จริงจังเลย          ร้อยละ          35.0

2. แนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของภาครัฐเดินมาถูกทาง หรือไม่
          เชื่อว่าเดินมาถูกทางแล้ว          ร้อยละ           6.1
          เชื่อว่าเดินมาไม่ถูกทาง           ร้อยละ          59.2
          ไม่แน่ใจ                      ร้อยละ          34.7

3. ปัจจัยที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ (5อันดับแรก) พบว่า
(เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
ความไม่จริงจัง จริงใจ และขาดการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนของภาครัฐ ในการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 22.8
การทุจริตคอร์รัปชั่น มีผลประโยชน์ของผู้ค้าหนีภาษี ความเห็นแก่เงินของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ                          ร้อยละ 17.4
ความไม่เข้าใจปัญหา รวมถึงการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดของภาครัฐ                                            ร้อยละ 13.9
การขาดมาตรการและบทลงโทษทางกฎหมายที่จริงจัง                                                    ร้อยละ 13.5
การไม่ร่วมมือกันระหว่างประชาชนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ขาดความสามัคคี                                 ร้อยละ 11.4

4. ความเห็นต่อวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่ภาครัฐควรนำมาปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ได้ (5อันดับแรก) พบว่า
(เป็นคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุเอง)
ควรปฏิบัติตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดอย่างจริงจังและเด็ดขาดมากกว่านี้                        ร้อยละ          39.8
ภาครัฐควรเข้าใจและเข้าถึงคนในพื้นที่ให้มากกว่านี้ รวมถึงช่วยพัฒนาชุมชนทั้งการศึกษาและอาชีพ         ร้อยละ          24.6
ภาครัฐควรจริงจังกับการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้และต้องทำอย่างต่อเนื่อง                            ร้อยละ          12.3
ให้คนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ภาครัฐจับมือกันร่วมแก้ปัญหา                                        ร้อยละ          11.0
ให้เลิกทุจริต โกงกิน เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน                                            ร้อยละ           4.2

5. ความเห็นต่อการประกาศเคอร์ฟิว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยลด/แก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
          เชื่อว่าได้                   ร้อยละ          16.7
          เชื่อว่าไม่ได้                 ร้อยละ          43.4
          ไม่แน่ใจ                    ร้อยละ          39.9

6. ทุกวันนี้ ท่านพอใจการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐหรือไม่
          พอใจ               ร้อยละ          29.5
          ไม่ค่อยพอใจ          ร้อยละ          50.8
          ไม่พอใจเลย          ร้อยละ          19.7

7. ความรู้สึกต่อการใช้ชีวิตท่ามกลางปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้
          รู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา           ร้อยละ          22.5
          รู้สึกหวาดกลัวแต่เริ่มชินชาแล้ว         ร้อยละ          57.4
          ใช้ชีวิตตามปกติ                    ร้อยละ          20.1

8. ความคิดเห็นต่อสัญญาณความสงบที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 และ 6 เดือนข้างหน้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ) ช่วง 6 เดือนข้างหน้า (ร้อยละ)

          ยังคงมืดมน                   94.1                             90.3
          เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง          4.7                              8.5
          มั่นใจว่าความสงบจะเกิดขึ้น        1.2                              1.2

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

1. เพื่อสะท้อนความรู้สึกของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อปัญหาความไม่สงบและความรุนแรงที่เกิดขึ้น

2. เพื่อสะท้อนความเห็นของประชาชนที่มีต่อแนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐในปัจจุบัน รวมถึงความเห็นที่มีต่อการประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะช่วยลด/แก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้หรือไม่

3. เพื่อต้องการทราบปัจจัยที่ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ได้ และวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องในความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

4. เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในทุกสาขาอาชีพ ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มกลุ่ม (Cluster Sampling) โดยการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 จังหวัดประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (เฉพาะพื้นที่เสี่ยงในบางอำเภอ) จากนั้นจึงทำการสุ่มเลือกอำเภอจำนวน 2 อำเภอในแต่ละจังหวัด และใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบพบตัว ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 427 คน เป็นชายร้อยละ 46.4 และหญิงร้อยละ 53.6

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 5% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน โดยเป็นข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิดให้ผู้ตอบระบุคำตอบเองโดยอิสระ (Open Form) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :   7 - 14 สิงหาคม 2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :   20 สิงหาคม 2555

ข้อมูลประชากรศาสตร์

                                                จำนวน        ร้อยละ
รวมทั้งหมด                                         427         100.0

เพศ

                    ชาย                          198          46.4
                    หญิง                          229          53.6

อายุ

                    18 - 25 ปี                     85          19.8
                    26 - 35 ปี                    117          27.4
                    36 - 45 ปี                    102          23.8
                    46 ปีขึ้นไป                     123          29.0

การศึกษา

                    ต่ำกว่าปริญญาตรี                 204          47.9
                    ปริญญาตรี                      199          46.5
                    สูงกว่าปริญญาตรี                  24           5.6

อาชีพ

                    ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ    140          32.9
                    พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน      47          10.9
                    ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว       48          11.2
                    รับจ้างทั่วไป                     57          13.4
                    เกษตรกร                       69          16.2
                    นักศึกษา                        39           9.2
                    พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ          12           2.7
                    อื่นๆ อาทิ อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น 15           3.5

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ