กรุงเทพโพลล์: “ประชาชนคิดอย่างไรกับการยื่นเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล”

ข่าวผลสำรวจ Friday October 26, 2012 10:19 —กรุงเทพโพลล์

ประชาชน 42.3% อยากให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือกมากที่สุด และ 61.4% เชื่อว่ารัฐบาลคงจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานใดๆ หลังจบอภิปรายฯ

เนื่องด้วยในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลต่อประธานสภาฯ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นประชาชนต่อการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจดังกล่าวศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,182 เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรกับการยื่นเปิดศึกซักฟอกรัฐบาล” ผลสำรวจพบว่า

เรื่องที่ประชาชนต้องการให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากที่สุดคือ เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก(ร้อยละ 42.3) เรื่องสินค้าราคาแพง(ร้อยละ 41.1) และเรื่องการบริหารจัดการน้ำ(ร้อยละ 30.4) ตามลำดับ เมื่อถามว่าการอภิปรายซักฟอกในครั้งนี้ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดที่จะนำมามาซักฟอกรัฐบาลหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 47.4 เชื่อว่าฝ่ายค้านคงไม่มีข้อมูลเด็ด ในจำนวนนี้ 24.8 เห็นข้อมูลที่จะอภิปรายคงเป็นเรื่องเดิมที่รู้กันอยู่แล้ว แต่ร้อยละ 22.6 เชื่อว่าแม้ไม่มีข้อมูลเด็ดแต่อาจมีข้อมูลดีๆ มาอภิปรายฯ ขณะที่ร้อยละ 19.5 เชื่อว่ามีข้อมูลเด็ดๆ แน่นอน

ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 61.4 เชื่อว่ารัฐบาลคงจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานใดๆ ภายหลังการอภิปรายฯ ครั้งนี้ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายฯ จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือก็ตาม โดยร้อยละ 18.8 ให้เหตุผลว่ารัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่านโยบายที่ทำ ดีอยู่แล้ว รองลงมาร้อยละ 15.2 บอกว่ารัฐบาลต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน และร้อยละ 14.1 บอกว่ารัฐบาลกลัวเสียผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ขณะที่ร้อยละ 38.6 คิดว่ารัฐบาลคงจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้รอบคอบและรัดกุมขึ้นตามข้อมูลที่ฝ่ายค้านอภิปราย

สำหรับเรื่องที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในการอภิปรายฯ ครั้งนี้คือ การพูดจาส่อเสียด หยาบคาย(ร้อยละ 20.9) การพูดนอกเรื่องและเลี่ยงไม่ตอบข้อเท็จจริง(ร้อยละ 19.8) และการไม่เคารพ/ไม่ให้เกียรติผู้ทำหน้าที่ประธานการประชุม (ร้อยละ 14.4) ตามลำดับ

          สุดท้ายเมื่อถามประชาชนว่าจะติดตามชมการอภิปรายฯที่จะมีขึ้นหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 41.8  บอกว่าจะติดตามชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นช่วงๆ เฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ รองลงมาร้อยละ 30.6 บอกว่าจะติดตามจากข่าวที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ และมีเพียงร้อยละ 10.2 ที่บอกว่าจะติดตามชมตลอดการอภิปรายฯ          รายละเอียดต่อไปนี้


1. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากที่สุด
- โครงการรับจำนำข้าวเปลือก                                    ร้อยละ 42.3
- สินค้าราคาแพง                                              ร้อยละ 41.1
- การบริหารจัดการน้ำ                                          ร้อยละ 30.4
- การไซฟ่อนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทที่เกาะฮ่องกง                      ร้อยละ 30.3
- โครงการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท                                 ร้อยละ 28.7
- ชายชุดดำที่ปรากฏตัวในการชุมนุมทางการเมือง (เม.ย-พ.ค 53)         ร้อยละ 28.3
- ภาระหนี้สินของประเทศ                                        ร้อยละ 26.7
- โครงการแจกแท็บเล็ตพีซีเด็ก ป.1                                ร้อยละ 22.7
- โครงการรถยนต์คันแรก                                        ร้อยละ 19.8

2. การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นนี้ ฝ่ายค้านจะมีข้อมูลเด็ดมาซักฟอกรัฐบาลหรือไม่
- คิดว่าไม่มีข้อมูลเด็ด               ร้อยละ 47.4

(โดย ร้อยละ 24.8 เห็นว่าข้อมูลที่จะอภิปรายคงเป็นเรื่องเดิมที่รู้กันอยู่แล้ว

ขณะที่ ร้อยละ 22.6 เชื่อว่าแม้ไม่มีข้อมูลเด็ดแต่ฝ่ายค้านอาจมีข้อมูลดีๆ มาอภิปราย)

- คิดว่ามีข้อมูลเด็ดๆ แน่นอน          ร้อยละ 19.5
- ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ                ร้อยละ 33.1

3. รัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานหรือไม่  หากข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายฯ ซักฟอกมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
- คงจะไม่มีการปรับเปลี่ยน                         ร้อยละ 61.4
          โดยให้เหตุผลว่า        เชื่อมั่นว่านโยบายที่ทำอยู่  ดีอยู่แล้ว             ร้อยละ18.8
                              ต้องทำตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน           ร้อยละ 15.2
                              กลัวเสียผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง          ร้อยละ 14.1
                              กลัวกระทบกับฐานเสียงทางการเมือง            ร้อยละ 8.0

กลัวเสียหน้า/เสียชั้นเชิงทางการเมืองแก่ฝ่ายค้าน ร้อยละ 5.3 - คงจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้รอบคอบและรัดกุมขึ้น ร้อยละ 38.6

4. เรื่องที่ประชาชนไม่อยากให้เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้มากที่สุด 5 อันดับแรก
- การพูดจาส่อเสียด หยาบคาย                          ร้อยละ 20.9
- การพูดนอกเรื่อง/เลี่ยงไม่ตอบข้อเท็จจริง                 ร้อยละ 19.8
- การไม่เคารพ/ไม่ให้เกียรติผู้ทำหน้าที่ประธาน              ร้อยละ 14.4
- การประท้วงโดยเดินออกจากที่ประชุมสภาฯ (walk out)     ร้อยละ 12.4
- การยกมือประท้วงที่มากเกินไป                         ร้อยละ 12.0

5. ความเห็นต่อการติดตามรับชมการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่คาดว่าจะมีในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ
- จะติดตามชมเป็นช่วงๆ/เฉพาะประเด็นที่น่าสนใจ            ร้อยละ 41.8
- จะติดตามจากข่าวที่สื่อต่างๆ นำมาเสนอ                  ร้อยละ 30.6
- จะติดตามชมตลอดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ                ร้อยละ 10.2
- คงไม่ติดตาม/ไม่อยากดู                              ร้อยละ 17.4

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้าน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ในประเด็นต่างๆ อาทิ การติดตามชมการอภิปรายฯ เรื่องที่ต้องการให้ฝ่ายค้านอภิปรายฯ รัฐบาล เรื่องที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นระหว่างการอภิปรายฯ ในสภา ทั้งนี้เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของประชาชนให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และนำไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศต่อไป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มจังหวัดในแต่ละภาค ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น เชียงรายเชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา มหาสารคาม สงขลาและสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,182 คน เป็นเพศชายร้อยละ 49.9 และเพศหญิงร้อยละ 50.1

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) และการสุ่มโทรศัพท์สัมภาษณ์ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  19 — 23 ตุลาคม 2555

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :   26 ตุลาคม 2555

ข้อมูลประชากรศาสตร์ของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน (คน) ร้อยละ เพศ

          ชาย                                590          49.9
          หญิง                                592          50.1
          รวม                              1,182         100.0

อายุ
          18 - 25 ปี                          259          21.9
          26 - 35 ปี                          319          27.0
          36 - 45 ปี                          300          25.4
          46 ปีขึ้นไป                           304          25.7
          รวม                              1,182         100.0

การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                       735          62.2
          ปริญญาตรี                            378          32.0
          สูงกว่าปริญญาตรี                        69           5.8
          รวม                              1,182         100.0

อาชีพ
          ข้าราชการ / พนักงานรัฐวิสาหกิจ          149          12.6
          พนักงาน / ลูกจ้าง บริษัทเอกชน           268          22.7
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว            360          30.5
          รับจ้างทั่วไป                          149          12.6
          เกษตรกร                             63           5.3
          พ่อบ้าน แม่บ้าน เกษียณอายุ                54           4.6
          นักศึกษา                              99           8.4
          อื่นๆ อาทิ  อาชีพอิสระ ว่างงาน เป็นต้น      40           3.3
          รวม                              1,182         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ