กรุงเทพโพลล์: ความพร้อมของประเทศไทยหากมีการเปิดเสรีอาเซียนในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ

ข่าวผลสำรวจ Thursday January 17, 2013 09:02 —กรุงเทพโพลล์

นักท่องเที่ยวต่างชาติ 83.9% เห็นว่าการท่องเที่ยวไทยพร้อมรองรับหากมีการเปิด AEC ยกไทยน่าเที่ยวสุดในอาเซียน เด่นด้านโบราณสถาน วัฒนธรรม แต่ติงปัญหารถติด การเอาเปรียบค่าโดยสารของแท๊กซี่ และการโก่งราคาสินค้า

ด้วยวันที่ 17-24 มกราคม 2556 จะมีการประชุมการท่องเที่ยวอาเซียน หรือ เอทีเอฟ (ASEAN Tourism Forum 2013) ขึ้นที่กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว เพื่อเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยในการเปิดเสรีการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในมิติความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความพร้อมของประเทศไทยหากมีการเปิดเสรีอาเซียนในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ” ขึ้น โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 11-13 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า

นักท่องเที่ยวต่างชาติระบุว่าจุดเด่นสำคัญที่ทำให้สนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทยอันดับแรกคือ โบราณสถานและโบราณวัตถุ (ร้อยละ 28.1) รองลงมาคือ วัฒนธรรมประเพณีและศิลปะพื้นบ้าน (ร้อยละ 20.4) และชายหาด ทะเล (ร้อยละ 14.3) ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าเชื่อมั่นต่อการให้ความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากน้อยเพียงใดร้อยละ 97.6 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด มีเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้นที่เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

ส่วนความเห็นต่อปัจจัยที่อาจทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยแย่ลงอันดับแรกคือ การจราจรติดขัด (ร้อยละ 37.2) รองลงมาคือการเอาเปรียบขึ้นค่าโดยสารของ แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก (ร้อยละ 23.2) และการโก่งราคาสินค้า ขายของแพง (ร้อยละ 20.7)

เมื่อสอบถามถึงความต้องการที่จะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกในครั้งถัดไปพบว่า ร้อยละ 85.0 จะกลับมาอีก ขณะที่ร้อยละ1.0 จะไม่กลับมาอีก และร้อยละ 14.0 ยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่ายินดีที่จะแนะนำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นมาเที่ยวประเทศไทยหรือไม่ ร้อยละ 96.3 จะแนะนำ ขณะที่ร้อยละ 3.7 ยังไม่แน่ใจ

ด้านความรู้สึกต่อการมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนเดินทางมากับเมื่อได้มาเที่ยวแล้วพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติร้อยละ 60.5 รู้สึกดีกว่าที่คาดหวังไว้ และร้อยละ 37.6 รู้สึกพอๆ กับที่คาดหวังไว้ มีเพียงร้อยละ 1.9 รู้สึกแย่กว่าที่คาดหวังไว้

สำหรับความเห็น “หากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากน้อยเพียงใด” ร้อยละ 83.9 เห็นว่าพร้อมค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 16.1 เห็นว่าพร้อมค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด

สุดท้ายเมื่อถามว่า “ประเทศที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในอาเซียนคือประเทศใด” พบว่าอันดับแรกคือ ประเทศไทย (ร้อยละ58.0) รองลงมาคือ ประเทศเวียดนาม (ร้อยละ 34.1) ประเทศกัมพูชา (ร้อยละ 30.6) ประเทศลาว (ร้อยละ 30.3) และประเทศสิงคโปร์ (ร้อยละ 26.1)

รายละเอียดดังต่อไปนี้

1. จุดเด่นสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจมาท่องเที่ยวประเทศไทย (5 อันดับแรก) คือ
โบราณสถานและโบราณวัตถุ           ร้อยละ          28.1
วัฒนธรรมประเพณีและศิลปะพื้นบ้าน      ร้อยละ          20.4
ชายหาด ทะเล                    ร้อยละ          14.3
อาหารไทย                       ร้อยละ          10.6
แหล่งช้อปปิ้ง                      ร้อยละ           7.4

2. ความเชื่อมั่นต่อการให้ความปลอดภัยกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย
เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 52.6  และมากที่สุดร้อยละ 45.0)          ร้อยละ          97.6
เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 2.0 และน้อยที่สุดร้อยละ 0.4)             ร้อยละ           2.4

3. ความเห็นต่อปัจจัยที่อาจทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศไทยแย่ลง (5 อันดับแรก) พบว่า
(เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
การจราจรติดขัด                                ร้อยละ          37.2
การเอาเปรียบขึ้นค่าโดยสารของ แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก          ร้อยละ          23.2
การโก่งราคาสินค้า ขายของแพง                    ร้อยละ          20.7
ความสะอาด                                   ร้อยละ          17.5
ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษของคนไทย    ร้อยละ          16.8

4. ความต้องการที่จะกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกในครั้งถัดไป พบว่า
จะกลับมาอีก            ร้อยละ          85.0
จะไม่กลับมาอีก          ร้อยละ           1.0
ยังไม่แน่ใจ             ร้อยละ          14.0

5. การยินดีที่จะแนะนำหรือบอกต่อให้ผู้อื่นมาเที่ยวประเทศไทย พบว่า
จะแนะนำ              ร้อยละ          96.3
จะไม่แนะนำ            ร้อยละ           0.0
ไม่แน่ใจ               ร้อยละ           3.7

6. ความรู้สึกต่อการมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนเดินทางมากับเมื่อได้มาเที่ยวแล้ว พบว่า
ดีกว่าที่คาดหวังไว้        ร้อยละ          60.5
พอๆ กับที่คาดหวังไว้      ร้อยละ          37.6
แย่กว่าที่คาดหวังไว้       ร้อยละ           1.9

7. ความเห็นต่อคำถามที่ว่า “หากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับ
นักท่องเที่ยวต่างชาติมากน้อยเพียงใด”
ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 61.1 และมากที่สุดร้อยละ 22.8)          ร้อยละ         83.9

ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 13.3 และน้อยที่สุดร้อยละ 2.8)           ร้อยละ         16.1

8. ความเห็นต่อข้อคำถามที่ว่า “ประเทศที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในอาเซียนคือประเทศใด” คือ
(เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ไทย              ร้อยละ          58.0
เวียดนาม          ร้อยละ          34.1
กัมพูชา            ร้อยละ          30.6
ลาว              ร้อยละ          30.3
สิงคโปร์           ร้อยละ          26.1
มาเลเซีย          ร้อยละ          25.8
อินโดนีเซีย         ร้อยละ          24.3
พม่า              ร้อยละ          20.6
ฟิลิปปินส์           ร้อยละ          19.5
บรูไน             ร้อยละ           3.9

รายละเอียดในการสำรวจ

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจครั้งนี้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป บริเวณแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาตินิยมไป 5 แห่งของกรุงเทพฯ ได้แก่ 1) ถนนข้าวสาร 2) ถนนสีลม 3) วัดพระแก้ว - วัดโพธิ์ 4) ประตูน้ำ - พระพรหม - แยกราชดำริ 5) สถานีรถไฟหัวลำโพง - ถนนเยาวราช ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 686 คน เป็นเพศชายร้อยละ 53.2 และเพศหญิงร้อยละ 46.8

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน +/-4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิด (Open Form) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล            :  11 - 13 มกราคม 2556

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ                :  17 มกราคม 2556

ข้อมูลประชากรศาสตร์

                            จำนวน        ร้อยละ
เพศ
            ชาย              365          53.2
            หญิง              321          46.8
          รวม                686         100.0

อายุ
            15 - 30 ปี        329          47.9
            31 - 40 ปี        207          30.2
            41 - 50 ปี         74          10.8
            51 - 60 ปี         48           7.0
            60 ปีขึ้นไป          28           4.1
          รวม                686         100.0

การศึกษา
            ต่ำกว่าปริญญาตรี     116          17.0
            ปริญญาตรี          288          42.0
            สูงกว่าปริญญาตรี     282          41.0
          รวม                686         100.0

ภูมิลำเนามาจากทวีป
            ทวีปยุโรป          419          61.1
            ทวีปอเมริกา         95          13.8
            ทวีปโอเชียเนีย       47           6.9
            ทวีปเอเชีย         121          17.6
            ทวีปแอฟริกา          4           0.6
          รวม                686         100.0

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ