ทีนี้มาดูผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 62 คน ที่กรุงเทพโพลล์สำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยเมื่อถามว่า “สถานะเศรษฐกิจในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าท่านคิดว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรเศรษฐกิจ” พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 63 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย รองลงมาร้อยละ 13 เห็นว่าอยู่ในช่วงขยายตัว ร้อยละ 8 เห็นว่าอยู่ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) และร้อยละ 3 เห็นว่าอยู่ในช่วงตกต่ำ (Trough) ส่วนร้อยละ 13 ขอไม่ลงความเห็น
ในส่วนข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่เราเรียกกันว่า สภาพัฒน์ฯ นั้น อยากให้ดูข้อมูล 2 ส่วนประกอบกันไป คือ อัตราการขยายตัวจีดีพีที่แท้จริง (real term) กับอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ปรับเอาปัจจัยฤดูกาลออก (การขยายตัวเศรษฐกิจในแต่ละปีส่วนหนึ่งจะขึ้นลงตามฤดูกาลยกตัวอย่างเช่น การส่งออกข้าวในแต่ละเดือนจะมีจำนวนที่แตกต่างกันคือช่วงหลักฤดูเก็บเกี่ยวก็จะมีการส่งออกข้าวมากแต่ช่วงที่กำลังเพาะปลูกก็จะมีการส่งออกข้าวน้อย ดังนั้นจึงใช้วิธีการทางสถิติปรับเอาปัจจัยฤดูกาลออก) ทั้งนี้นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2009 ที่ทำให้จีดีพีในปีนั้นติดลบ 3 ไตรมาสรวด แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีการขยายตัวมาตลอดและมาติดลบอีกครั้งในไตรมาส 4 ปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่เศรษฐกิจก็ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น แม้กระทั่งไตรมาสล่าสุดก็ยังคงขยายตัวร้อยละ 2.8 ขณะที่จีดีพีปรับฤดูกาลโดยปกติในแต่ละปีจะมีการขยายตัวติดลบแค่ 1 ไตรมาส (ยกเว้นปีที่ถูกน้ำท่วมใหญ่) หรือไม่มีเลย แต่ในปีนี้จีดีพีปรับฤดูกาลมีการติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาสรวดซึ่งแตกต่างจากรูปแบบของการขยายตัวในปีก่อนๆ อีกทั้งลักษณะการเติบโตของจีดีพีมีแนวโน้มลดลงนับจากปี 2010
ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า (1) เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอยในลักษณะชะลอตัวไม่ใช่หดตัว (2) การถดถอยที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการถดถอยตามวัฎจักรเศรษฐกิจไม่ใช่การถดถอยที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจ (3) การถดถอยที่เกิดขึ้นจะกินเวลาสั้นหรือยาวข้อมูลจีดีพีในไตรมาส 3 ของปีนี้น่าจะบอกได้
--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--