การสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 62 คน ของกรุงเทพโพลล์ บ่งชี้ว่านักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 61 คาดว่า GDP ปรับฤดูกาลจะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 3 นี้ มีเพียง ร้อยละ 31 ที่คาดว่าจะยังติดลบเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน และเมื่อศึกษารูปแบบการขยายตัวของ GDP ปรับฤดูกาลนับจากปี 1994 จนถึงปัจจุบันพบว่ามีเพียง 4 ปีเท่านั้นที่ GDP ปรับฤดูกาลติดลบ 2 ไตรมาสขึ้นไปในปีนั้นๆ คือ ปี 1997-1998 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ปี 2008 (วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์) และปี 2011 (วิกฤติมหาอุทกภัย) ขณะที่ปี 2013 นี้ เศรษฐกิจไทยกลับติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤติอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 3 จึงเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ทุกภาคส่วนเฝ้าจับตามองว่าจะเป็นอย่างไร กรณีที่ขยายตัวเป็นบวกได้ก็จะทำให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจกลับมา ภาวะติดลบที่เกิดขึ้น 2 ไตรมาสแรกเป็นเพียงการชะลอตัวในระยะสั้นๆ ของเศรษฐกิจ แต่หากติดลบอีกในไตรมาสที่ 3 จะมีคำถามที่ตามมาอีกมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัจจัยวิกฤติอะไรเกิดขึ้นเลยในช่วงที่ผ่านมา
ถัดมากรุงเทพโพลล์ได้สอบถามความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักรเศรษฐกิจ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 63 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงถดถอย รองลงมาร้อยละ18 เห็นว่าอยู่ในช่วงขยายตัว ร้อยละ 5 เห็นว่าอยู่ในช่วงตกต่ำ(Trough) และร้อยละ 3 เห็นว่าอยู่ ในช่วงรุ่งเรือง (Peak) เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนหน้าในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา แล้วแบ่งวัฏจักรออกเป็น 2 ฟากคือ ฟากเศรษฐกิจขยายตัวจนถึงจุดสูงสุด และ ฟากเศรษฐกิจถดถอยจนถึงจุดต่ำสุด จะพบว่า วัฏจักรมีการเคลื่อนสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า (1) GDP ปรับฤดูกาล ไตรมาส 3 จะขยายตัวเป็นบวกได้ (2) แม้จะมีการขยายตัวเป็นบวกแต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ขยายตัวในลักษณะลดน้อยถอยลง(3) กรณีที่ GDP ปรับฤดูกาลขยายตัวติดลบเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งเหนือความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่าน คงต้องย้อนกลับมามองว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่วิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทย
--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--