กรุงเทพโพลล์: “เศรษฐกิจไทยกับการปฏิรูป”

ข่าวผลสำรวจ Thursday January 23, 2014 08:59 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 83.4% ชี้เศรษฐกิจไทยต้องปฏิรูปด้วย โดยเฉพาะเรื่องคอร์รัปชั่นและนโยบายประชานิยม พร้อมเตือนหากไม่ปฏิรูปภายใน 10 ปีมีโอกาสได้เห็นเศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าไทยจะแข่งขันไม่ได้ ปัญหาหนี้สาธารณะลุกลาม และประเทศล้มละลายในท้ายที่สุด

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 32 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง “เศรษฐกิจไทยกับการปฏิรูป” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 8 – 17 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 83.4 เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปด้วย มีเพียงร้อยละ 8.3 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่จำเป็นต้องปฏิรูป โดยเรื่องที่ต้องการให้มีการปฏิรูปมากที่สุดคือ การขจัดคอร์รัปชั่น ส่งเสริมการแข่งขันที่โปร่งใส และเป็นธรรม (ร้อยละ 79.3) รองลงมาต้องการให้มีการปฏิรูปด้านการคลัง โดยเฉพาะประเด็นความยั่งยืนทางการคลังและการจำกัดนโยบายประชานิยมที่ไม่สมเหตุผล (ร้อยละ 51.0) ถัดมาต้องการให้มีการปฏิรูปด้านการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส (ร้อยละ 49.0)

นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 44.0 เตือนว่าหากประเทศไทยยังไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจใด ๆ คาดว่าภายใน 10 ปี สินค้าไทยจะแข่งขันไม่ได้ เศรษฐกิจตกต่ำ มีการว่างงานสูง และกินระยะเวลายาวนาน รองลงมาร้อยละ 18.0 คาดว่าปัญหาหนี้สาธารณะจะลุกลาม รุนแรง บานปลาย จนยากที่จะแก้ไข ฐานะการคลังไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีงบประมาณในการลงทุนจนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ และประเทศล้มละลาย

ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจได้รับการปฏิรูปนักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 42.0 คาดหวังว่าจะได้เห็นขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่นสูงต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะมากระทบ รองลงมาร้อยละ 21.0 คาดหวังจะได้เห็นภาพลักษณ์ประเทศที่ดีขึ้น คอร์รัปชั่นเป็นศูนย์ โปร่งใส และตรวจสอบได้

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
         นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องปฎิรูปด้วยหรือไม่
          ร้อยละ 83.4          เห็นว่า จำเป็นต้องปฎิรูป
          ร้อยละ  8.3          เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องปฎิรูป
          ร้อยละ  8.3          ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ

2. หากจำเป็นต้องปฏิรูป เศรษฐกิจไทยควรปฎิรูปในเรื่องใดเป็นการเร่งด่วน
          ร้อยละ 79.3          ปฏิรูปขจัดคอร์รัปชั่น ส่งเสริมการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม
          ร้อยละ 51.0          ปฏิรูปทางด้านการคลัง ความยั่งยืนทางการคลัง การจำกัดนโยบายประชานิยมที่ไม่สมเหตุผล
          ร้อยละ 49.0          ปฏิรูปการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และโอกาส
          ร้อยละ 32.7          ปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อเพิ่มผลิตทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ รวมถึงราคาสินค้าเกษตร
          ร้อยละ 31.3          ปฏิรูปเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก
          ร้อยละ 20.7          ปฏิรูปทางด้านการเงิน การเข้าถึงเงินทุนของชนชั้นรากหญ้า แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
          ร้อยละ 19.7          ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากร (เช่นที่ดิน) ที่ให้เป็นธรรม
          ร้อยละ  7.7          ปฏิรูปภาคการท่องเที่ยว เพื่อรักษาและเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว
          ร้อยละ  9.0          อื่นๆ คือ ปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การออกกฏหมายที่มิชอบ การขาดแรงงาน

รวมถึงทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านขนส่ง เป็นต้น

3. สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 10 ปี หากประเทศไทยยังไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจใด ๆ เลย
          ร้อยละ 44.0          สินค้าไทยแข่งขันไม่ได้ เศรษฐกิจตกต่ำ มีการว่างงานสูง กินระยะเวลายาวนาน
          ร้อยละ 18.0          ปัญหาหนี้สาธารณะลุกลาม รุนแรง บานปลาย จนยากที่จะแก้ไข ฐานะการคลังไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีงบ

ประมาณในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ จนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ประเทศล้มละลาย

          ร้อยละ 12.0          ภาพลักษณ์ประเทศไทยจะอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจล้าลัง ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

หรือแม้กระทั่งเวทีในภูมิภาค

          ร้อยละ 10.0          การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม / ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง / สังคมมีปัญหาและแตกแยก
          ร้อยละ  8.0          คอร์รัปชั่นทั่วหน้า
          ร้อยละ  8.0          อื่นๆ คือ ประชาชนหนี้สินล้นพ้นตัว / เศรษฐกิจอยู่ในภาวะ Middle income trap / ความวุ่นวาย

ทางการเมืองยังคงมีอยู่

หมายเหตุ : เป็นข้อคำถามปลายเปิดและมีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 50 คน

4. ภาพเศรษฐกิจไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าภายหลังการปฏิรูปที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหวังจะได้เห็น
          ร้อยละ 42.0          ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร เศรษฐกิจภาพรวมมีการเติบโต

อย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน และมีความยืดหยุ่นสูงต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะมากระทบ

          ร้อยละ 21.0          ภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้น คอร์รัปชั่นเป็นศูนย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้
          ร้อยละ 15.0          สังคมมีความเป็นธรรม เสมอภาค ความเหลื่มล้ำทางรายได้ลดลง ความขัดแย้งในสังคมลดลง
          ร้อยละ 13.0          ประเทศมั่นคงและมีบทบาทในเวทีระดับโลก ประชาชนมั่งคั่ง คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
          ร้อยละ  9.0          อื่นๆ คือ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค / มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น / มีความ

ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี / การดำเนินนโยบายการเงินการคลังมีความต่อเนื่อง

หมายเหตุ : เป็นข้อคำถามปลายเปิดและมีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความคิดเห็นทั้งหมด 47 คน

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยหากไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจใดๆ รวมถึงภาพประเทศไทยที่คาดหวังจะได้เห็นหลังการปฏิรูป

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 32 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์เคเคเทรด บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ สำนักวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  8 – 17 มกราคม 2557

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  23 มกราคม 2557

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                            23      38.3
          หน่วยงานภาคเอกชน                         26      43.3
          สถาบันการศึกษา                            11      18.4
                    รวม                           60       100
เพศ
          ชาย                                     34      56.7
          หญิง                                     26      43.3
                    รวม                           60       100
อายุ
          18 ปี – 25 ปี                              2       3.3
          26 ปี – 35 ปี                             21        35
          36 ปี – 45 ปี                             20      33.3
          46 ปีขึ้นไป                                17      28.4
                    รวม                           60       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                  3         5
          ปริญญาโท                                 44      73.3
          ปริญญาเอก                                13      21.7
                    รวม                           60       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                  11      18.3
          6-10 ปี                                  16      26.7
          11-15 ปี                                 10      16.7
          16-20 ปี                                  7      11.7
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                           16      26.6
                    รวม                           60       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ