กรุงเทพโพลล์: มาตรการเงินโอน แก้จน คนขยัน

ข่าวผลสำรวจ Wednesday August 27, 2014 10:11 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 54.5% สนันสนุนแนวคิด “มาตรการเงินโอน แก้จน คนขยัน” เพราะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือคนจน แต่ 31.8% ค้านเพราะไม่ต่างจากนโยบายประชานิยม

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง "มาตรการเงินโอน แก้จน คนขยัน" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 – 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 54.5 สนันสนุนแนวคิด “มาตรการเงินโอน แก้จน คนขยัน” โดยให้เหตุผลสำคัญว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และช่วยเหลือคนจน ขณะที่ร้อยละ 31.8 ไม่สนับสนุน โดยให้เหตุผลสำคัญว่า เป็นนโยบายประชานิยม ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ไม่ได้ช่วยให้คนขยันหางานหรือทำงานมากขึ้น

เมื่อถามว่านโยบายดังกล่าวจะมีความเป็นได้มากน้อยเพียงใดที่จะสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติภายในรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยร้อยละ 44.0 เห็นว่าเป็นไปได้มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 42.5 เห็นว่าเป็นไปได้น้อยถึงน้อยที่สุด

สำหรับข้อเสนอเพื่อลดข้อจำกัดในการตรวจสอบคุณสมบัติและพิสูจน์รายได้ของบุคคลผู้มีรายได้ต่ำ มีดังนี้

อันดับ 1 รัฐบาลควรหาวิธีดึงคนทำงานให้เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วสร้างฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับนายจ้าง ธนาคาร ภาคธุรกิจ และสรรพากร

อันดับ 2 ในทางปฏิบัติสามารถตรวจสอบได้ยาก ไม่มีผู้รับรองรายได้ ขาดฐานข้อมูลโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ทำงานรับจ้างอิสระ นอกจากนี้จะทำให้ต้นทุนในการตรวจสอบสูงโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่โอนให้คนจน

อันดับ 3 การตรวจสอบควรอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น หรืออาจมีทหารร่วมด้วยถ้าจำเป็น ต้องมีวิธีป้องกันการหลีกเหลี่ยงหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ รวมถึงต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากจงใจกระทำผิด

(โปรดพิจารณารายละเอียดผลสำรวจตามประเด็นข้อคำถามดังต่อไปนี้)

1. โดยหลักการแล้วท่านสนันสนุนแนวคิด “มาตรการ เงินโอน แก้จน คนขยัน” หรือไม่
ร้อยละ 54.5 สนับสนุน เพราะ

(1) ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ช่วยเหลือคนจน

(2) กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มอำนาจซื้อ และสร้างงานอาชีพ

(3) ขยายฐานข้อมูลภาษีให้กว้างขึ้น และดึงคนเข้าระบบภาษีให้มากขึ้น ร้อยละ 31.8 ไม่สนับสนุน เพราะ

(1) เป็นนโยบายประชานิยม ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพการผลิต (Productivity) ไม่ได้ช่วยให้คนขยันหางานหรือทำงานมากขึ้น

(2) อาจมีคนจนไม่จริงมายื่นขอรับเงินเกิดเป็น Moral Hazard ทำให้เกิดการขาดแรงจูงใจในการทำงาน และเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติโดยค่าตรวจสอบอาจสูงกว่าเงินที่โอนให้คนจน ร้อยละ 13.7 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

2. ท่านคิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่แนวคิด “มาตรการ เงินโอน แก้จน คนขยัน” จะสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติภายในรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ร้อยละ 6.1 มีความเป็นไปได้มากที่สุด (เป็นไปได้ 75%-100%)

ร้อยละ 37.9 มีความเป็นไปได้มาก (เป็นไปได้ 50%-74%)

ร้อยละ 25.8 มีความเป็นไปได้น้อย (เป็นไปได้ 25%-49%)

ร้อยละ 16.7 มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด (เป็นไปได้ 0%-24%)

ร้อยละ 13.5 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

3. ข้อเสนอเพื่อลดข้อจำกัดในการตรวจสอบคุณสมบัติและพิสูจน์รายได้ของบุคคลผู้มีรายได้ต่ำ

อันดับ 1 รัฐบาลควรหาวิธีดึงคนทำงานให้เข้ามาอยู่ในระบบ แล้วสร้างฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับนายจ้าง ธนาคาร ภาคธุรกิจ และสรรพากร

อันดับ 2 ในทางปฏิบัติสามารถตรวจสอบได้ยาก ไม่มีผู้รับรองรายได้ ขาดฐานข้อมูลโดยเฉพาะเกษตรการและผู้ทำงานรับจ้างอิสระ นอกจากนี้จะทำให้ต้นทุนในการตรวจสอบสูงโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่โอนให้คนจน

อันดับ 3 การตรวจสอบควรอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานท้องถิ่น หรืออาจมีทหารร่วมด้วยถ้าจำเป็น ต้องมีวิธีป้องกันการหลีกเหลี่ยงหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ รวมถึงต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากจงใจกระทำผิด

อันดับ 4 ไม่สนับสนุนนโยบายดังกล่าว เนื่องจากเป็นนโยบายประชานิยม และอาจมีคนจนไม่จริงมายื่นขอรับเงินเกิดเป็น Moral Hazard

          หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ต่อ "มาตรการเงินโอน แก้จน คนขยัน" ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับนโยบายดังกล่าว รวมถึงความเป็นไปได้ในการนำนโยบายดังกล่าวมาใช้ได้จริงภายในรัฐบาลชุดปัจจุบันเพื่อข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 29 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล        :  15 – 25 สิงหาคม 2557

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ            :  27 สิงหาคม 2557

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                              33        50
          หน่วยงานภาคเอกชน                           21      31.8
          สถาบันการศึกษา                              12      18.2
                    รวม                             66       100
เพศ
          ชาย                                       41      62.1
          หญิง                                       25      37.9
                    รวม                             66       100
อายุ
          18 ปี – 25 ปี                                1       1.5
          26 ปี – 35 ปี                               14      21.2
          36 ปี – 45 ปี                               27      40.9
          46 ปีขึ้นไป                                  23      34.9
          ไม่ระบุ                                      1       1.5
                    รวม                             66       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                    3       4.5
          ปริญญาโท                                   46      69.7
          ปริญญาเอก                                  17      25.8
                    รวม                             66       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                     5       7.5
          6-10 ปี                                    20      30.3
          11-15 ปี                                   11      16.7
          16-20 ปี                                   11      16.7
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                             18      27.3
          ไม่ระบุ                                      1       1.5
                    รวม                             66       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ