กรุงเทพโพลล์: “ข้อเสนอของสภาฯ ท่องเที่ยวที่เสนอให้ ลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี”

ข่าวผลสำรวจ Tuesday September 2, 2014 09:54 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 45.5% เท่ากันที่สนันสนุนและไม่สนับสนุนข้อเสนอลดหย่อน ภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี ผู้สนันสนุนให้เหตุผลว่า ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผู้ไม่สนับสนุนให้เหตุผลว่า ผู้ได้ประโยชน์ที่สำคัญคือผู้ที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว และธุรกิจบางกลุ่ม

ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง "ข้อเสนอของสภาฯ ท่องเที่ยวที่เสนอให้ ลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 – 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า

นักเศรษฐศาสตร์มีความคิดเห็นต่อข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่เสนอให้ นำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว (ค่าโรงแรมที่พัก/ค่าใช้บริการบริษัทนำเที่ยว) มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นสัดส่วนเท่ากัน คือเท่ากับร้อยละ 45.5

โดยกลุ่มที่เห็นด้วยได้ให้เหตุผลสนับสนุนที่สำคัญว่าจะเป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมให้คนหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศ

ส่วนกลุ่มที่ไม่สนับสนุนให้เหตุผลที่สำคัญว่า ผู้ได้ประโยชน์ที่สำคัญคือผู้ที่มีรายได้สูงอยู่แล้วและธุรกิจบางกลุ่ม ไม่ได้ช่วยคนรายได้น้อย

เมื่อถามต่อว่าข้อเสนอลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี ควรเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะสั้น หรือควรเป็นมาตรการระยะยาว ร้อยละ 45.5 เห็นว่าควรเป็นมาตรการระยะสั้น และในจำนวนนี้ร้อยละ 28.8 เห็นว่าไม่ควรเกิน 1 ปี

(โปรดพิจารณารายละเอียดผลสำรวจตามประเด็นข้อคำถามดังต่อไปนี้)

หมายเหตุ: รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้  เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
         นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด
1. ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จะเสนอแนวคิดนำค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว (ค่าโรงแรมที่พัก/ค่าใช้บริการบริษัทนำเที่ยว) มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงเงินรวมไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ร้อยละ 45.5 เห็นด้วย เพราะ

(1) เป็นการช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งเสริมให้คนหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศ

(2) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เพิ่มการจับจ่าย สร้างงานสร้างอาชีพ

(3) พลักดันให้ผู้ประกอบการมีการจดทะเบียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และช่วยพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว

ร้อยละ 45.5 ไม่เห็นด้วย เพราะ

(1) ผู้ได้ประโยชน์ที่สำคัญคือผู้ที่มีรายได้สูงอยู่แล้ว และธุรกิจบางกลุ่ม ไม่ได้ช่วยคน รายได้น้อย

(2) การท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีอยู่แล้ว อีกทั้งการมีวันหยุดเยอะก็ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงควรนำเงินงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นดีกว่า เช่น ช่วยเหลือ sector ที่มีปัญหาหรือนำไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานน่าจะเหมาะสมกว่า

(3) การท่องเที่ยวไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐาน นักท่องเที่ยวมีความเต็มใจจ่ายอยู่แล้ว

(4) อื่นๆ คือ ตรวจสอบยาก/เป็นภาระงบประมาณ/ยกเลิกกฏอัยการศึกน่าจะดีกว่า/นำงบประมาณไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน่าจะเหมาะสมกว่า

ร้อยละ 9.0 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

2. ท่านคิดว่าแนวคิดลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี ควรเป็นมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในระยะสั้น หรือควรเป็นมาตรการระยะยาว
ร้อยละ 45.5 ควรเป็นมาตรการระยะสั้น โดย...

ร้อยละ 3.0 ไม่ควรเกิน 3 เดือน

ร้อยละ 9.1 ไม่ควรเกิน 6 เดือน

ร้อยละ 28.8 ไม่ควรเกิน 1 ปี

ร้อยละ 4.6 อื่นๆ ไม่ควรเกิน 2-5 ปี ร้อยละ 16.7 ควรเป็นมาตรการระยะยาว ร้อยละ 34.8 ไม่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว ร้อยละ 3.0 ไม่ตอบ/ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อสะท้อนความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ว่าเห็นด้วยหรือไม่ต่อ "ข้อเสนอของสภาฯ ท่องเที่ยวที่เสนอให้ ลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว 20,000 บาทต่อปี" รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้มาตรการดังกล่าว เพื่อข้อมูลการสำรวจจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 29 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์ภัทร บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล          :  15 – 25 สิงหาคม 2557

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ              :  2 กันยายน 2557

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                              33        50
          หน่วยงานภาคเอกชน                           21      31.8
          สถาบันการศึกษา                              12      18.2
                    รวม                             66       100
เพศ
          ชาย                                       41      62.1
          หญิง                                       25      37.9
                    รวม                             66       100
อายุ
          18 ปี – 25 ปี                                1       1.5
          26 ปี – 35 ปี                               14      21.2
          36 ปี – 45 ปี                               27      40.9
          46 ปีขึ้นไป                                  23      34.9
          ไม่ระบุ                                      1       1.5
                    รวม                             66       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                    3       4.5
          ปริญญาโท                                   46      69.7
          ปริญญาเอก                                  17      25.8
                    รวม                             66       100
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                     5       7.5
          6-10 ปี                                    20      30.3
          11-15 ปี                                   11      16.7
          16-20 ปี                                   11      16.7
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                             18      27.3
          ไม่ระบุ                                      1       1.5
                    รวม                             66       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ