กรุงเทพโพลล์: “สภาพคล่องทางการเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม”

ข่าวผลสำรวจ Friday May 8, 2015 09:39 —กรุงเทพโพลล์

ผู้ปกครองกว่า 70 % ระบุค่าใช้จ่ายเรื่องการเรียนของลูกเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาปีนี้เตรียมเงินไว้ซื้ออุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ประมาณ 4,000 บาทต่อคน 47% ยอมรับมีปัญหาเงินไม่พอค่าใช้จ่ายของลูกในช่วงเปิดเทอม ต้องหยิบยืมเงิน ให้ลูกใช้ชุดเก่าไปก่อน

ช่วงใกล้เปิดเทอม นับเป็นช่วงเวลาที่แทบทุกครอบครัวต่างมีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของบุตร ไม่ว่าจะเป็น ค่าเทอม ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน ตลอดจนค่าอุปกรณ์การเรียนต่างๆ กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “สภาพคล่องทางการเงินของผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม” โดยเก็บข้อมูลจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนอยู่ในระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษา ทั้งสังกัดโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้น 1,183 คน พบว่า

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ร้อยละ 70.8 ระบุว่าปีนี้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของบุตรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาร้อยละ 25.2 ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม และมีเพียงร้อยละ 4.0 เท่านั้นที่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายลดลง โดยงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการเรียนให้ลูกเฉลี่ยประมาณ 4,000 บาท ต่อคน (ไม่รวมค่าเทอม)

สำหรับในช่วงเปิดเทอมนี้พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 53.0 ระบุว่าไม่มีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เนื่องจากได้แบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว ขณะที่ผู้ปกครองร้อยละ 47.0 ระบุว่ามีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้นและสินค้าเกี่ยวกับการเรียนแพงขึ้น

ส่วนวิธีการแก้ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายนั้น ผู้ปกครองร้อยละ 16.1 ใช้วิธีขอยืมเงินจากญาติ/ พี่น้อง /เพื่อน รองลงมาร้อยละ 15.0 ใช้วิธีให้ลูกใช้เสื้อผ้า /อุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้วไปก่อน และร้อยละ 12.7 ใช้วิธีลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้า / อุปกรณ์ต่างๆ

สำหรับความเห็นต่อโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของภาครัฐ ผู้ปกครองร้อยละ 32.0 ระบุว่าช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมาก ขณะที่ ร้อยละ 30.5 ระบุว่า ช่วยไม่ค่อยได้

เมื่อถามต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 35.2 ระบุว่าได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 29.8 ระบุว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์

สุดท้ายเมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนของโรงเรียนที่สัมผัสได้จากลูกพบว่า ร้อยละ 50.4 พอใจค่อนข้างมาก ขณะที่ร้อยละ 12.3 ไม่ค่อยพอใจ

โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายในเรื่องการเรียนของบุตรในปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น                                              ร้อยละ 70.8
มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม                                             ร้อยละ 25.2
มีค่าใช้จ่ายลดลง                                               ร้อยละ  4.0

2. การเตรียมเงินสำหรับซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า กระเป๋านักเรียน ฯลฯ (ไม่รวมค่าเทอม) ต่อบุตร 1 คน เฉลี่ยเป็นเงินประมาณ 4,000 บาท

3. มีปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมของบุตรหรือไม่
ไม่มีปัญหา                                     ร้อยละ  53.0

โดยให้เหตุผลว่า

          - แบ่งเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้อยู่แล้ว                  ร้อยละ 26.4
          - รายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม               ร้อยละ 18.2
          - ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ                            ร้อยละ  7.6
          - อื่นฯ อาทิ เจ้านายออกให้ ไม่ได้ซื้อ ใช้ของเก่า            ร้อยละ  0.8

มีปัญหา                                        ร้อยละ 47.0

โดยให้เหตุผลว่า

          - มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพิ่มมากขึ้น                   ร้อยละ 16.5
          - สินค้าเกี่ยวกับการเรียนแพงขึ้น                         ร้อยละ 11.8
          - รายได้ / รายรับลดลง                              ร้อยละ  8.6
          - โรงเรียนมีค่าเทอม/ค่าบำรุง/ค่ากิจกรรมเพิ่มขึ้น            ร้อยละ  5.2
          - เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเบิกได้ล่าช้า                    ร้อยละ  2.2
          - อื่นๆ อาทิ ตกงาน จำนวนบุตรเข้าเรียนเพิ่มขึ้น             ร้อยละ  2.7

4.  วิธีการที่ผู้ปกครองใช้ในการแก้ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่าย คือ (ถามเฉพาะผู้ที่ตอบว่ามีปัญหา)
ขอยืมเงินจากญาติ/ พี่น้อง /เพื่อน                                  ร้อยละ 16.1
ใช้เสื้อผ้า /อุปกรณ์การเรียนของปีที่แล้วไปก่อน                         ร้อยละ 15.0
ลดปริมาณการซื้อเสื้อผ้า / อุปกรณ์ต่างๆ                              ร้อยละ 12.7
ทำงานพิเศษ/โอทีเพิ่มขึ้น                                         ร้อยละ  9.3
กู้เงินนอกระบบ                                                ร้อยละ  8.3
จำนำทรัพย์สิน                                                 ร้อยละ  6.5
ผ่อน/เลื่อนการจ่ายค่าเทอมกับโรงเรียน                              ร้อยละ  5.8
อื่นๆ อาทิ ขายของมีค่า กู้ธนาคาร/ใช้บัตรเครดิต                       ร้อยละ  3.3

5. ความเห็นต่อโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของภาครัฐเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง
ช่วยได้มาก                                                   ร้อยละ 22.0
ช่วยได้ค่อนข้างมาก                                             ร้อยละ 32.0
ช่วยไม่ค่อยได้                                                 ร้อยละ 30.5
ช่วยไม่ได้เลย                                                 ร้อยละ 15.5

6. ความเห็นต่อประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการเรียนฟรี 15 ปี ของภาครัฐ
ได้ประโยชน์มาก                                               ร้อยละ 20.6
ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก                                         ร้อยละ 35.2
ไม่ค่อยได้ประโยชน์                                             ร้อยละ 29.8
ไม่ได้ประโยชน์เลย                                             ร้อยละ 14.4

7. ความพึงพอใจต่อคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนที่สัมผัสได้จากลูกๆ คือ
พอใจมาก                                                    ร้อยละ 36.7
พอใจค่อนข้างมาก                                              ร้อยละ 50.4
ไม่ค่อยพอใจ                                                  ร้อยละ 12.3
ไม่พอใจเลย                                                  ร้อยละ  0.6

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์ในการสำรวจ

เพื่อสอบถามความคิดเห็นของผู้ปกครองที่มีบุตรเรียนในระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษา เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าเล่าเรียนของบุตรในเทอมนี้เทียบกับปีที่ผ่านมา ปัญหาเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ตลอดจนสาเหตุและวิธีแก้ปัญหา รวมถึงความเห็นต่อการสนับสนุนด้านการศึกษาของภาครัฐ และความพึงพอใจที่มีต่อคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียน ทั้งนี้เพื่อให้สังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ระเบียบวิธีการสำรวจ

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่มีบุตรเรียนในระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษา ที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Sampling) โดยสุ่มเขตการปกครองทั้งเขตชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ได้แก่ เขตดินแดง ดุสิต ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางเขน บางซื่อ บางบอน บางพลัด บางรัก บึงกุ่ม ปทุมวัน ประเวศ ป้อมปราบฯ พญาไท พระนคร ภาษีเจริญ มีนบุรี ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ สวนหลวง และสาทร สำหรับปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ จากนั้นจึงสุ่มถนน และประชากรเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบ ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 1,183 คน

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

ในการประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์แบบพบตัว (Face-to-face Interview) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และคำถามปลายเปิด (Open Ended) จากนั้นคณะนักวิจัยได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล           :  30 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2558

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ               :  8 พฤษภาคม 2558

ข้อมูลประชากรศาสตร์

จำนวน ร้อยละ อายุ

          20 ปี - 30 ปี                             172      14.5
          31 ปี - 40 ปี                             484      40.9
          41 ปี - 50 ปี                             451      38.1
          51 ปี - 60 ปี                              76       6.5
          รวม                                   1,183       100
การศึกษา
          ต่ำกว่าปริญญาตรี                            877      74.1
          ปริญญาตรี                                 270      22.8
          สูงกว่าปริญญาตรี                             36       3.1
          รวม                                   1,183       100
อาชีพ
          ข้าราชการ / รัฐวิสาหกิจ                     108       9.1
          พนักงาน / ลูกจ้างบริษัทเอกชน                 406      34.3
          ค้าขาย / ประกอบอาชีพส่วนตัว                 468      39.6
          เจ้าของกิจการ                              44       3.7
          ทำงานให้ครอบครัว                           10       0.8
          พ่อบ้าน / แม่บ้าน / เกษียณอายุ                142        12
          ว่างงาน /รอฤดูกาล / รวมกลุ่ม                  5       0.5
          รวม                                   1,183       100
ประเภทของโรงเรียนที่บุตรศึกษาอยู่
          โรงเรียนรัฐบาล                            753      63.7
          โรงเรียนเอกชน                            352      29.8
          โรงเรียนรัฐบาลและเอกชน                     78       6.5
          รวม                                   1,183       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ