กรุงเทพโพลล์: “ปฏิรูปหวยไม่ง่าย แต่ไม่ใช่ทำไม่ได้”

ข่าวผลสำรวจ Monday June 15, 2015 09:33 —กรุงเทพโพลล์

กรุงเทพโพลล์ชี้วิธีแก้การขายสลากกินแบ่งฯ เกินราคาที่ดีที่สุด คือ “การขายผ่านออนไลน์”

นายกิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีมาตั้งแต่ต้นนับตั้งแต่ได้เข้ามาบริหารประเทศ หากยังคงจำกันได้ ปัญหานี้ได้มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเมื่อช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลเข้ามาทำงานใหม่ๆ และหวยใต้ดินก็มีการหยุดหรือชะลอการขายด้วยโดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่มีการยึดอำนาจ แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไม่กี่เดือนทุกอย่างก็กลับมาอยู่ในสภาพเดิม สลากกินแบ่งรัฐบาลก็ขายในราคาเกิน 80 บาท หวยใต้ดินก็มีการซื้อขายเหมือนเดิม แสดงให้เห็นว่าการปฏิรูปหวยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายแม้ว่ารัฐบาลที่บริหารประเทศจะเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม และมีอำนาจตามมาตรา 44 ซึ่งครั้งนี้จะกล่าวเฉพาะการแก้ปัญหาสลากฯ ส่วนหวยใต้ดินจะกล่าวในโอกาสต่อๆ ไป

สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าการแก้ปัญหาการขายสลากฯ เกินราคาไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์ ที่พบว่า การออกสลากในงวดวันที่ 16 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 76.5% พบเห็นการขายหรือซื้อสลากฯ ในราคา 80 บาทตามที่รัฐบาลกำหนด แต่ในมุมกลับย่อมสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่เหลืออีก 23.5% หรือประมาณเกือบ 1 ใน 4 ยังพบเห็นการขายสลากเกินราคา แล้วเมื่อถามว่า “รัฐบาลจะควบคุมราคาสลากฯ ให้ขายในราคา 80 บาทได้ทุกงวดหรือไม่” มีเพียง 26.8% ที่บอกว่า “ทำได้ทุกงวด” ขณะที่ 53.2% บอกว่า “ไม่ได้หรือทำได้เฉพาะช่วงแรกๆ เท่านั้น” ที่เหลือ 20.0% “ไม่แน่ใจ”

ดังนั้น สิ่งที่สังคมอยากรู้ถัดมาคือ “ในเมื่อการปฏิรูปหวยไม่ง่าย แล้วสามารถทำได้ไหม?” คำตอบของคำถามนี้คือ “ทำได้” ซึ่งสามารถวิเคราะห์โดยหลักพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ในเรื่องอุปสงค์ อุปทาน ดังนี้

สินค้าที่กำลังพูดถึงคือ สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งแต่ละงวดมีคนซื้อประมาณ 4 ใน 5 หรือคิดเป็นประมาณ 40 ล้านคน หากแต่ละงวดสามารถขายสลากฯ ได้หมดรวม 74 ล้านฉบับนั้น เท่ากับคนไทย 1 คนซื้อสลากเท่ากับ 1.85 ใบ แม้ว่าราคาที่ขายอยู่จะสูงกว่าราคาหน้าสลากฯ ก็ตาม ข้อมูลตรงนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าอุปสงค์ต่อราคามีความยืดหยุ่นน้อย หมายความว่า ราคาที่สูงขึ้นไม่ทำให้ปริมาณซื้อลดลงหรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า “แม้สลากราคาจะสูงขึ้นแต่ก็ยังขายได้” สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากความต้องการของผู้ซื้อ หรือ “ความหวังของคนจน” อย่างที่ท่านนายกฯ บอก ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือประเทศไทยมีคนยากจนอยู่มาก และสิ่งเดียวที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้หลุดพ้นจากความจนได้ง่ายและเร็วที่สุดคือการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล นี่คือความหวังแม้จะเป็นความหวังแบบลมๆ แล้งๆ ก็ตาม ความหวังเมื่อรวมกับความเชื่อ เราจึงเห็นการจัดเลขดัง การจัดเลขชุด การปั่นกระแส การสร้างข่าวต่างๆ เป็นต้น เมื่อบวกกับการขายที่ขายเป็นคู่ ขายเป็นชุด ไม่มีการซอยย่อย จึงทำให้เห็นสลากฯ ราคาแพงในปัจจุบัน

การแก้ไขหรือมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกมาในตอนนี้จึงเชื่อว่าทำได้ไม่ทุกงวดและปัญหาเดิมๆ จะกลับมาอีก ทางแก้ที่ดีที่สุดจึงมีไม่มากและหนึ่งในนั้นคือ “การขายแบบออนไลน์” ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ มีการรองรับและเข้าถึงประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะการมีสมาร์ทโฟน (smart phone) การขายแบบออนไลน์จะทำให้ความต้องการขายหรืออุปทานมีไม่จำกัด ทำให้สามารถควบคุมราคาได้ตามที่กำหนด ที่เหลือก็เพียงแค่ “ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล” และการบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯ เพื่อไม่ให้ขาดทุน

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมนำกำไรที่ได้ไปช่วยเหลือคนพิการ เปลี่ยนอาชีพให้กับเขา ให้สวัสดิการต่างๆ แก่เขา รวมถึงคนอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากสังคมด้วย

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ