กรุงเทพโพลล์: “Digital Economy คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจไทย”

ข่าวผลสำรวจ Monday December 14, 2015 10:34 —กรุงเทพโพลล์

นักเศรษฐศาสตร์ 53.7% มองเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นอนาคตใหม่ของเศรษฐกิจไทย เติบโตปีละ 11% ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยให้หลุนจากกำดักรายได้ปานกลาง ช่วยเพิ่มขีดแข่งขัน และช่วยลดความไม่เท่าเทียม

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 67 คน เรื่อง “Digital Economy คลื่นลูกใหม่เศรษฐกิจไทย” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 17-23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ผลสำรวจมีดังนี้

นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 68.7 เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าประมาณ 10% ของจีดีพี จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า รองลงมาร้อยละ 25.4 มองว่าจะช่วยได้มาก ขณะที่ร้อยละ 4.4 มองว่าไม่ช่วย นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์จำนวน 24 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 35.8 คาดว่าในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 11 ต่อปี

เมื่อถามว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยประเทศไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 58.2 มองว่าจะ “ช่วยได้บ้าง” รองลงมาร้อยละ 28.4 มองว่าจะ “ไม่ช่วย” ขณะที่ร้อยละ 11.9 เห็นว่าจะ “ช่วยได้มาก” นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 67.2 เห็นว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้บ้างเป็นบางส่วน ขณะที่ร้อยละ 29.8 มองว่าจะช่วยได้มาก มีเพียงร้อยละ 3.0 ที่เห็นว่า “ไม่ช่วย”

สำหรับประเด็น เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยสร้างความเท่าเทียมกันในด้านโอกาสของคนในสังคมได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 55.2 บอกว่า “พอจะช่วยได้บ้าง” รองลงมาร้อยละ 19.4 “จะช่วยได้มาก” ซึ่งเท่ากับกลุ่มที่เห็นว่า “จะไม่ช่วย”

สุดท้ายเมื่อถามว่า โดยสรุปแล้วคิดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นอนาคตใหม่ของเศรษฐกิจไทยหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.7 เห็นว่า “ถือเป็นอนาคตใหม่” รองลงมาร้อยละ 31.3 ไม่ถือเป็นอนาคตใหม่

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล มีดังนี้

อันดับ 1 สร้างความชัดเจนว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร จะขับเคลื่อนอย่างไร จะวัดผลการดำเนินงานด้วยวิธีใด มีกฎหมายและมาตรการรองรับที่ชัดเจนอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงสื่อสารกับประชาชนและภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ ให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อันดับ 2 เสนอให้มีหน่วยงานดูแลโดยตรงอย่างเร่งด่วน เช่น กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสื่อสารกับประชาชน/ภาคเอกชน เพื่อเตรียมบุคลากร รวมถึงพัฒนาทุนมนุษย์รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

อันดับ 3 เศรษฐกิจดิจิทัลต้องเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชนทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอาชีพ สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสมอันจะช่วยให้คนของเราเก่งขึ้น ช่วยสร้างโอกาสและลดความไม่เท่าเทียม

(โปรดพิจารณารายละเอียดของผลสำรวจดังต่อไปนี้)

1. เศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าประมาณ 10% ของจีดีพี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใดในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า
          ร้อยละ 25.4           ช่วยได้มาก
          ร้อยละ 68.7           ช่วยได้บ้าง
          ร้อยละ 4.4            ไม่ช่วย
          ร้อยละ 1.5            ไม่ตอบ/ไม่ทราบ

2. นักเศรษฐศาสตร์ 24 คน (35.8%) คาดว่าในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีการเติบโตโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 11 %

3. เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยประเทศไทยให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้บ้างหรือไม่
          ร้อยละ 11.9           ช่วยได้มาก
          ร้อยละ 58.2           ช่วยได้บ้าง
          ร้อยละ 28.4           ไม่ช่วย
          ร้อยละ 1.5            ไม่ตอบ/ไม่ทราบ

4. เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยในระดับใด
          ร้อยละ 29.8           ช่วยได้มาก
          ร้อยละ 67.2           ช่วยได้บ้าง
          ร้อยละ 3.0            ไม่ช่วย

5. เศรษฐกิจดิจิทัลจะช่วยสร้างความเท่าเทียมกันในด้านโอกาสของคนในสังคมได้บ้างหรือไม่
          ร้อยละ 19.4           ช่วยได้มาก
          ร้อยละ 55.2           ช่วยได้บ้าง
          ร้อยละ 19.4           ไม่ช่วย
          ร้อยละ 6.0            ไม่ตอบ/ไม่ทราบ

6. โดยสรุปแล้วท่านคิดว่า เศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นอนาคตใหม่ของเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่
          ร้อยละ 53.7           ถือเป็นอนาคตใหม่
          ร้อยละ 31.3           ไม่ถือเป็นอนาคตใหม่
          ร้อยละ 15.0           ไม่ตอบ/ไม่ทราบ

7. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

อันดับ 1 สร้างความชัดเจนว่าเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร จะขับเคลื่อนอย่างไร จะวัดผลการดำเนินงานด้วยวิธีไหน มีกฎหมายและมาตรการรองรับที่ชัดเจนอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงสื่อสารกับประชาชนและภาคเอกชน รวมถึงภาครัฐ ให้มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อันดับ 2 เสนอให้มีหน่วยงานดูแลโดยตรงมาดูแลอย่างเร่งด่วน เช่น กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสื่อสารกับประชาชน/ภาคเอกชน เพื่อเตรียมบุคลากรรวมถึงพัฒนาทุนมนุษย์รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล

อันดับ 3 เศรษฐกิจดิจิทัลต้องเป็นเศรษฐกิจที่ประชาชนทุกภูมิภาค ทุกกลุ่มอาชีพ สามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้อันจะช่วยให้คนของเราเก่งขึ้น ช่วยสร้างโอกาสและลดความไม่เท่าเทียม

อันดับ 4 การดำเนินการต้องให้เอกชนเป็นผู้นำ รัฐเป็นผู้สนับสนุน โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ภาคบริการ SMEs สามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพ

อันดับ 5 อื่นๆ ส่งเสริมให้คนใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อการศึกษา สุขภาพ โอกาสทางธุรกิจ มากกว่าการใช้ประโยชน์เพียงเพื่อ socialize / ยกเลิก single gate way / การดำเนินการต้องไม่มีคอร์รัปชั่น / จัดให้ทุกกลุ่มคนในสังคมเข้ามาสู่ระบบภาษีมากขึ้น/

หมายเหตุ:  รายงานผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ฉบับนี้ เป็นการสำรวจความเห็นส่วนตัวของ
          นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมิได้สื่อถึงแนวนโยบายขององค์กรที่นักเศรษฐศาสตร์สังกัดอยู่แต่อย่างใด

รายละเอียดในการสำรวจ

วัตถุประสงค์

เพื่อทราบความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในมิติการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างความเท่าเทียมกันให้กับสังคม ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งผลสำรวจที่ได้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป

กลุ่มตัวอย่าง

เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในสาขาเศรษฐศาสตร์ (กรณีสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์เฉพาะปริญญาตรี หรือปริญญาโท หรือปริญญาเอก อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องมีประสบการณ์ในการทำงานด้านวิเคราะห์/วิจัย/หรืองานที่เกี่ยวข้องที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์อย่างน้อย 5 ปีจนถึงปัจจุบัน) ที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านการวิเคราะห์ วิจัยเศรษฐกิจระดับชั้นนำของประเทศ จำนวน 29 แห่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บริษัทหลักทรัพย์เอเชียพลัส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย บริษัททิพยประกันชีวิต คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร สำนักวิชาเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพัฒนาการเศรษฐกิจสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การสำรวจนี้เป็นการวิจัยโดยการเลือกตัวอย่างประชากรโดยไม่อาศัยหลักความน่าจะเป็น (Non-probability sampling) แต่ละหน่วยตัวอย่างที่จะได้รับการเลือก จึงเป็นการเลือกตัวอย่างประชากรแบบเจาะจง (Purposive sampling) และดำเนินการรวบรวมข้อมูลโดยการส่งแบบสอบถามออนไลน์ไปยังนักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยงานที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด

          ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล          :  17-23 พฤศจิกายน 58

          วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ              :  13 ธันวาคม 58

ข้อมูลรายละเอียดของกลุ่มตัวอย่าง

จำนวน ร้อยละ ประเภทของหน่วยงานที่กลุ่มตัวอย่างทำงานอยู่

          หน่วยงานภาครัฐ                                         33      49.3
          หน่วยงานภาคเอกชน                                      22      32.8
          สถาบันการศึกษา                                         12      17.9
          รวม                                                  67       100
เพศ
          ชาย                                                  43      64.2
          หญิง                                                  24      35.8
          รวม                                                  67       100
อายุ
          26 ปี – 35 ปี                                          13      19.4
          36 ปี – 45 ปี                                          31      46.3
          46 ปีขึ้นไป                                             21      31.3
          ไม่ระบุ                                                 2         3
          รวม                                                  67       100
การศึกษา
          ปริญญาตรี                                               3       4.5
          ปริญญาโท                                              47      70.1
          ปริญญาเอก                                             15      22.4
          ไม่ระบุ                                                 2         3
ประสบการณ์ทำงานรวม
          1-5  ปี                                                6         9
          6-10 ปี                                               15      22.4
          11-15 ปี                                              17      25.4
          16-20 ปี                                               8      11.9
          ตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป                                        19      28.4
          ไม่ระบุ                                                 2       2.9
          รวม                                                  67       100

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ