กรุงเทพโพลล์: ความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ (15-25 ปี)

ข่าวผลสำรวจ Wednesday January 6, 2016 09:06 —กรุงเทพโพลล์

ความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนไทยรุ่นใหม่ (15-25 ปี)

สำรวจเมื่อ เดือนธันวาคม 2558

ดำเนินการโดย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และเครือข่ายเสียงประชาชน

การสำรวจครั้งนี้ เป็นการสำรวจความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี จำนวน 2,750 คน ในพื้นที่ 20 จังหวัด ดำเนินการโดย มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และเครือข่ายเสียงประชาชน ในช่วงวันที่ 1-15 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และผู้อำนวยการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ รายงานผลการสำรวจว่า โดยภาพรวม เยาวชนรุ่นใหม่ไทยมีความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตในระดับสูง โดยมีค่าคะแนนความพึงพอใจในชีวิต 8.25 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และค่าคะแนนความเชื่อมั่นว่าตนเองจะมีอนาคตที่สดใสอยู่ในระดับคะแนน 8.16 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

การสำรวจพบว่า ครอบครัวยังเป็นแหล่งพลังใจที่สำคัญที่สุด ในการช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความพึงพอใจในชีวิต ซึ่งจะเห็นได้จากค่าคะแนนความพึงพอใจในชีวิตด้านครอบครัวสูงที่สุดที่ระดับคะแนน 8.43 และค่าความเชื่อมั่นว่าคนในครอบครัวจะไม่ทิ้งกันอยู่ในระดับคะแนน 8.67 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน

อย่างไรก็ดี เยาวชนรุ่นใหม่ที่คิดว่าตนมีฐานะขัดสนจะมีความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนที่คิดว่าตนมีฐานะพอมีพอกิน และมีฐานะร่ำรวย โดยเยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะยากจนขัดสนมีความพึงพอใจในชีวิตในระดับ 7.46 เยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะพอมีพอกิน มีความพึงพอใจในชีวิตในระดับ 8.27 เยาวชนที่รู้สึกว่าตนมีฐานะร่ำรวย มีความพึงพอใจในชีวิตสูงสุดในระดับ 8.56

ส่วนผลการสำรวจในด้านที่สัมพันธ์กับจังหวัดของตนเอง ดร. เดชรัต สุขกำเนิด สรุปว่า”เยาวชนรุ่นใหม่ไทยมีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของจังหวัดที่ตนอยู่ (8.30 เต็ม 10 คะแนน) มีความภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ (8.73 เต็ม 10 คะแนน) และมีความเชื่อมั่นในอนาคตการพัฒนาของจังหวัดที่ตนอยู่ในระดับสูง (8.24 เต็ม 10 คะแนน) โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มเยาวชนที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดจะมีความพอใจและภูมิใจมากกว่าเยาวชนที่มิได้อาศัยอยู่ในภูมิลำเนาบ้านเกิด” “นอกจากนี้ เยาวชนรุ่นใหม่ร้อยละ 85.3 มีความต้องการใช้ชีวิตในจังหวัดที่ตนอยู่ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคกลาง สูงถึง ร้อยละ 93.0 ที่ต้องการอาศัยอยู่ในจังหวัดของตนเอง” ดร.เดชรัต ชี้

ส่วนคำถามที่ถามว่า เยาวชนต้องการให้มีอะไรในจังหวัดที่ตนอยู่มากที่สุด (เลือกได้ 3 อันดับ) พบว่า เยาวชนรุ่นใหม่ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่ตนอยู่มากที่สุด ตามมาด้วย รถไฟฟ้า/รถราง เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต สวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ สนามกีฬาที่ทันสมัย ป่าไม้และอุทยาน และศูนย์การค้า

แต่เมื่อแยกพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่า สิ่งที่เยาวชนในแต่ละภาคต้องการให้มีในจังหวัดที่ตนอยู่ น่าจะสะท้อนมาจากสิ่งที่ยังไม่มีในจังหวัดของตน เช่น เยาวชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้ต้องการให้มีมหาวิทยาลัยในจังหวัดของตนเป็นลำดับแรก ส่วนเยาวชน ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ต้องการให้มีป่าไม้/อุทยานเป็นลำดับแรก หรือ เยาวชนในภาคกลางต้องการให้มีสนามบินเป็นลำดับแรก และมาจากสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตสมัยใหม่เช่น รถไฟฟ้า/รถราง เทศกาลภาพยนตร์/คอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ และสวนสาธารณะ

“ข้อค้นพบจากการสำรวจทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า เยาวชนไทยรุ่นใหม่มีความพอใจและมีความภูมิใจในจังหวัดที่ตนอยู่ และต้องการอยู่ในจังหวัดต่อไปในอนาคต เยาวชนรุ่นใหม่จึงควรได้รับโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาจังหวัดและภูมิภาคให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” ดร. เดชรัต สุขกำเนิดย้ำ

นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ ยังได้ทดลองนำแนวคิดเรื่องกลุ่มฐานันดรต่างๆ ของนักเรียน ตามเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องเมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ เพื่อประเมินว่า กลุ่มฐานันดรมีผลโดยตรงต่อความพึงพอใจในชีวิตและความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนรุ่นใหม่มากน้อยเพียงใด

ผลการสำรวจพบว่า เยาวชนรุ่นใหม่คิดว่าตนเองอยู่ในกลุ่มฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรมในสายตาของเพื่อนๆ มากที่สุด ร้อยละ 37.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมาคือ กลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด ร้อยละ 32.0 ส่วนกลุ่มฐานันดรไร้ตัวตนมีสัดส่วนร้อยละ 11.1 กลุ่มฐานันดรตัวท็อป/ป็อบปูลาร์ มีร้อยละ10.2 กลุ่มฐานันดรอันธพาล ร้อยละ 2.9 และกลุ่มอื่นๆ ร้อยละ 6.2

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในชีวิต พบว่า กลุ่มฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรมจะมีความพึงพอใจในชีวิตสูงที่สุด ที่ 8.40 คะแนน รองลงมาเป็น กลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด ที่ 8.35 คะแนน และฐานันดรตัวท็อป/ป็อบปูลาร์ที่ 8.34 คะแนน ในขณะที่ฐานันดรอันธพาล และฐานันดรไร้ตัวตน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานันดรที่มีความพึงพอใจในชีวิตต่ำสุด มีระดับความพึงพอใจในชีวิต 7.75 และ 7.69 คะแนนตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มฐานันดรเด็กเรียน/เด็กเนิร์ด เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ด้านการเรียน และมีความเชื่อมั่นว่าตนเองจะมีอนาคตสดใสสูงที่สุด และเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวสูงที่สุดด้วย ส่วนกลุ่มฐานันดรนักกีฬา/นักดนตรี/นักกิจกรรม เป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในชีวิตในภาพรวมสูงที่สุด และความพึงพอใจด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนสูงที่สุด รวมถึงมีความเชื่อมั่นในความสามารถและศักยภาพของตนเองสูงที่สุดด้วย

ส่วน กลุ่มฐานันดรตัวท๊อป/ป๊อปปูลาร์ ซึ่งจะพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนที่คิดว่าตนเองมีฐานะดี หรืออาศัยอยู่ในเขตกทม./ปริมณฑล กลุ่มฐานันดรตัวท็อป/ป๊อปปูลาร์ จะมีความพึงพอใจในชีวิตต่ำกว่าสองกลุ่มแรก และมักมีปัญหาด้านความรักมากกว่ากลุ่มฐานันดรอื่นๆ

ส่วนกลุ่มฐานันดรที่น่าเป็นห่วงมากคือ กลุ่มฐานันดรอันธพาลและกลุ่มฐานันดรไร้ตัวตน โดยกลุ่มฐานันดรอันธพาล มีแนวโน้มจะพบมากขึ้นในกลุ่มเยาวชนเพศชาย และไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ มักมีปัญหาด้านการเรียน ปัญหากับเพื่อนๆ และไม่ค่อยได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัว

ผลการสำรวจชี้ว่า กลุ่มฐานันดรไร้ตัวตน ซึ่งมีประมาณร้อยละ 11.1 ของเยาวชนที่ทำการสำรวจ จะเป็นกลุ่มที่มีความพึงพอใจในชีวิตและมีความเชื่อมั่นในอนาคตต่ำสุด กลุ่มฐานันดรไร้ตัวตนมักพบในกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้อาศัยกับพ่อแม่ พ่อแม่แยกทางกัน และกลุ่มเยาวชนที่คิดว่าตนมีฐานะยากจนขัดสน กลุ่มฐานันดรไร้ตัวตนมักได้รับแรงสนับสนุนจากครอบครัวต่ำกว่ากลุ่มฐานันดรอื่นๆ เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหา จึงมีแนวโน้มที่จะไม่ปรึกษาใครสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ มาก

“ดังนั้น สังคมไทยจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการการทำความเข้าใจในสาเหตุ วิธีคิด และแนวทางแก้ไขปัญหาของกลุ่มฐานันดรไร้ตัวตน และกลุ่มฐานันดรอันธพาล เพราะน้องๆ ทั้งสองกลุ่มนี้ มีประมาณร้อยละ 15 ของเยาวชนที่ทำการสำรวจ และทั้งสองกลุ่มล้วนมีปัญหาในการดำเนินชีวิตมากพอสมควร ทั้งในแง่ความพึงพอใจในชีวิตปัจจุบันและความเชื่อมั่นในอนาคต รวมถึงไม่ได้รับแรงสนับสนุนที่มากพอจากทั้งครอบครัว ครู และเพื่อนๆ” ดร. เดชรัต สุขกำเนิด ย้ำในตอนท้ายของการนำเสนอ

การสำรวจครั้งนี้จะเป็นแรงจุดประกายให้นำไปสู่การศึกษาและการแสดงความคิดเห็นของเยาวชนรุ่นใหม่ในแต่ละจังหวัด ในระดับชุมชน และในระดับสถานศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เสียงของเยาวชนได้เข้ามาสู่กระบวนการนโยบายสาธารณะได้อย่างมีความหมายมากขึ้น พร้อมกับการยกระดับความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาความไม่พึงพอใจในชีวิต และสร้างความเชื่อมั่นในอนาคตของเยาวชนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม ให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

โทร 089-772-1388 Facebook: Decharut Sukkumnoed

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ