กรุงเทพโพลล์: “ความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำความผิด”

ข่าวผลสำรวจ Monday February 19, 2018 08:39 —กรุงเทพโพลล์

ประชาชน 64.2% เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำผิดในคดีเปรมชัยล่าสัตว์ทุ่งป่าใหญ่ฯ มาลงโทษได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่ระบุว่ากระบวนการยุติธรรมมีช่องโหว่ให้ ผู้กระทำผิดพ้นผิด โดย 71.7 % ไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี 61.3% เห็นว่ากระแสโซเชียลและสื่อมวลชนจะช่วยตรวจสอบอีกด้านทำให้สังคม ได้รู้โดยละเอียด

กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำความผิด” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,202 คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 64.2 เห็นว่าคดีเปรมชัยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรจะไม่สามารถเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ รองลงมาคือ คดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตาย (ร้อยละ 53.3) และคดีวัดธรรมกาย พระธัมมชโย (ร้อยละ 50.4)

เมื่อถามว่าจากเหตุการณ์หรือคดีที่ผ่านมาคิดว่าคนกลุ่มใดเมื่อทำความผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมยากที่จะเอาผิดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.2 เห็นว่าเป็นกลุ่ม ผู้มีอิทธิพล รองลงมาคือ นักการเมือง (ร้อยละ 63.6) คนรวย ไฮโซ (ร้อยละ 61.5) ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร(ร้อยละ 45.2) และพระ (ร้อยละ 21.1)

สำหรับความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.6 เห็นว่ามีช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด รองลงร้อยละ 28.6 เห็นว่าดำเนินการแบบ 2 มาตรฐาน เลือกปฏิบัติ และร้อยละ 23.6 เห็นว่าการลงโทษผู้กระทำผิดยังเบาไป ไม่รุนแรง ทำให้ไม่เกรงกลัว กลับมาทำผิดอีก

ทั้งนี้เมื่อถามว่าเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.7 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 28.3 เชื่อมั่น ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

นอกจากนี้เมื่อถามความเห็นต่อกระแสโซเชียลและสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 61.3 เห็นว่าจะช่วย ตรวจสอบอีกด้านทำให้สังคมรู้โดยละเอียด รองลงมาร้อยละ 57.4 เห็นว่าจะทำให้คดีคืบหน้าเร็ว จับตัวคนผิดได้เร็ว และร้อยละ 54.8 เห็นว่าจะมีส่วนทำให้ตำรวจต้องจริงจังในการทำงานหาหลักฐาน เพื่อปิดคดีให้ได้เร็ว

โดยมีรายละเอียดตามประเด็นข้อคำถาม ดังต่อไปนี้

1. ข้อคำถาม “ท่านคิดว่าเหตุการณ์หรือคดีความใด ที่กระบวนการยุติธรรมจะไม่สามารถเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้”(เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
คดีเปรมชัยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร                                        ร้อยละ          64.2
คดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตาย                                         ร้อยละ          53.3
คดีวัดธรรมกาย พระธัมมชโย                                             ร้อยละ          50.4
คดีน้องเมย นักเรียนเตรียมทหาร                                          ร้อยละ          49.0
คดีจำนำข้าว น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร                                       ร้อยละ          46.2
คดีทุจริต ทักษิณ ชินวัตร                                                 ร้อยละ          38.2

2. ข้อคำถาม “จากเหตุการณ์หรือคดีที่ผ่านมา ท่านคิดว่าคนกลุ่มใดเมื่อทำความผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมยากที่จะเอาผิด”(เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
กลุ่มผู้มีอิทธิพล                                                        ร้อยละ          69.2
นักการเมือง                                                         ร้อยละ          63.6
คนรวย ไฮโซ                                                        ร้อยละ          61.5
ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร                                               ร้อยละ          45.2
พระ                                                               ร้อยละ          21.1

3. ความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างไร(เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
มีช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด                                             ร้อยละ          37.6
ดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติ                                     ร้อยละ          28.6
การลงโทษผู้กระทำผิดยังเบาไป ไม่รุนแรง ทำให้ไม่เกรงกลัว กลับมาทำผิดอีก         ร้อยละ          23.6
ดำเนินการด้วยความยุติธรรม โปร่งใสกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกระดับ                 ร้อยละ           5.7
มีการจับแพะรับผิดแทน                                                  ร้อยละ           4.5

4. ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี
ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างน้อยร้อยละ 36.3 และน้อยที่สุดร้อยละ 35.4)                ร้อยละ          71.7
ค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
(โดยแบ่งเป็นค่อนข้างมากร้อยละ 22.3 และมากที่สุดร้อยละ 6.0)                 ร้อยละ          28.3


5. ความเห็นต่อกระแสโซเชียลและสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
จะช่วยตรวจสอบอีกด้านทำให้สังคมรู้โดยละเอียด                               ร้อยละ          61.3
จะทำให้คดีคืบหน้าเร็ว จับตัวคนผิดได้เร็ว                                    ร้อยละ          57.4
จะมีส่วนทำให้ตำรวจต้องจริงจังในการทำงานหาหลักฐานเพื่อปิดคดีให้ได้เร็ว           ร้อยละ          54.8
จะสร้างทางเลือกให้ประชาชนติดตามคดี                                     ร้อยละ          50.1
จะทำให้มีการกระพือข่าวเกินจริง อาจทำให้เสียรูปคดี                           ร้อยละ          34.6
จะทำให้บุคคลกลายเป็นจำเลยสังคมทั้งที่ยังไม่โดนตัดสิน                          ร้อยละ          38.8
รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ

1) เพื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์หรือคดีความที่ติดตามอยู่และคิดว่ากระบวนการยุติธรรมละเลยการเอาผิดแก่ผู้กระทำความผิด

2) เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรม และความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดต่อผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดี

3) เพื่อสะท้อนความเห็นต่อกระแสโซเชียลและสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ประชากรที่สนใจศึกษา

การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error)

การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน ? 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) จากนั้นได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล : 13 – 15 กุมภาพันธ์ 2561

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ : 18 กุมภาพันธ์ 2561

--ศูนย์วิจัยกรุงเทพโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ