รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 28, 2010 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 51/2553

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนตุลาคม 2553 ในวันที่ 28 ตุลาคม 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกแม้จะชะลอตัวลงบ้างจากผลกระทบของความไม่สงบทางการเมือง โดยการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภายในประเทศที่แข็งแกร่งเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ต่อมาในไตรมาสที่ 3 ข้อมูลเครื่องชี้เบื้องต้นในช่วงสองเดือนแรก สะท้อนถึงการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดีจากระยะเดียวกันปีก่อนแม้จะชะลอลงบ้างจากไตรมาสก่อนหน้าจากปริมาณการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มแผ่วลงตามภาวะอุปสงค์จากต่างประเทศ สอดคล้องกับการผลิตในหลายภาคอุตสาหกรรม

สำหรับแรงกดดันด้านราคาในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากผลลบจากมาตรการเรียนฟรีหมดลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงทรงตัวจากไตรมาสก่อน โดยการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและราคาอาหารสดที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยถูกชดเชยด้วยแรงกดดันที่ลดลงจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเนื่องจากผลของฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อนเป็นสำคัญ

การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ได้ทบทวนข้อสมมติประกอบการคาดการณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับข้อสมมติเมื่อ 3 เดือนก่อนสรุปได้ ดังนี้

1. ข้อสมมติอัตราการขยายตัวของอุปสงค์ที่ประเทศคู่ค้ามีต่อการส่งออกของไทย ปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมในปี 2553 จากตัวเลขเศรษฐกิจของเอเชียและกลุ่มประเทศยูโรที่ขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมมากเป็นสำคัญ ก่อนปรับเข้าสู่แนวโน้มเดิมในปี 2554

2. ข้อสมมติอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะเริ่มปรับขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นที่ช้ากว่าข้อสมมติเดิม ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเปราะบางและอาจล่าช้ากว่าที่คาด

3. ค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นมากกว่าข้อสมมติเดิม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งกว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรม กอปรกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

4. ข้อสมมติรายจ่ายโดยตรงของภาครัฐในปีงบประมาณ 2553 ลดลงจากข้อสมมติเดิมเล็กน้อยจากรายจ่ายลงทุนในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายได้ล่าช้ากว่าคาดเป็นสำคัญ แม้เงินโอนที่ลดลงจะทำให้รัฐบาลกลางสามารถนำเม็ดเงินมาใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคเพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม สำหรับปีงบประมาณ 2554 รายจ่ายภาครัฐโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการปรับอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายอุปโภคให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ในขณะที่รายจ่ายลงทุนปรับลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553

5. ข้อสมมติราคาน้ำมันดูไบในระยะข้างหน้าปรับลดลงจากข้อสมมติครั้งก่อนเล็กน้อย แม้ปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันไม่แตกต่างไปจากการประเมินครั้งก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบางและราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 77.0 และ 86.3 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 และ 2554 ตามลำดับ

6. ข้อสมมติราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมตลอดช่วงประมาณการ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 โดยเฉพาะในหมวดผักและผลไม้ และหมวดไข่และผลิตภัณฑ์จากนมออกมาสูงกว่าที่ประเมินไว้เดิมมาก นอกจากนี้ ปัญหาสภาพอากาศและภัยธรรมชาติยังส่งผลให้ข้อสมมติราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มิใช่เชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นจากข้อสมมติเดิมในปี 2553 ตามราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ ก่อนที่จะชะลอตัวลงมากกว่าข้อสมมติเดิมในปี 2554 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF ที่ให้ราคาสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบทางการเกษตรและเครื่องดื่มปรับลดลงจากปี 2553 ค่อนข้างมาก

7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2553 ไม่เปลี่ยนแปลงจากข้อสมมติเดิม โดยอยู่ที่ 206 บาทต่อวัน ก่อนปรับสูงขึ้นเป็น 213 บาทต่อวันในปี 2554 สอดคล้องกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ภายใต้ประมาณการกรณีฐานที่อิงข้อสมมติข้างต้นและข้อสมมติอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงที่ ณ ระดับร้อยละ 1.75 ต่อปีตลอดช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากประมาณการในรายงานฉบับก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการส่งออกและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวมากกว่าคาดในไตรมาสที่ 2 เป็นสำคัญ แม้ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะแผ่วลงบ้างจากการส่งออกสินค้าที่ชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวสูงในช่วงครึ่งแรกของปีตามการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การใช้จ่ายภายในประเทศภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นต้นไป

แม้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2553 จะยังคงใกล้เคียงกับประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับราคาของผู้ประกอบการยังคงถูกจำกัดจากภาวะการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตามแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสดที่เร่งตัวมากกว่าคาดในไตรมาสที่ 3 และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยกระทบต่อปริมาณผลผลิต ทั้งนี้ แม้แรงกดดันด้านต้นทุนมีแนวโน้มแผ่วลงบ้างตามราคาน้ำมันและวัตถุดิบที่ชะลอตัวตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยแรงกดดันที่เร่งขึ้นจากราคาอาหารสดได้ทั้งหมด สำหรับปี 2554 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งตัวขึ้นจากปี 2553 สอดคล้องกับข้อสมมติค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้น ตลอดจนแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ช่องว่างการผลิต (Output Gap) ค่อยๆ ปิดลงและผลักดันให้ผู้ประกอบการที่ได้อั้นการปรับราคาสินค้าในช่วงที่ผ่านมาส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อในปี 2554 ยังจะได้รับผลบวกจากการสิ้นสุดมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐด้วย

อนึ่ง คณะกรรมการฯ เห็นว่ามีความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเบี่ยงเบนไปจากประมาณการในกรณีฐาน โดยความเสี่ยงด้านลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมากกว่าความเสี่ยงด้านบวก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจล่าช้ากว่าคาดและความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญ ดังนั้น Fan Chart ของการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งนี้จึงเบ้ลงตลอดช่วงประมาณการเพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว โดยมีช่วงประมาณการอยู่ที่ร้อยละ 7.3-8.0 ในปี 2553 และร้อยละ 3.0-5.0 ในปี 2554

สำหรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อ คณะกรรมการฯ มองว่านับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไปความเสี่ยงด้านสูงมีมากกว่าความเสี่ยงด้านต่ำ ทำให้ Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและ Fan Chart ของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเบ้ขึ้นในช่วงท้ายของการประมาณการ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.8-3.8 ในปี 2553 และร้อยละ 3.0-5.0 ในปี 2554 สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.3 ในปี 2553 และร้อยละ 2.0-3.0 ในปี 2554

การดำเนินนโยบายการเงินในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2553 คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ในขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อคาดว่าจะสูงขึ้นในปี 2554 และมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะสูงกว่ากรอบเป้าหมายได้ คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็น ร้อยละ 1.75 ต่อปี ต่อมาในการประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2553 คณะกรรมการฯ เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้โดยมีอุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอาจมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย ขณะที่ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในปัจจุบันยังทรงตัว ภายใต้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น สภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอลง และความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่เพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ก่อนที่ร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อรอประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีความชัดเจนขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติม : กฤตชญา จั่นเจริญ

โทร. 0 2356 7876 E-mail: kritchap@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ