แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 15:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 52/2553

ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือนกันยายนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก สำหรับอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอลงบ้างหลังจากที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุล และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ด้านอุปทาน ระดับการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการขยายตัวยังคงปรับลงสู่แนวโน้มปกติ ดัชนีผลผลิต อุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.1 ชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ การผลิตที่ขยายตัวดี เช่น Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ สอดคล้องกับคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ ที่มีคำสั่งซื้อที่ยังค้างส่งมอบอยู่มาก ด้านภาคเกษตร อุปทานในประเทศลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาดที่ส่งผลยาวนานและรุนแรงต่อผลผลิตมันสำปะหลัง ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรหดตัว ร้อยละ 3.1 ขณะที่ราคาพืชผลยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 31.4 จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 27.3

อุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังดีต่อเนื่องส่งผลให้การส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 17,955 ล้านดอลลาร์ สรอ. สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่อัตราการขยายตัวโน้มชะลอลงเช่นเดียวกับด้านอุปทานตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลก โดยขยายตัวจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 21.8 จากทั้งด้านปริมาณและราคา และขยายตัวดีเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการส่งออกในหมวดเกษตรและหมวดที่ใช้เทคโนโลยีสูง สำหรับภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.2 ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน จีน และเกาหลีใต้

อุปสงค์ในประเทศเริ่มชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นไปตามการชะลอตัวของเครื่องชี้การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้การใช้จ่ายอื่น ทั้งปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงและการใช้ไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยยังขยายตัวดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนจากรายได้ ภาคเกษตร การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ด้านการลงทุน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดก่อสร้างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่รับอนุญาต ก่อสร้างในเขตเทศบาลที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับภาคการคลัง ในเดือนนี้การใช้จ่ายรวมทั้งจากงบประมาณปกติและเงินกู้ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ลดลงร้อยละ 3.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปีก่อนมีการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจตามโครงการไทยเข้มแข็งฯ ขณะที่รายได้ จัดเก็บขยายตัวดีจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้นำส่งภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายจ่าย ส่งผลให้ดุลเงินสดรัฐบาลเกินดุล 67.4 พันล้านบาท สำหรับทั้งปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐยังคงมีบทบาทในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณก่อน สะท้อนจากดุลเงินสดที่ขาดดุลร้อยละ 2.0

การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 14,712 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.7 ชะลอลงจากเดือนก่อนสอดคล้องกับภาคการผลิตและอุปสงค์ในประเทศที่โน้มชะลอลง ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือนนี้ที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ หมวดเชื้อเพลิงหดตัวสูงตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงในเดือนนี้ ขณะที่ในเดือนเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าน้ำมันสูงสุดในรอบปี

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.9 สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินยังคงเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 10.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือน เป็นสำคัญ ประกอบกับสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเร่งตัวขึ้นมาก จากช่วงก่อนหน้า

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของ ราคาในหมวดอาหาร ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการชำระเงินเกินดุลต่อเนื่องจากเดือนก่อน และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

สำหรับในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน แต่มีอัตราชะลอลง โดยด้านอุปทาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับชะลอลงหลังจากที่เร่งตัวสูงมากในช่วงครึ่งปีแรก สอดคล้องกับการส่งออก ขณะที่รายได้ภาคเกษตรขยายตัวดีต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนแม้จะเริ่มชะลอลงบ้างจากช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี และเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจในไตรมาสนี้ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ