คำแถลงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 1, 2010 10:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

คำแถลงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เรื่องแนวทางการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย

วันที่ 29 ตุลาคม 2553

ณ ห้องแถลงข่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย ***************************************************************************

สวัสดีครับ ผู้แทนสื่อมวลชนและผู้มีเกียรติทุกท่าน

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับปรับปรุงล่าสุดนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ จะมีวาระในการทำงานต่อเนื่องไป 5 ปี ผมจึงใคร่ขอใช้โอกาสนี้ ในการสื่อผ่านสื่อมวลชน ไปยังประชาชนทุกท่าน เพื่อให้ทุกท่านได้ทราบและเข้าใจ ถึงแนวทางการทำงาน และการดำเนินนโยบายของธนาคาร แห่งประเทศไทยในระยะข้างหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพ ทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ ผมมีความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติมาทำหน้าที่ในช่วงเวลา ที่สำคัญยิ่งนี้ ผมเข้ามารับหน้าที่ที่แบงก์ชาติได้ประมาณ 1 เดือน ผมเห็นหลายสิ่งที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาก เทียบกับเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ผมเคยทำงานอยู่ที่แบงก์ชาติ โดยมีการเปิดกว้างขึ้นมาก มีความโปร่งใส มีการเผยแพร่ข้อมูลและแนวนโยบายต่างๆ ให้สาธารณชนรับรู้ มีการประสานงานและร่วมมือกับภายนอกมากขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งผมเห็นว่า แบงก์ชาติน่าจะยังทำในส่วนของการประสานกับภายนอกเพิ่มเติมได้อีกในระยะข้างหน้า เนื่องจากสภาวะปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงหน้าที่ของแบงก์ชาติ หน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายก็คือ การรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งนอกจากจะหมายถึง ระบบการเงินที่มั่นคง การมีเงินเฟ้อที่ต่ำและมีเสถียรภาพแล้ว ยังหมายรวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และเหมาะสมตามศักยภาพของประเทศด้วย ซึ่งก็นับว่าเป็นพันธกิจของแบงก์ชาติอยู่เสมอมา ผมคิดว่าเป้าหมายนี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติอยากจะเห็น แต่เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ประชาชน หรือรัฐบาล ต่างปรารถนาเช่นเดียวกัน

ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเงิน สังคม รวมถึงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ผมยังเชื่ออีกด้วยว่า การเจริญเติบโตที่จะยั่งยืนได้นั้น จะต้องเป็นการเติบโตที่ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการ ในการระแวดระวังความเสี่ยงต่างๆ ตลอดจนช่วยกันเสนอแนะและให้มุมมองอย่างรอบด้าน ถึงแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ดังที่นักเศรษฐศาสตร์ในระยะหลังมีการพูดถึง “Inclusive Growth” กันมากขึ้น กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะพันธกิจของแบงก์ชาติ แท้ที่จริงแล้วก็เป็นวัตถุประสงค์ร่วมกันของประชาชนทุกคนในประเทศ ที่ต้องการเห็นความอยู่ดีกินดี ต้องการเห็นประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งแบงก์ชาติคงไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้เองโดยลำพัง

ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจหลายประการ และเป็นปรากฏการณ์ที่แตกต่างจากประสบการณ์ของไทยในอดีต ปัญหาทางการเมืองในประเทศในช่วง 3-4 ปี ที่ผ่านมา นับเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งนอกจากมีความรุนแรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการตัดสินใจด้านการใช้จ่ายและการประกอบธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับในต้นปีหน้านับว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการเมืองไทย ในการที่จะสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุนในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกประเทศ วิกฤตการเงินโลกในรอบนี้นับว่ารุนแรงที่สุดในรอบเกือบศตวรรษ และส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก จนทำให้เศรษฐกิจเหล่านี้ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง การว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เวลาจะผ่านไปเกือบ 2 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุด สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็มีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษเพื่ออัดฉีดเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอกหนึ่ง

สำหรับประเทศในกลุ่มเอเชีย รวมถึงประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่ไม่รุนแรงมากนัก และด้วยพื้นฐานโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ดี เราก็ได้เห็นศักยภาพในการฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชียที่เข้มแข็งชัดเจนกว่ากลุ่มประเทศหลัก จึงไม่น่าแปลกใจว่า ย่อมมีความต้องการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาสู่ประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสกว่า นอกจากนี้ สภาพคล่องของโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจหลัก ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลทะลักเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่มาของการแข็งค่าของสกุลเงินทุกสกุลในภูมิภาค นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เศรษฐกิจโลกแบ่งเขตการเติบโตเป็นสองขั้ว โดยมีภูมิภาคเอเชียกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี พัฒนาการเหล่านี้สร้างความไม่แน่นอนอย่างมากให้กับเศรษฐกิจที่เล็ก และมีลักษณะเปิดเช่นประเทศไทย เราไม่อาจทราบได้ล่วงหน้าชัดเจนว่า เมื่อไรที่ประเทศหลักเหล่านี้จะเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบาย เมื่อไรที่เงินทุนจะเปลี่ยนทิศทางจากไหลเข้าประเทศกลายเป็นไหลออกกลับไปยังประเทศหลักเหล่านี้ หรือในทางกลับกัน หากเราจะมองโลกอย่างระมัดระวังเพื่อความไม่ประมาท ประเทศหลักที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจีน อาจไม่สามารถตกลงหาข้อยุติสำหรับสิ่งที่เรียกกันว่า “สงครามค่าเงิน” นี้ได้ หรืออาจมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะตกต่ำลงไปอีก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หรือเศรษฐกิจจีนก็อาจจะเกิดปัญหารุนแรงจนทำให้การค้าระหว่างประเทศต้องสะดุดลง และ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโลก

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถวางใจได้ และต้องเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนต่างๆ เหล่านี้ ทำอย่างไรให้เราซึ่งเป็นเพียงประเทศเล็กๆ จะสามารถรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ และนำประเทศไทยไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืน นี่คือโจทย์หลักที่ทุกฝ่ายรวมทั้งแบงก์ชาติเอง จำเป็นต้องร่วมกันหาคำตอบภายใต้บริบทหน้าที่ของตนเอง

ผมได้กล่าวถึงความท้าทายต่างๆ ที่เราจะต้องเผชิญในระยะข้างหน้าแล้ว หากลองมองกลับมาสำรวจตัวเอง เพื่อดูว่าเรามีความพร้อม และความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรับมือมากน้อยเพียงใด ต้องเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง ในระดับประเทศ ซึ่งก็ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการช่วยกันผลักดัน สิ่งสำคัญคงเป็นเรื่องความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ทำอย่างไรที่ไทยเราจะสามารถพัฒนารูปแบบสินค้าและทักษะแรงงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและแรงงานไทยในตลาดโลกที่มีการเปิดเสรีและการแข่งขันรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะเห็นได้ชัดว่า การส่งออกของไทยจะไม่สามารถพึ่งพาแรงงานราคาถูกหรือค่าเงินบาทที่อ่อนได้อีกต่อไป ที่ผ่านมา เราก็เห็นความพยายามในการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ทั้งการกระจายตลาด การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ซึ่งก็เป็น สิ่งที่ดีและต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะในโลกของการแข่งขัน ถ้าเราหยุดอยู่กับที่เมื่อไร ประเทศอื่นก็จะแซงเราไปเรื่อยๆ

กลับมามองในส่วนของแบงก์ชาติเองนั้น ผมคิดว่า แบงก์ชาติมีความพร้อมในระดับที่น่าพอใจ แต่แบงก์ชาติก็ไม่สามารถจะหยุดนิ่งได้เช่นกัน เราควรต้องพิจารณาปรับปรุงในด้านต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ประการแรก หากพิจารณาด้านกรอบนโยบายและเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ ภายใต้ภาวะความผันผวนและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก ผมเห็นว่า สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การมีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายที่หลากหลายและกรอบนโยบายที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอ ในการรองรับความเสี่ยงต่างๆ

กรอบนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อที่แบงก์ชาติใช้อยู่แบบ Flexible Inflation Targeting ควบคู่กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ นั้น ผมเห็นว่าเป็นกรอบนโยบายที่ให้ความยืดหยุ่นที่ดีสำหรับประเทศไทย โดยเราให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของราคา ซึ่งทางวิชาการได้พิสูจน์ ในหลายประเทศแล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ปิดกั้นการดูแลตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วยกัน ตราบที่เป้าหมายสุดท้ายไม่ได้ขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ยังเป็นกรอบการดำเนินนโยบายที่มีความชัดเจน โปร่งใส เอื้อต่อการทำงานอย่างมีอิสระ และที่สำคัญ ถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ๆ และในขณะเดียวกันก็ยังช่วยรักษาวินัยในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินด้วย 3

เราได้ใช้กรอบ Flexible Inflation Targeting มาครบ 10 ปีแล้ว และที่ผ่านมา แบงก์ชาติก็สามารถใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายที่มีอยู่หลากหลายในการดูแลทั้งเงินเฟ้อและการขยายตัวของเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี การประเมินจากผู้เชี่ยวชาญอิสระจากต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ต่างเห็นพ้องถึงจุดแข็ง ในแง่ของความยืดหยุ่นของกรอบนโยบาย และยืนยันถึงความเหมาะสมของกรอบนโยบายดังกล่าวในสภาวะแวดล้อมของประเทศไทย ส่วนข้อเสนอแนะของผู้ประเมิน เช่น การเปิดเผยรายงานการประชุม ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ก็เป็นสิ่งที่แบงก์ชาติอาจพิจารณาปรับปรุงตามความเหมาะสมในบริบทของไทยต่อไป

ในแง่ของกรอบการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการกำกับดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนได้วางรากฐานการพัฒนาระบบสถาบันการเงินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 เพื่อวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการลดต้นทุนในการบริหารงานของสถาบันการเงิน ส่งเสริมการแข่งขันในระบบ การเข้าถึงบริการทางการเงิน และเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ที่สำคัญ เช่น กฎหมาย และเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งยังคงต้องดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ดี ภายใต้ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่สูงขึ้นในปัจจุบัน แนวทางที่แบงก์ชาติต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ การกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจการเงินแบบองค์รวม (holistic approach) คือ กำกับดูแลธุรกิจทุกชนิดของสถาบันการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันความเสี่ยงในภาพรวมของระบบสถาบันการเงิน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้การดำเนินการ ในลักษณะเชิงรุกผ่านระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นตัวกลางที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เสริมจากการใช้เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ย

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เช่น เกณฑ์ Basel III ซึ่งกำหนดให้สถาบันการเงินต้องมีเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่องในจำนวนที่สูงขึ้น ตลอดจนการปรับปรุงมาตรฐานบัญชีสากล ซึ่งคงจะต้องมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในระบบสถาบันการเงินไทยอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี เราก็ยังมีเวลาที่จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบดังกล่าว ก่อนการเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่พร้อมๆ กับประเทศต่างๆ และแบงก์ชาติก็จะต้องหารือกับสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อมิให้การปรับเปลี่ยนมาตรฐานใหม่ดังกล่าว ส่งผลในทางลบจนเกินควรต่อการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินที่ดีของระบบเศรษฐกิจไทย

สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น คือ การส่งเสริมพัฒนาการของตลาดการเงิน เพื่อให้เป็นแหล่งเงินออมและแหล่งระดมทุนของภาคเอกชน และเป็นกลไกหลักอีกกลไกหนึ่ง นอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประเทศไทยต้องพัฒนาเครื่องมือทางการเงินให้มีความหลากหลาย ตามแนวทางของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 4

ระยะที่ 2 เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจการเงินและภาคการออมได้มากขึ้น รวมทั้งต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาวตลอดจนความเสี่ยง ให้แก่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการดูแลให้สถาบันการเงินมีการบริหารสภาพคล่องรองรับการลดการคุ้มครองเงินฝาก การดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ

ในหลายประเทศก็เริ่มตระหนักถึง ความสำคัญในการใช้ธนาคารกลางเป็นจุดศูนย์รวมในการประสานนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบทเรียน ในวิกฤตการเงินโลก และในภาวะปัจจุบันที่มีความเสี่ยงจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนซึ่งมีอยู่ในปริมาณ ที่สูงมาก ทำให้การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ต้องมองการณ์ไกล และหากเห็นว่าระบบเศรษฐกิจหรือภาคธุรกิจใดเริ่มมีสัญญาณของความไม่มีเสถียรภาพ ก็ต้องดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า

ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างเห็นความสำคัญของการใช้นโยบายกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวม ที่เรียกว่า Macroprudential เช่น การกำหนดอัตราส่วนสูงสุดของสินเชื่อต่อราคาบ้านที่จำนอง (Loan to value ratio: LTV) หรือ การกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนของสถาบันการเงินที่แปรผันไปตามภาวะเศรษฐกิจ เพื่อลดความรุนแรงของวัฏจักรเศรษฐกิจ (Counter cyclical capital buffer) เป็นต้น โดยเข้ามาเสริมกับนโยบายอัตราดอกเบี้ย ในการรักษาความมั่นคงของระบบการเงิน เพื่อรับมือกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการกำกับดูแลความเข้มแข็งของสถาบันการเงินแต่ละราย ในแบบของ Microprudential นั้น ไม่สามารถป้องกันการก่อตัวของความไม่สมดุลในบางภาคเศรษฐกิจ เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ก็เพื่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมนั่นเอง สำหรับประเทศไทย Macroprudential ไม่ใช่เรื่องใหม่ แบงก์ชาติได้ดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว แต่ก็เชื่อว่า ยังสามารถพัฒนาให้มีการประสานความคิดของสายงานที่เกี่ยวข้องและพัฒนาแนวทางดำเนินการและเครื่องมือที่เหมาะสมได้อีกมาก

ประการที่ 2 หากพิจารณาถึงกระบวนการทำงาน การตัดสินนโยบายในรูปแบบของคณะกรรมการ ทั้งคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน และคณะกรรมการระบบการ ชำระเงิน ซึ่งตามกฎหมายต้องมีองค์ประกอบเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็นและ ตัดสินนโยบาย ก็ช่วยให้มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ทำให้ได้มุมมองจากคนนอกเข้ามาผสมผสานกับ คนของแบงก์ชาติอีกด้วย และคณะกรรมการก็มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะต้องสามารถอธิบายเหตุผล ในการตัดสินนโยบายต่างๆ ให้ได้

ประการที่ 3 หากพิจารณาในด้านทรัพยากรบุคคล แบงก์ชาติมีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในความรู้ความสามารถในการดำเนินนโยบายระดับประเทศ ทั้งนี้ เราก็มีแผนพัฒนานโยบายด้านทรัพยากรบุคคล ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากท่านผู้ว่าการท่านก่อน เพื่อให้แบงก์ชาติยังคงความ เป็นองค์กรที่จะสามารถดึงดูดและรักษาคนที่ทั้งเก่งและดี ให้มาช่วยกันทำงานเพื่อส่วนรวม ดังที่อดีตท่านผู้ว่าการธาริษา เคยกล่าวไว้ว่า คนแบงก์ชาติที่ดี ต้อง “ยืนตรง มองไกล ติดดิน” คือ มีความกล้าที่จะ ยืนหยัดบนหลักการที่ถูกต้อง เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศในระยะยาว ตลอดจนมีความเข้าใจและเข้าถึงธุรกิจและประชาชน ซึ่งในส่วนนี้ผมอยากจะเสริมให้เป็น “ยืนตรง มองไกล ติดดิน และ ยื่นมือ” อีกประการหนึ่งด้วย เพราะดังที่ผมได้เน้นย้ำในตอนต้นแล้วว่า แบงก์ชาติต้องมีการประสานกับทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน

แบงก์ชาติไม่ใช่ธุรกิจที่ทำกำไร ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแบงก์ชาติคือประชาชนทุกคน ผมจึงเน้น ในเรื่องของการยื่นมือ เพื่อประสานและผลักดันไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน หลายท่านคงพอจะเคยได้ยิน โครงการพบผู้ประกอบการของแบงก์ชาติ ตลอดจนการออกแบบสำรวจต่างๆ ที่ทำเป็นประจำ เช่น Senior Loan Officers Survey ที่สำรวจแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงิน Business Sentiment Index ที่สะท้อนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และการสัมภาษณ์และแบบสำรวจอื่นๆ ตามความจำเป็น ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะได้รับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อนำมาประกอบการดำเนินนโยบายให้มีความเหมาะสม และเรายังจะช่วยสะท้อนความคิดเห็นเหล่านี้ไปยังภาครัฐบาล ผ่านคณะกรรมการต่างๆ ที่แบงก์ชาติเข้าไป มีส่วนร่วมได้อีกทางหนึ่งด้วย

แบงก์ชาติในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงิน น่าจะสามารถมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการให้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์สูงสุดจะได้ตกอยู่กับประชาชน ผมคิดว่า โจทย์สำคัญของแบงก์ชาติในระยะต่อไป ได้แก่ (1) การสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน (2) การมีองค์ความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ เพื่อให้สามารถรู้ทันความเปลี่ยนแปลง มีแผนรองรับไว้ล่วงหน้า รวมทั้งการดำเนินการในลักษณะที่ proactive คือมองไปข้างหน้า และมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนมากขึ้น และ (3) การปรับเปลี่ยนมุมมอง การสร้างความเข้าใจและการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดขององค์กรภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการสร้าง good governance หรือระบบบริหารจัดการที่มีธรรมาภิบาล

ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะเราต้องการส่งเสริมให้สถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non bank) มีธรรมาภิบาลที่ดีและมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นของลูกค้า และประชาชน การดำเนินงานด้วยความสุจริต โปร่งใส และมีความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้สถาบันการเงินมีความมั่นคงแข็งแรงในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลให้เกิดความสมดุลในการหากำไรเชิงธุรกิจ การขายบริการเสริมด้านอื่นๆ และความรับผิดชอบของสถาบันการเงินต่อลูกค้า และประชาชน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนได้อย่างทั่วถึง ด้วยค่าบริการที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แบงก์ชาติยังคงสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ผมเชื่อว่า เราทุกคนอยากจะเห็นธุรกิจสถาบันการเงินที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในธุรกรรมทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จนถึงลูกค้ารายย่อยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินขั้นพื้นฐาน ทั้งความต้องการในเชิงธุรกิจและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถใช้ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น อัตราแลกเปลี่ยน หรืออัตราดอกเบี้ย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ลูกค้าและประชาชน รวมทั้งการลดข้อจำกัดของการให้บริการดังกล่าว โดยมีเป้าหมายให้ลูกค้าทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่ต้องการได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การทำธุรกรรมที่อาศัยเทคโนโลยี เช่น การทำ Internet banking หรือ Mobile banking จะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงที่ผู้บริโภคอาจขาดความเข้าใจหรือระบบการกำกับดูแลแบบเดิมอาจมีช่องโหว่ได้ จึงจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้รับบริการ ประกอบกับการดูแลระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้บริการสามารถดำเนินการได้ตามความประสงค์อย่างปลอดภัย

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยี ผมเห็นว่า การเร่งพัฒนาระบบการชำระเงิน ยังเป็นงานสำคัญอีกประการหนึ่งของแบงก์ชาติ เพื่อลดการใช้เงินสด ตลอดจนเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการทำธุรกรรมของธุรกิจและประชาชนทั่วไป อันจะช่วยลดต้นทุนให้กับสถาบันการเงินได้อีกทางหนึ่ง และมุ่งสู่การพัฒนาระบบการชำระเงินให้สามารถเชื่อมโยงได้อย่างทั่วถึงทุกเครือข่าย ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นแผนงานที่สำคัญในการรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจการเงินของประชาคมอาเซียนในอนาคตด้วย นอกจากนี้ เรายังผลักดันให้สถาบันการเงินรวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการธนบัตรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่ดีนั้นอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ ความหมายของนโยบายการเงินที่ดีในสายตาของผมนั้น คือนโยบายที่เอื้อให้เกิดความสมดุล ซึ่งนอกเหนือจากความสมดุลในแง่เศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศแล้ว ยังหมายถึงความสมดุลของนโยบายในความหมายกว้างด้วย คือมีความพอดีในการให้ความสำคัญ ต่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์ต่างๆ มีความพอดีและเหมาะสมกับภาวะและปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายใน และภายนอกประเทศ มีความพอดีในการบริหารผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว เป็นต้น ความสมดุลนี้ เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยมีความพร้อม สามารถรองรับปัจจัยความผันผวนและความไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบัน ที่ความเสี่ยงมีความรุนแรงขึ้น และมีที่มาจากปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุมของเรา การรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจ จึงยิ่งทวีความสำคัญเป็นเงาตามตัว 7

ในความสมดุลนี้ คงจะต้องยอมรับว่า อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะได้สิ่งที่ตนเองต้องการเสมอไป การบริหารจัดการด้านนโยบายที่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมไว้นั้น ยากที่จะหลีกเลี่ยง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการปรับตัวในระยะสั้น แต่ในขณะเดียวกัน ความสามารถในการปรับตัวนี้เองก็เป็นตัววัดความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ผมและพนักงานแบงก์ชาติทุกคน มีความแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ภายใต้วิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะบรรลุพันธกิจขององค์กร โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ แต่พันธกิจนี้คงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ หากไม่ได้รับการเกื้อหนุนจากทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน หรือรัฐบาล ผมจึงจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับฟังและยื่นมือประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจและความมั่นใจให้กับทุกท่านว่า การทำงานของเราทุกฝ่ายดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกันและมีเป้าประสงค์ร่วมกัน คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนทุกคนสืบไป

ขอบคุณครับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ