สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 29, 2010 16:50 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 19/2553

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน เนื่องจากรายได้ของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตามราคาข้าวเปลือกเหนียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดี ประกอบกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นตามโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ทำให้มีการลงทุนและการก่อสร้างในภาคอย่างต่อเนื่อง

การค้าชายแดนไทย - สปป.ลาว และไทย - กัมพูชา ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ขณะที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัว โดยสินเชื่อที่ขยายตัวสูง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อธุรกิจตัวกลางทางการเงินและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจชะลอตัวลงเล็กน้อย

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เป็นผลจากราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผักสด และข้าวเหนียว ซึ่งเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

สำหรับรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.8 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนตามการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.2 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนตามราคาข้าวเปลือกเหนียว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,731 บาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.6 ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ประเทศผู้บริโภคข้าวหันไปนำเข้าจากประเทศเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้โรงสีและผู้ส่งออกชะลอการรับซื้อ ขณะที่ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เกวียนละ 15,063 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 98.3 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.9 ส่วนสำคัญเป็นผลจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.05 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 120.0 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 128.5 ตามราคาตลาดต่างประเทศที่ลดลงเนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีการส่งออกมากขึ้น สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.68 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 61.1 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการระบายสต็อกมันเส้นปีการผลิต 2550/51 ของรัฐบาล

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.41 บาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.2 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการผลิตปศุสัตว์ ประกอบกับผลผลิตข้าวโพดรุ่น 1 เข้าสู่ตลาดน้อยลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 12.3 ทั้งนี้เป็นผลจากอุตสาหกรรมน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศตามราคาน้ำตาลโลกที่ปรับสูงขึ้น อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.7 ตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 1.5

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้จากภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อมากขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ทั้งนี้มีเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากห้างสรรพสินค้า กิจการจำหน่ายรถยนต์ และกิจการค้าปลีกวัสดุก่อสร้าง

การจดทะเบียนรถทุกชนิด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.6 ร้อยละ 30.5 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ เนื่องจากกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีอย่างต่อเนื่องและสถาบันการเงินลดความเข้มงวดในการให้สินเชื่อรวมทั้งเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ผ่อนปรนมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0

4. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวทั้งจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนักลงทุนมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ลงทุนเพิ่ม โดยมีเครื่องชี้ที่สำคัญ ดังนี้

จำนวนเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากโครงการผลิตพลังงานทดแทน ได้แก่ การผลิตเอทานอล การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และจากชีวมวล รวมทั้งสิ้น 11 แห่ง 20,149 ล้านบาท

ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0

แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.3 แต่เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่นยื่นขอเปลี่ยนแปลงแบบ 198,378 ตารางเมตร ซึ่งหากไม่นับรวมจะทำให้พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 โดยมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โรงแรม และอาคารชุด

จำนวนเงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.6 เนื่องจากในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเงินทุนสูงจากโรงงานขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนตั้งแต่ 160 ล้านบาทขึ้นไป 8 แห่ง รวม 2,256.6 ล้านบาท แต่หากไม่นับรวมแล้วยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.5 ทั้งนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูงหลายแห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า 4 แห่ง 410.7 ล้านบาท โรงงานผลิตยางเครป ยางแท่ง เอสทีอาร์20 ยางผสม 1 แห่ง เงินทุน 279.0 ล้านบาท และโรงงานอบข้าวเปลือก 1 แห่ง เงินทุน 121 ล้านบาท

สำหรับทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 2.8 แต่หากไม่นับรวมการแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัดในช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทุนจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 โดยธุรกิจตั้งใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ได้แก่ ธุรกิจให้เช่าอาคารในจังหวัดศรีสะเกษ 1 แห่ง เงินทุน 90 ล้านบาท ธุรกิจขายส่งวัสดุก่อสร้างในจังหวัดสุรินทร์ 1 แห่ง 60 ล้านบาท ธุรกิจขายส่งขายปลีกทั่วไปในจังหวัดนครราชสีมา 1 แห่ง 50 ล้านบาท และธุรกิจให้เช่า ขาย ซื้อและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมา 1 แห่ง 50 ล้านบาท

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล ไตรมาสนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 10,469.0 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.5 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.0 ตามการขยายตัวของภาษีสรรพากรและอากรขาเข้า มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 6,498.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 57.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 จากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุปกรณ์ตกแต่ง และกระเทียมผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารเพิ่มขึ้น

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 3,912.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 11.3 เป็นผลจากภาษีสุราปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

การเบิกจ่ายงบประมาณ ในไตรมาสนี้ มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 53,342.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดย รายจ่ายประจำ 43,509.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.5 รายจ่ายลงทุน 9,832.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.3 โดยเฉพาะรายจ่ายหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจลดลง แต่เมื่อรวมกับงบไทยเข้มแข็งการเบิกจ่ายยังคงขยายตัวร้อยละ 9.8 จากสาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตรสาขาการศึกษา และสาขาการลงทุนในระดับชุมชน ตามลำดับ

ส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายลดลง ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานทางหลวงสำนักงานทางหลวงชนบท สำหรับส่วนราชการที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สำนักงานปกครอง สำนักงานสาธารณสุข

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว ในไตรมาส 3 ปี 2553 มีมูลค่าการค้า 24,396.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.3 ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 19,599.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศจีนผ่านทางด่านศุลกากรมุกดาหาร เป็นสำคัญสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 นอกจากนั้นสินค้าอื่นที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน วัสดุก่อสร้างเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการขุดเจาะน้ำมันผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารมูลค่าสูง

การนำเข้า มีมูลค่า 4,796.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 14.4 มูลค่าสินค้านำเข้าสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สินแร่ทองแดง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเวียดนาม และการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการต่างๆ

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา ในไตรมาส 3 ปี 2553 มีมูลค่าการค้า 13,898.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.4 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและการนำเข้า ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 12,403.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวจากไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ร้อยละ 10.2 ซึ่งมีมูลค่าการค้า 13,812.7 ล้านบาท คาดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ของกัมพูชา โดยสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำตาลทราย วัสดุก่อสร้าง น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์และส่วนประกอบ อะไหล่รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในภาคการเกษตร ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม และวัตถุดิบประเภทผ้าและผลิตภัณฑ์พลาสติก

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสินค้าส่งออกสำคัญที่มูลค่าลดลง ได้แก่ อาหารสัตว์ ปุ๋ย และสุกรมีชีวิตโดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนมีมูลค่าลดลงมาก เนื่องจากมีการระบาดของโรคสุกรในกัมพูชา

การนำเข้า มีมูลค่า 1,495.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 39.2 จากไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ซึ่งมีมูลค่า 883.8 ล้านบาท จากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งได้รับผลจากการลดภาษีนำเข้าลงเท่ากับ 0 เศษเหล็ก และเศษอลูมิเนียม และเศษทองแดงตามราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน และการนำกลับเครื่องจักรอุปกรณ์

7. ระดับราคา ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.8 เป็นผลจากราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากได้แก่ ผักสดร้อยละ 42.1 ข้าวร้อยละ 34.2โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยกว่าความต้องการของตลาด สำหรับหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากได้แก่ ค่าน้ำประปาร้อยละ 81.9 เนื่องจากรัฐบาลได้ยกเลิกการช่วยเหลือค่าน้ำประปา สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2

8. ภาคการจ้างงาน ด้านภาวะการจ้างงาน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีตำแหน่งงานว่าง 15,370 อัตราเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.5 มีผู้สมัครงาน 24,970 คน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 และมีผู้ที่ได้รับการบรรจุเข้าทำงาน 17,859 คน ลดลงร้อยละ 14.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก แรงงานมีการเคลื่อนย้ายไปทำงานด้านการเกษตร

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 25,098 คน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 ตามการเพิ่มขึ้นของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 แรงงานในการเก็บผลไม้ป่า เช่น บลูเบอร์รี่ที่ออกผลเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน รองลงมาเป็นประเทศอิสราเอล เดนมาร์ก และไต้หวัน จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากได้แก่ อุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา

9. ภาคการเงินธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมียอดคงค้าง 415,569 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวของเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 13.6 และเงินฝากกระแสรายวันร้อยละ 31.2 โดยส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อรอการใช้จ่ายตามงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และเงินฝากประจำขยายตัวร้อยละ 1.5 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 433,773 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญได้แก่ สินเชื่อประเภทอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขายส่งขายปลีก การผลิต ตัวกลางทางการเงิน บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม โดยสินเชื่อเพื่อธุรกิจตัวกลางทางการเงินขยายตัวถึงร้อยละ 52.7 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.2 รองลงมาได้แก่บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 15.1 จากที่หดตัวเมื่อไตรมาสก่อน สำหรับสินเชื่อที่ยังหดตัวได้แก่สินเชื่อเพื่อการก่อสร้าง

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากร้อยละ 104.4 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่อัตราร้อยละ 96.9

ธนาคารเฉพาะกิจ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจในภาคมียอดคงค้าง212,306 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากไตรมาสก่อน โดยเงินฝากของธนาคารออมสินจากขยายตัวร้อยละ 6.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อไตรมาสก่อน เงินฝากธนาคารอาคารสงเคราะห์หดตัวร้อยละ 3.9 ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขยายตัวร้อยละ 11.5

สำหรับด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 517,549 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 27.1 โดยเป็นการชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารออมสิน โดยขยายตัวร้อยละ 48.0 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ขยายตัวร้อยละ 50.2 ส่วนธนาคารอาคารสงเคราะห์หดตัวร้อยละ 19.0 ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรยังคงขยายตัวร้อยละ 14.1

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ