สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนสิงหาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 30, 2010 11:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 15/2553

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2553 ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน แต่ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการใช้จ่ายภาคเอกชน จากรายได้ของเกษตรกรที่แม้ชะลอตัวตามราคาพืชผล แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะภาคการก่อสร้างที่ยังขยายตัว จากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น นอกจากนี้การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งงบประมาณปกติ และงบประมาณตามโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็งก็มีการเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง สินเชื่อของสถาบันการเงินยังขยายตัวจากเดือนก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย การค้าชายแดนไทย - สปป. ลาว และไทย - กัมพูชา ยังขยายตัวดี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผักและผลไม้ เป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย

สำหรับรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 โดยดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามการลดลงของผลผลิตมันสำปะหลังเป็นสำคัญ ขณะที่ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.3 ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามราคาข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,594 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้โรงสีและผู้ส่งออกยังคงชะลอการรับซื้อ อย่างไรก็ตาม ผลจากปากีสถานประสบอุทกภัย ประเทศเวียดนามสต็อกข้าวเริ่มลดลง ประเทศรัสเซียประสบภาวะภัยแล้ง งดการส่งออกข้าวสาลี และเป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10 % (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 14,738 บาท แม้ว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน แต่ก็เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 97.5 เนื่องจากความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.33 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 144.9 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 134.3 ตามปริมาณวัตถุดิบในตลาดที่น้อยลง ประกอบกับความต้องการของโรงงานแป้งยังคงเพิ่มขึ้นตามราคาส่งออกแป้งมีแนวโน้มสูงขึ้น สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.68 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 58.7 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.6 เนื่องจากราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับรัฐบาลมีการระบายสต็อกมันเส้นของปีการผลิต 2551/52 จำนวน 700,000 ตัน ให้กับบริษัทของประเทศจีน ทำให้พ่อค้าบางส่วนชะลอการรับซื้อ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.19 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.0 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการผลิตปศุสัตว์ ประกอบกับผลกระทบของภัยแล้งในช่วงเพาะปลูกข้าวโพดรุ่นที่ 1 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 โดยอุตสาหกรรมที่ยังขยายตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Disk Drive (HDD) เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.6 จากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้ทันตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมน้ำตาลลดลงร้อยละ 89.3 เนื่องจากได้มีการเร่งผลิตมากแล้วในเดือนก่อน

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และรายได้จากภาคการเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 โดยมีเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 แม้ชะลอตัวจากเดือนก่อน แต่หากพิจารณาจากภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะที่เก็บจากห้างสรรพสินค้าก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2

สำหรับการจดทะเบียนรถทุกชนิดขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนและต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 78.3 ร้อยละ 39.2 และร้อยละ 27.2 ตามลำดับ เนื่องจากรายได้จากภาคการเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะยางพาราและมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การเสนอเงื่อนไขการผ่อนชำระที่ผ่อนปรนมากขึ้นมีส่วนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

4. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องจากเดือนก่อน เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว มีเครื่องชี้ที่สำคัญ ดังนี้

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 51.2 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 97.2 และเพื่อการบริการซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 73.2 ทั้งนี้มีการขออนุญาตก่อสร้างขนาดใหญ่ คือห้างสรรพสินค้าในจังหวัดกาฬสินธุ์และขอนแก่น รวม 2 แห่ง 22,282 ตารางเมตร และโรงแรมในจังหวัดสกลนคร หนองคาย และอุดรธานีรวม 4 แห่ง 13,404 ตารางเมตร

จำนวนเงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น นครพนม เลย และสกลนคร ของบริษัทโซล่า เพาเวอร์ จำกัดใช้เงินลงทุนแห่งละ 750 ล้านบาท รวม 5 แห่ง 3,750 ล้านบาท และโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลในจังหวัดขอนแก่น ของบริษัทแอ็ดวานซ์ เอเชีย เพาเวอร์ แพลนท์ ที่ใช้เงินลงทุน 512 ล้านบาท

สำหรับทุนจดทะเบียนนิติบุคคลตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.4 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากห้างหุ้นส่วนตั้งใหม่เป็นสำคัญ ในขณะที่จำนวนเงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ แม้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ก็ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.2 เนื่องจากมีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ จ.อุดรธานี ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม ลดลงเล็กน้อย

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 4,082.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นจากภาษีทุกประเภทโดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากร จัดเก็บได้ 2,736.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนมีผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจผลิตแป้งมัน ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนวิทยุ และธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจผลิตแป้งมันสำปะหลัง

ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 1,326.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จากภาษีสุราเป็นสำคัญ

อากรขาเข้า จัดเก็บได้ 19.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 ตามการจัดเก็บอากรขาเข้าจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากด่านศุลกากรมุกดาหารเป็นสำคัญ

การเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 16,094.8 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยลดลงร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากรายจ่ายประจำ 13,422.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.4 และรายจ่ายลงทุน 2,672.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39.0 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป หมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลดลง

ส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายลดลง ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำนักงานชลประทาน ประกอบกับในระยะเดียวกันของปีก่อนมีการเบิกจ่ายงบกลางในหมวดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้เบิกจ่ายลดลง

อย่างไรก็ตาม หากรวมการเบิกจ่ายเงินในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแล้ว รัฐบาลยังคงมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยในเดือนนี้มีการเบิกจ่าย 4,878.8 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายจากสาขาการลงทุนในระดับชุมชน สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร และสาขาการศึกษา ตามลำดับ

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 8,232.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.3 จากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 6,601.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 52.3 จากการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศจีนผ่านทางด่านศุลกากรมุกดาหาร เป็นสำคัญ นอกจากนั้นยังมีสินค้าอื่นที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกเคมีภัณฑ์ ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ

การนำเข้า มีมูลค่า 1,630.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 จากการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์แท่นขุดเจาะน้ำมัน เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าจากเวียดนาม ส่วนการนำเข้าสินแร่ทองแดงมีมูลค่าลดลง และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศจีนมากขึ้น

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.3 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและนำเข้า โดยมีมูลค่าการค้า 4, 559.4 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 3,913.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.8 จากการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รถยนต์และส่วนประกอบ อะไหล่รถจักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง ผ้า อาหารสัตว์ และเครื่องจักรอุปกรณ์อุตสาหกรรมและการเกษตร ส่วนสุกรมีชีวิตส่งออกได้เพียงเล็กน้อยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดของสุกรในประเทศกัมพูชา

การนำเข้า มูลค่า 645.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 180.9 จากการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นสูงเนื่องจากภาษีนำเข้าลดลงเท่ากับ 0 นอกจากนี้ยังมีสินค้าสำคัญที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศษเหล็ก เศษอลูมิเนียมเศษทองแดง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และเครื่องจักรอุปกรณ์

5. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 จากระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจาก

ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 จากระยะเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เป็นผลจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะผักสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.9 ผลไม้สดเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสารทจีน และหมวดข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.8 เนื่องจากผลผลิตข้าวสารเหนียวออกสู่ตลาดมีปริมาณลดลง

ราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยเฉพาะหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ชะลอลงต่อเนื่องร้อยละ 0.7

ในเดือนนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.6

8. ภาคการจ้างงาน ณ เดือนกรกฎาคม 2553 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.9 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 7.0 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.9 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการขนส่งการขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.09 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.7

ด้านภาวะการจ้างงาน เดือน สิงหาคม 2553 มีผู้สมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง และการบรรจุงานลดลง โดยผู้สมัครงานในเดือนนี้มีจำนวน 7, 970 คน ลดลงร้อยละ 16.4 การบรรจุงานมี จำนวน 5,630 คน ลดลงร้อยละ 11.2 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเกษตรที่แรงงานต้องไปทำงานด้านการเกษตร ส่วนตำแหน่งงานว่างมีจำนวน 4,265 อัตราลดลงร้อยละ 5.3

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 7, 311 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศฟินแลนด์ สวีเดน เพื่อเป็นแรงงานในการเก็บผลไม้ป่า เช่น บลูเบอร์รี่ ที่ออกผลเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน รองลงมาเป็นอิสราเอล และญี่ปุ่น จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น

9. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 ปริมาณเงินฝากคงค้างของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีประมาณ 409,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 โดยเป็นการชะลอตัวของเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากกระแสรายวัน ร้อยละ 13.0 และร้อยละ 14.0 ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.6 และร้อยละ 20.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินฝากรอจ่ายตามงบประมาณของส่วนราชการที่ลดลงในขณะที่เงินฝากประจำลดลงร้อยละ 2.0

ด้านสินเชื่อคงค้าง มีประมาณ 424,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สำหรับสินเชื่อที่ขยายตัวยังคงเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 103.7 ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราร้อยละ 96.7

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2553 เงินฝากของธนาคารเฉพาะกิจในภาคมีประมาณ 211,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 โดยเป็นการชะลอตัวของเงินฝากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในขณะที่เงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.4

สำหรับด้านเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 531,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อทุกธนาคาร ดังนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร้อยละ 13.0 ธนาคารออมสินร้อยละ 61.0 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ร้อยละ 3.0 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยร้อยละ 5.7 เนื่องจากมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ