สินค้าส่งออกของไทย ปรับราคาได้มากน้อยแค่ไหนในยุคบาทแข็ง?

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 17, 2010 11:59 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นางสาววัสยา ลิ้มธรรมมหิศร

เศรษฐกรอาวุโส

ธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวโน้มเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2553 เป็น ต้นมาส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากไปกว่านี้เพราะส่งผลกระทบต่อรายได้ในรูปเงินบาท โดยบางอุตสาหกรรมถึงกับประกาศลดรับออร์เดอร์หรือว่าอาจจะต้องปิดกิจการเนื่องจากประสบภาวะขาดทุน แม้มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนกันยายน 2553 จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17,955 ลานดอลลาร์ สรอ. ขณะที่เงินบาททำสถิติแข็งค่าเป็นประวัติการณ์ในรอบ 13 ปี แต่ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นเพราะการส่งออกส่วนใหญ่ได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันไว้ล่วงหน้าแล้วจึงต้องผลิตเพื่อส่งมอบตามสัญญา เราจึงเห็นทั้งมูลค่าและปริมาณการส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น ขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะเริ่มส่งผลชัดเจนในปีหน้า

หากพิจารณาผลของการแข็งค่าของเงินบาท โดยให้ปริมาณและราคาขายคงที่แล้ว การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทย่อมทำให้รายได้การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทย่อมทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการลดลงไปมากอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ทั้งปริมาณและราคาขายมิได้คงที่ โดยปริมาณสินค้าส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกของไทยก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน หากดูข้อมูลย้อนหลังจะพบว่า ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2545 (ยกเว้นปี 2552 ซึ่งเป็นปีหลังเกิดวิกฤติ sub-prime) ราคาสินค้าส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์ สรอ.(จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ราคาส่งออก (F.O.B) และราคานำเข้า (C.I.F) ที่ได้จากการสอบถามผู้ส่งออกและผู้นำเข้า ประมวลผลและเผยแพร่ในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ใช้ปี 2550 เป็นปีฐาน และปรับน้ำหนักทุกปีโดยใช้มูลค่าส่งออก-นำเข้าปีก่อนหน้าเป็นตัวถ่วงน้ำหนัก) ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิ ภาวะอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการปรับตัวของผู้ส่งออกไม่ว่าจะเป็น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต การใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น และความสามารถในการปรับราคาของผู้ส่งออกในยามที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ทั้งหมดนี้ ส่งผลให้เราสามารถส่งออกสินค้าได้ในราคาที่สูงขึ้น

เมื่อเทียบข้อมูลเดือนกันยายน 2553 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า เงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 8.9 ขณะที่ราคาสินค้าออกรวมของไทยในรูปดอลลาร์ สรอ.(อ้างอิงจากดัชนีราคาสินค้าส่งออกของกระทรวงพาณิชย์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 โดยราคากลุ่มสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.0 กลุ่มสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง(ไม่รวมทองคำ)เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพิ่มขึ้นร้อยละเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 และกลุ่มสินค้าที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.4 และเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการแข็งค่าของเงินบาทในรอบนี้ ราคาสินค้าส่งออกรวมของไทยในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 เทียบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 13.8 โดยราคากลุ่มสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.6 กลุ่มสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง(ไม่รวมทองคำ)เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 จากข้อมูลทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่ารายได้ในรูปเงินบาทของผู้ส่งออกไม่ได้ลดลงหนึ่งต่อหนึ่งบาทต่อดอลลาร์ สรอ. ที่แข็งขึ้น เนื่องจากราคาในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ. มีการปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากดูภาพรวมแล้วจะเห็นว่าผู้ส่งออกสามารถปรับราคาสินค้าได้พอสมควรในยามที่เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อีกทั้ง ปริมาณสินค้าออกของไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องย่อมสะท้อนว่าราคามิใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากไทย แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านรายได้มากกว่า โดยในยุคที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ ผู้ประกอบการไทยมีแนวทางการปรับตัวหลายด้าน นอกเหนือจากการเจรจาขอปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นซึ่งมีความยากง่ายแตกต่างกันไปตามอำนาจการต่อรองของแต่ละกลุ่มสินค้า (และอาจไม่สามารถชดเชยผลจากการแข็งค่าของเงินบาทได้ทั้งหมด) อาทิ การทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนสกุลเงินรับชำระค่าสินค้ามาเป็นเงินบาทมากขึ้น การนำเข้าวัตถุดิบทดแทนการใช้วัตถุดิบในประเทศ การนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต รวมไปถึงการหาตลาดใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกับเงินบาท หรือเน้นการขายในประเทศมากขึ้น ซึ่งแนวทางการปรับตัวเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถอยู่รอดได้ภายใต้กระแสโลกปัจจุบันที่เงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มที่จะผันผวนต่อไป

          บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
          เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ