เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 14:17 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 57/2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมยังคงขยายตัวแม้จะชะลอลงจากที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้าและผลของอุทกภัยซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ขณะที่การท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี ส่วนการส่งออกชะลอลงน้อยกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม แรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังคงมีอยู่จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ รายได้เกษตรกร การจ้างงาน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเข้มแข็ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และเงินสำรองระหว่าง ประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.3 ชะลอลงเมื่อเทียบกับร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเร่งตัวขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า ประกอบกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกร และการจ้างงาน ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีรวมทั้งแรงกระตุ้นจากภาคการคลังที่มีต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายที่สูงกว่าปีก่อน จะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ต่อไปสำหรับการลงทุนชะลอลงหลังจากขยายตัวสูง ในช่วงก่อนหน้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.4 เทียบกับร้อยละ 20.0 ในเดือนก่อน โดยเป็นการชะลอลงตามการนำเข้าสินค้าทุน เป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเร่งนำเข้าสูงมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เช่น พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดในเขตกรุงเทพมหานคร

อุปสงค์จากต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 17,046 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงจากช่วงครึ่งปีแรกตามเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักเป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.6 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 37.0 ในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ เป็นการขยายตัวทางด้านปริมาณร้อยละ 8.5 และด้านราคาร้อยละ 7.5 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.36 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.4 ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรม ในเดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 48.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อัตราการเข้าพักโรงแรมค่อนข้างทรงตัวเนื่องจากประสบอุทกภัยตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม

ด้านอุปทาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวชะลอลงสู่แนวโน้มปกติ สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 6.2 ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลิตที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก ขณะที่อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้น ตามการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีการขยายกำลังการผลิตของโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ด้านภาคเกษตร ปัญหาจากภัยธรรมชาติ ทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวน ภัยแล้งในช่วงก่อน และอุทกภัย รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาด ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น โดยในเดือนนี้ผลผลิตภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 10.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 4.0 ขณะที่ราคาพืชผลยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.8 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.9

การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 14,604 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 อัตราการขยายตัวที่ชะลอจากเดือนก่อนสอดคล้องกับการชะลอลงของอุปสงค์และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือนนี้ที่ชะลอลงเป็นผลจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน ประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและเครื่องจักรอุตสาหกรรม เป็นสำคัญ เนื่องจากมีการเร่งนำเข้ามากในช่วงก่อนหน้า รวมทั้งหมวดเชื้อเพลิงหดตัวตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันบางโรงเริ่มทยอยลดการนำเข้าเพื่อเตรียมปิดซ่อมบำรุงโรงงานในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2553

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากมีการแข่งขันระดมเงินฝากผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ และตั๋วแลกเงิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากปกติ จากทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน เร่งตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.1 เทียบกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.8 ทั้งนี้ การขยายตัวของสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงตามราคาอาหารสด นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตชะลอตัวต่อเนื่องเช่นกัน ตามราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรมที่ชะลอลงจากฐานในปีก่อนที่ปรับสูงขึ้น สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในระดับมั่นคง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ