ลดภาระหนี้ FIDF ต้องแลกด้วยอะไร?

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 2, 2010 11:06 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายสุรจิต ลักษณะสุต

หัวหน้านักวิจัย

ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพูดถึงการจัดการกับภาระหนี้พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสถาบันการเงินหรือ FIDF เช่น มีข้อเสนอให้แบงค์ชาติพิมพ์เงินหรือใช้วิธีอื่นที่ให้ผลเหมือนกับการพิมพ์เงินเพื่อชำระภาระหนี้ที่ยังคงเหลือในปัจจุบัน เนื่องจากภาระหนี้ดังกล่าวได้สร้างข้อจำกัดต่อการใช้จ่ายของนโยบายการคลังเพราะรัฐบาลต้องนำเงินงบประมาณบางส่วนมาจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตร FIDF

ภาระหนี้พันธบัตร FIDF ที่ผมกำลังพูดถึงนี้เกิดจากกระบวนการ fiscalization หลังวิกฤตสถาบันการเงินในปี 2540 ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในทุกประเทศที่ประสบวิกฤตสถาบันการเงิน โดยเกิดจากการที่รัฐบาลมีภาระคุ้มครองผู้ฝากเงินให้ได้รับเงินฝากคืนครบถ้วนและยังต้องช่วยเหลือเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินเพื่อป้องกันมิให้ระบบเศรษฐกิจเป็นอัมพาตเนื่องจากขาดตัวกลางทางการเงิน ทั้งนี้ การรับภาระการเงินดังกล่าวจะเป็นบทบาทของรัฐบาลทุกๆประเทศ มีผลให้หนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งไม่มีประเทศใดให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาชดใช้ภาระดังกล่าวหรือที่เรียกว่า monetization นั่นเอง

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับกระบวนการ fiscalization ของไทยคือ การแบ่งรับภาระหนี้พันธบัตร FIDF โดยกระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ยและแบงค์ชาติรับภาระเงินต้น การแบ่งภาระดังกล่าวได้ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาในขณะนั้นกล่าวคือ ไม่สร้างภาระทางการคลังที่หนักเกินไปในยามที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยังเป็นการรักษาวินัยทางการเงินเพราะการชดใช้ภาระเงินต้นหนี้ FIDF ของแบงค์ชาติจะเกิดขึ้นเมื่อมีกำไร ซึ่งเป็นไปตามแนวทางปกติที่แบงค์ชาติต้องนำส่งกำไรให้กับรัฐบาลตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการ monetization กระบวนการนี้จึงเปรียบเสมือนการแบ่งจ่ายเงินออกจากกระเป๋าซ้ายและขวาเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามภาระผูกพันอย่างระมัดระวัง

เพื่อตอบคำถามว่า “ทำไมแบงค์ชาติไม่พิมพ์เงินออกมาเพื่อใช้คืนภาระเงินต้นและดอกเบี้ยดังกล่าวให้หมดไป” อันที่จริงแบงค์ชาติสามารถทำได้ แต่หากทำเช่นนั้น จะมีผลร้ายอย่างมากต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมและในระยะยาว เพราะการพิมพ์เงินออกมาจะทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งท้ายที่สุดราคาของที่แพงขึ้นจะทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินในกระเป๋าของประชาชนทั้งประเทศลดลงและจะกระทบคนจนมากกว่าคนรวย เหมือนกับทางการแอบเก็บภาษีจากรายได้และการใช้จ่ายของประชาชนไปชำระคืนหนี้ FIDF นอกจากประชาชนต้องเป็นผู้รับภาระอยู่ดีแล้ว ระบบเศรษฐกิจจะมีเสถียรภาพน้อยลง อาทิ อัตราการออมลดลงเพราะแรงจูงใจให้คนออมจะน้อยลงจากความกลัวว่าของจะแพงขึ้น ทำให้ยิ่งรีบใช้จ่ายในวันนี้ การพิมพ์เงินดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการที่ถูกต้อง สะท้อนการขาดวินัยทางการเงิน เป็นผลเสียต่อประชาชนและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางในที่สุด

นอกจากนี้ การแบ่งเบาภาระดอกเบี้ยเพื่อลดรายจ่ายงบประมาณโดยวิธีอื่นที่ให้ผลเหมือนกับการพิมพ์เงินเช่น ข้อเสนอที่จะให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรดอกเบี้ยต่ำๆหรือไม่มีดอกเบี้ยให้แบงค์ชาติถือ แม้จะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินจำนวนมากขึ้นได้ง่ายๆเพื่อจับจ่ายใช้สอยหรือพัฒนาประเทศก็ดี แต่อาจต้องแลกกับราคาข้าวของที่แพงขึ้นและที่สำคัญที่สุดคือ การสูญเสียความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินการคลังของประเทศ กอปรกับหากมีการดำเนินการเช่นนี้ครั้งหนึ่งแล้ว อาจมีครั้งต่อๆไปตามมาได้

ดังนั้น ภาระหนี้ FIDF แม้จะสร้างข้อจำกัดต่อนโยบายเศรษฐกิจโดยเฉพาะนโยบายการคลังบ้าง แต่แนวทางในการดูแลปัญหาและข้อจำกัดจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการที่ถูกต้อง วินัยทางการเงินการคลังและผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เป็นสำคัญ การลดภาระหนี้โดยการพิมพ์เงินหรือการโอนภาระหนี้ระหว่างกระเป๋าซ้ายและขวา สุดท้ายก็จะมีผลถึงเจ้าของกระเป๋าทั้งสองซึ่งก็คือ ประชาชนคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี ครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2553

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก แบงค์ชาติ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ