สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 30, 2010 11:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 21/2553

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนตุลาคม 2553 ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายภาคเอกชนซึ่งชะลอตัวลงตามรายได้เกษตรกร และประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และหลายพื้นที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการลงทุนขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังขยายตัว ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อการขายส่งขายปลีกและเพื่อการผลิต สินเชื่อธนาคารเฉพาะกิจขยายตัว ตามมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ด้านมูลค่าการค้าตามบริเวณจังหวัดชายแดนไทย - สปป. ลาว ขยายตัวลดลงในขณะที่มูลค่าการค้าไทย - กัมพูชาหดตัว เนื่องจากมีสินค้าจากจีนและเวียดนามเข้ามาแข่งขันมากขึ้น

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากเดือนก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหาร ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้ลดลง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เนื่องจากราคาในหมวดเคหสถานเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.5 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 โดยดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อนตามราคามันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิยังคงลดลงต่อเนื่อง สำหรับดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 ขยายตัวจากเดือนก่อนตามผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ

ข้าว ในเดือนนี้มีพื้นที่นาประสบอุทกภัยประมาณ 2.4 ล้านไร่ ทำให้โรงสีคาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเหนียวยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง และราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหดตัวน้อยลง โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 14,020 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ที่ลดลงร้อยละ 8.1 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกข้าวยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เกวียนละ 15,448 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 98.2 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.7

มันสำปะหลัง ในเดือนนี้เกษตรกรหลายพื้นที่เร่งขุดหัวมันสำปะหลังที่ยังไม่ครบอายุเก็บเกี่ยวซึ่งมีเชื้อแป้งต่ำออกจำหน่าย เนื่องจากภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ราคาชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยราคาขายส่งหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.48 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 69.9 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.5 สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.74 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.2 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.1

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.18 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43.8 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.0 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ตามการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 9.2 โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวร้อยละ 12.0 ตามความต้องการในช่วงเทศกาลปลายปี อุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 19.2 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นจากการที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายก่อนเวลา อุตสาหกรรมน้ำตาลขยายตัวร้อยละ 25.4 และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวร้อยละ 11.1 โดยเป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนเนื่องจากประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น จากค่าครองชีพที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับมีความกังวลต่อผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล (รถยนต์นั่งและรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 33.5 ตามลำดับ แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน สำหรับการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 15.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งเสริมการขายทั้งจากผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่พยายามกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ นอกจากนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

4. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญ ดังนี้

ทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 46.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในจังหวัดนครพนม และธุรกิจเหมืองแร่ ส่วนเงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ เป็นจำนวน 3,080.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยร้อยละ 81.8 ของจำนวนเงินทุนทั้งหมดเป็นการลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี และนครราชสีมา

เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เป็นจำนวน 1,676.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกิจการขนาดใหญ่ผลิตยางแท่งและยางแผ่นรมควันในจังหวัดอุดรธานี จำนวน 1,020 ล้านบาท และกิจการเพาะขยายพันธุ์พืชในจังหวัดขอนแก่น จำนวน 417.2 ล้านบาท นอกจากนี้ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร หดตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขออนุญาตก่อสร้างขนาดใหญ่ของร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในจังหวัดมหาสารคาม และอาคารชุดในจังหวัดขอนแก่น เป็นสำคัญ

5. ภาคการคลัง เดือนนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 3,084.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 เป็นผลจากภาษีสรรพสามิตเร่งตัวจากเดือนก่อน

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,371.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 14.9 เป็นผลจากภาษีสุราเพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนผู้ประกอบการยื่นชำระภาษีไว้ต่ำเป็นผลจากสินค้าสำเร็จรูปมีปริมาณมาก ทำให้ฐานปีก่อนต่ำ

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,697.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอตัวจากเดือนก่อน จากการชะลอตัวจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 15.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.3 ตามการลดลงของอากรขาเข้าจากด่านศุลกากรนครพนม

การเบิกจ่ายงบประมาณ เป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 14,212.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

รายจ่ายประจำ 12,844.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดค่าตอบแทนและเงินเดือนเพิ่มขึ้น

รายจ่ายลงทุน 1,373.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไปและหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ส่วนราชการที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กรมการปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะในลักษณะงานด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน และด้านเคหะและชุมชนเพิ่มขึ้น

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 7,246.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ15.1 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า

การส่งออก มีมูลค่า 5,619.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.6 ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่ส่งออกไปยังประเทศจีน และฮ่องกง ผ่านทางด่านศุลกากรมุกดาหารและหนองคาย ผ้า/อุปกรณ์ตัดเย็บ อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานพาหนะและอุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้างจำพวกเหล็กเส้นและเหล็กรูปภัณฑ์

การนำเข้า มีมูลค่า 1,626.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.2 ตามมูลค่านำเข้า เสื้อผ้า ผลผลิตทางการเกษตร วัสดุอุปกรณ์การไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าลดลงได้แก่ สินแร่ทองแดง เครื่องจักรและอุปกรณ์

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้า 4,056.9 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 ตามการลดลงของมูลค่าการส่งออก อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้น

การส่งออก มูลค่า 3,621.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6 ตามมูลค่าส่งออกของสินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน อะไหล่รถจักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง วัสดุก่อสร้าง และอาหารสัตว์

อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร

การนำเข้า มูลค่า 435.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.3 ตามมูลค่านำเข้าข้าวโพด เศษเหล็กเศษอลูมิเนียมและเศษทองแดง ขณะที่สินค้าสำคัญที่มูลค่านำเข้าลดลง ได้แก่ ถั่วเหลือง

7. ระดับราคา ในเดือนตุลาคม 2553 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากร้อยละ 4.8 ในเดือนก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะข้าว ผักและผลไม้ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในเดือนก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคายานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.4 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเคหสถาน

8. ภาคการจ้างงาน การจัดหารงานของภาครัฐ เดือนตุลาคมมีตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้สมัครงานและการบรรจุงานลดลง โดยตำแหน่งงานว่างในเดือนนี้มีจำนวน 4,343 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9 ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานมาก สำหรับผู้สมัครงานมีจำนวน 6,489 คน ลดลงร้อยละ 28.7 และการบรรจุงานมีจำนวน 3,410 คน ลดลงร้อยละ 34.0

คนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 6,298 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไปทำงานที่ไต้หวัน 2,597 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 โดยในเดือนนี้ยังคงมีแรงงานไทยที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานที่อิสราเอลเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้อตกลงด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในภาคเกษตร สำหรับจังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดคือ อุดรธานี รองลงมาได้แก่ นครราชสีมาและขอนแก่น

9. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมียอดคงค้างประมาณ 412,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากออมทรัพย์ร้อยละ 12.6 เงินฝากประจำร้อยละ 2.0 และเงินฝากกระแสรายวัน ร้อยละ 18.0

ด้านสินเชื่อ มียอดคงค้างประมาณ 439,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขายส่งขายปลีก และการผลิตอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้เป็นร้อยละ 106.5 ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อัตราร้อยละ 97.5

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 มียอดเงินฝากคงค้างประมาณ 211,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรร้อยละ 12.5 ธนาคารออมสินร้อยละ 6.5 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ร้อยละ2.0

สำหรับด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้างประมาณ 550,000 ล้านบาท ขยายตัวถึงร้อยละ24.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนจากการขยายตัวของสินเชื่อทุกธนาคาร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.5 ธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มขึ้นร้อยละ1.0 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.5 ส่วนสำคัญเป็นผลจากมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ