เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 3, 2010 11:31 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนตุลาคม 2553 โดยรวมยังคงขยายตัว แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยรายได้เกษตรกรชะลอตัวแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลให้การค้าและการอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำได้ช่วยรักษากำลังซื้อ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง การส่งออกลดลงเล็กน้อย ส่วนการนำเข้ายังคงขยายตัว ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายสูงขึ้นจากปีก่อน การท่องเที่ยวยังคงลดลงแต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เงินเฟ้อชะลอตัวเล็กน้อย ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ในภาคเหนือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงเป็นผลจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่งยังคงขยายตัว ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ชะลอตัวลงโดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่างจากรายได้เกษตรกรชะลอตัว ยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัวลงเช่นกัน ส่วนดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากระยะเดียวกันปีก่อนและชะลอลงจากเดือนก่อน จากการปรับขึ้นราคาวัสดุก่อสร้างบางกลุ่มสินค้า ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ภาวะการก่อสร้างหยุดชะงักในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความสนใจลงทุนในระยะต่อไป ขณะที่แรงกระตุ้นจากภาครัฐตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2554 เร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 83.8 จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีเร็วกว่าปีที่ผ่านมา

อุปสงค์จากต่างประเทศ การส่งออก ลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 ในเดือนก่อน จากสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อัญมณี ใบยาสูบ ข้าว ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัว การส่งออกผ่านด่านชายแดนหดตัวลงตามการส่งออกไปพม่าที่ยังได้รับผลกระทบจากการปิดด่านแม่สอด - เมียวดี ส่วนการส่งออกไปประเทศลาวและจีนตอนใตข้ ยายตัว ด้านการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.6 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าทุน ส่วนการนำเข้าผักผลไม้และเครื่องดื่มลดลง ขณะที่การนำเข้าผ่านด่านชายแดนเร่งตัวขึ้น

การผลิตในภาคเหนือปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8.6 เป็นผลจากอุตสาหกรรมอาหารที่เร่งตัวตามการแปรรูปผักและผลไม้ การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปขยายตัว ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังชะลอตัว ส่วนดัชนีผลผลิตพืชสำคัญยังคงหดตัวที่ร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 5.9 ในเดือนก่อน ตามการลดลงของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวนาปี เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ลดลงมาก โดยในช่วงเพาะปลูกได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และในช่วงเก็บเกี่ยวบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ด้านการท่องเที่ยวยังคงลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นตามอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวและอากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาษีมูลค่าเพิ่มโรงแรมและภัตตาคารทรงตัว และจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานยังคงลดลง ส่วนดัชนีการค้าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 10.0 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคงทน ขณะที่กลุ่มอาหารสดยังคงขยายตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนืออยู่ทรี่ อยละ 3.3 ต่ำกว่าเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.5 ตามการอ่อนตัวของราคาอาหารสด ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 การจ้างงาน ยังขยายตัวได้ดี

เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือขยายตัวร้อยละ 4.5 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้ผลตอบแทนที่จูงใจเพื่อรักษาฐานลูกค้า ส่วนเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 13.0 ตามความต้องการสินเชื่อที่กระจายไปในหลายภาคธุรกิจ เช่น สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ค้าพืชไร่ ตัวกลางทางการเงิน และค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณจารุมาส ปาละรัตน์

โทร 0 5393 1161

E-mail: Jarumass@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ