แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2010 16:04 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 64/2553

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายนขยายตัวต่อเนื่อง หลังจากชะลอลงชั่วคราวในเดือนก่อนจากผลกระทบของอุทกภัย โดยเป็นการขยายตัวจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ และการผลิตภาคอุตสาหกรรม

เสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทรงตัวเท่ากับเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศปรับดีขึ้นจากที่ชะลอลงในเดือนก่อนจากผลกระทบของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยดัชนี การบริโภคภาคเอกชน (PCI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.1 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.5 ทั้งนี้ เป็นการเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนทั้งการใช้จ่ายสินค้าคงทนและไม่คงทน สอดคล้องกับการปรับดีขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในภูมิภาคที่สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนปรับลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดต่ำลงจากเดือนก่อนและช่วงเดียวกันปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 15.5 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.3 โดยเครื่องชี้การลงทุนส่วนใหญ่ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณจำหน่ายรถยนต์พาณิชย์ในประเทศ และปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของนักธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

อุปสงค์จากต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยในเดือนนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 17,584 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 28.7 เป็นการขยายตัวด้านปริมาณร้อยละ 19.6 และด้านราคาร้อยละ 7.5 นอกจากนี้ การส่งออกยังปรับตัวดีขึ้นทุกหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาด สำหรับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมีจำนวน 1.5 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.2 ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้เป็นสำคัญ ส่วนอัตราการเข้าพักโรงแรมในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ร้อยละ 55.1 สูงขึ้นจากที่ร้อยละ 49.0 ในเดือนก่อน โดยเป็นการปรับดีขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ด้านอุปทาน ขยายตัวสอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.6 และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.7 เป็นผลจากการปรับดีขึ้นของการผลิตรถยนต์ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในต่างประเทศ และการผลิตเม็ดพลาสติกตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ด้านภาคเกษตรผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงก่อน และอุทกภัย รวมทั้งปัญหาเพลี้ยระบาด ยังคงส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าวนาปีปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลังเสียหาย ทำให้ผลผลิตภาคเกษตรในเดือนนี้ยังหดตัวที่ร้อยละ 7.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ปรับดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 12.1 ในเดือนก่อน ขณะที่ราคาพืชผลยังขยายตัวดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 28.1 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 18.9

การนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 17,094 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.0 เทียบกับเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งนี้ การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นในเดือนนี้เป็นผลจากการเร่งตัวในทุกหมวดสินค้า

เงินฝากของสถาบันรับฝากเงิน (รวมตั๋วแลกเงิน) เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 10.5 แม้ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.2 แต่ปริมาณเงินฝากยังอยู่ในระดับสูง สำหรับสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 12.2 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจทรงตัวในเกณฑ์ดี

เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวเท่ากับเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง และเงินทุนสำรองทางการอยู่ในระดับมั่นคงสถานการณ์

ทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นในเดือนนี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลงเหลือเพียง 0.82 ล้าน เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่การประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (Curfew) ได้รับผลกระทบจากชั่วโมงทำงานที่น้อยลง ส่วนรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน จาก......

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ