เศรษฐกิจภาคใต้ 11 เดือน ปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 14:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 6/2553

เศรษฐกิจภาคใต้ 11 เดือน ปี 2553

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมขยายตัวดี ตามการขยายตัวของรายได้เกษตรกร การผลิตอุตสาหกรรม การส่งออก การท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน แการลงทุนภาคการก่อสร้าง ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวดีเช่นเดียวกัน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา

รายละเอียด มีดังนี้

1. รายได้ภาคเกษตร ขยายตัวสูง โดยรายได้เกษตรจากการผลิตพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 61.6 จากปี 2552 ที่ติดลบร้อยละ 29.0 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญ ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยราคายางเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปสงค์จากต่างประเทศยังคงมีต่อเนื่อง ในขณะที่ด้านอุปทานในประเทศผู้ผลิตค่อนข้างตึงตัว ทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตยางของภาคใต้ลดลง ส่วนผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น

การทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือยังคงขยายตัว ส่วนผลผลิตกุ้งขาวจากการเพาะเลี้ยงลดลง เนื่องจากประสบปัญหาโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศคู่แข่ง อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน ต่างได้รับความเสียหายจากโรคระบาดและภัยธรรมชาติ รวมทั้งการเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐฯ ทำให้ผลผลิตกุ้งของโลกลดลงสวนทางกับความต้องการของตลาดต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคากุ้งปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

2. การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวดี ร้อยละ 6.1 แม้ว่าการผลิตอุตสาหกรรมยาง และน้ำมันปาล์มจะลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.4 และ 0.9 ตามปริมาณวัตถุดิบที่ออกสู่ตลาดลดลง แต่การผลิตอุตสาหกรรมหลักอื่นขยายตัวดี ทั้งไม้ยางแปรรูป ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง และดีบุก

3. การท่องเที่ยว ขยายตัวในเกณฑ์สูง จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 11 เดือนแรก 4.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 39.1 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียและออสเตรเลีย ช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปที่หดตัวลง และส่วนหนึ่งจากฐานต่ำ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรกต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ภาคการท่องเที่ยวของภาคใต้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย และในปี 2553 สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลต่อการท่องเที่ยวในภาคใต้ไม่มากนัก

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวดี โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 5.1 จากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเครื่องชี้ในหมวดยานพาหนะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม การใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง

5. การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้างขยายตัว จากปี 2552 ที่ติดลบร้อยละ 2.5 เช่นเดียวกับการส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลที่ขยายตัวดีเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

6. ภาคต่างประเทศ การส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้ มูลค่า 13,572.5 ล้านดอลลาร์สรอ. ขยายตัวสูงร้อยละ 51.6 ตามการส่งออกสินค้าสำคัญทั้งยางพารา สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง สำหรับการนำเข้าในเดือนนี้มีมูลค่า 7,417.5 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.1 จาการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ และน้ำมันเชื้อเพลิง

7. เงินฝากและเงินให้สินเชื่อ จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้เงินฝากและสินเชื่อของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ขยายตัวดี โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 เงินฝากขยายตัวร้อยละ 10.1 และสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 11.4 เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อเพื่อการผลิตในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ ยาง สัตว์น้ำแปรรูป และไม้ยาง และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถขยายตัว

8. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เร่งตัวขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหารโดยเฉพาะผักและผลไม้ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ปี 2554

เศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม G3 นอกจากนี้การเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลต่อค่าเงินบาทเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออก

ด้านการผลิต ผลกระทบของอุทกภัยและวาตภัยในเดือนพฤศจิกายน 2553 ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง อย่างไรก็ตามแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้รายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่การท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี กอปรกับการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงภาวะราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันที่โน้มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ