สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้เดือนพฤศจิกายน ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 14:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 5/2553

เศรษฐกิจภาคใต้ชะลอตัวจากผลของอุทกภัยและวาตภัยที่เกิดขึ้นใน 12 จังหวัดภาคใต้ รวมทั้งมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง ขณะเดียวกันการลงทุนภาคการก่อสร้างชะลอลง อย่างไรก็ตามรายได้เกษตรกรยังอยู่ในระดับสูงจากผลด้านราคาเป็นสำคัญ การท่องเที่ยวขยายตัวและการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ภาคการผลิต ผลผลิตเกษตรและอุตสาหกรรมลดลง โดยดัชนีผลผลิตพืชผลเกษตรลดลงร้อยละ 12.0 ตามการลดลงของผลผลิตยางและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากฝนตกชุกและน้ำท่วมในแหล่งผลิตสำคัญ อย่างไรก็ตามราคาพืชผลยังคงขยายตัวสูงถึงร้อยละ 51.2 ทั้งราคายางและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยทำให้เกิดการแข่งขันกันรับซื้อของโรงงานแปรรูป ทำให้รายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 33.0 ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 13.6 ทั้งการผลิตยางแปรรูป ถุงมือยาง น้ำมันปาล์มดิบ และอาหารทะเลกระป๋อง เนื่องจากประสบปัญหาด้านวัตถุดิบและโรงงานบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัยและวาตภัย ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งเพิ่มขึ้นตามการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นสำคัญ เนื่องจากยังมีแรงซื้อต่อเนื่องในตลาดหลัก เพื่อรองรับความต้องการช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน แม้ว่านักท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลาลดลง เนื่องจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสามารถชดเชยด้วยนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดอื่นๆ ทั้งในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางผ่านตรวจคนเข้าเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 39.2

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว ผลจากรายได้จากภาคเกษตรและการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเครื่องชี้ในหมวดยานยนต์ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้ว่าในจังหวัดสงขลาจะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ลดลง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง โดยดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ลดลง อย่างไรก็ตาม กิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและเงินลงทุนรวม ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เร่งตัวร้อยละ 63.2 ขณะที่การจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4

ภาคต่างประเทศ การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคใต้แม้จะยังคงมีมูลค่าสูง 1,262.47 ล้านดอลลาร์สรอ. และขยายตัวถึงร้อยละ 25.5 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป และสัตว์น้ำแช่แข็งเป็นสำคัญ แต่ผลจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นต้นมา สำหรับการนำเข้า 587.49 ล้านดอลลาร์สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 ชะลอลงจากเดือนก่อน

จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงขยายตัว ทำให้เงินให้สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.8 และ 12.2 ตามลำดับ ดานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ตามราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอาหารสดบางรายการ อาทิ ผักสดและไข่เป็นต้น เนื่องจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในแหล่งผลิต

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : นาฏน้อย แก้วมีจีน โทร.0-7427-2000 ต่อ 4329 e-mail : nartnoik@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ