เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 5, 2011 13:26 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 1/2554

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2553 ภาพรวมยังคงขยายตัว ตามแรงส่งจากการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกผ่านด่านศุลกากร การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น การใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รายได้เกษตรกรชะลอตัวลงซึ่งเป็นผลทั้งจากด้านราคาและผลผลิตพืชสำคัญ ส่งผลต่อกำลังซื้อโดยรวม สะท้อนจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอลง เสถียรภาพในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ อัตราเงินเฟ้อทรงตัวเท่ากับเดือนก่อนหน้า ส่วนเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

อุปสงค์ในประเทศของภาคเหนือโดยรวมยังคงขยายตัว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 4.2 เทียบกับร้อยละ 1.7 ในเดือนก่อน ตามการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วม นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออก สำหรับดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หดตัวเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้ของเกษตรกรที่ชะลอลง ทางด้านการใช้จ่ายของภาครัฐแม้จะหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนแต่เป็นผลจากฐานสูง เนื่องจากการประกาศ พรบ. งบประมาณล่าช้าในปีที่ผ่านมาซึ่งหากเทียบเดือนก่อนหน้าแล้วยังเร่งตัวขึ้น

ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 259.9 ล้านดอลลาร์ สรอ.หรือขยายตัวร้อยละ 8.1 เป็นผลจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิคส์เป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกผ่านด่านชายแดนยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากการปิดด่านแม่สอด-เมียวดี ด้านการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือมีมูลค่า 126.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือหดตัวร้อยละ 10.7 โดยเป็นการลดลงในทุกสินค้าที่นำเข้า

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงในอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการ ส่งออกยังขยายตัวดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผลผลิตภาคเกษตรสำคัญหดตัวร้อยละ 4.1 ตามการลดลงของผลผลิตข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเขียว ที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งช่วงเพาะปลูกและช่วงเก็บเกี่ยว ส่วนมันสำปะหลังได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคพืช ด้านรายได้เกษตรกรชะลอลงต่อเนื่องตามปริมาณผลผลิตที่หดตัวและราคาข้าวเปลือกเจ้านาปีซึ่งเป็นพืชสำคัญหลักลดลงตามราคาข้าวส่งออก ส่วนข้าวเปลือกเหนียวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถั่วเขียว และมันสำปะหลัง ราคายังปรับเพิ่มขึ้น ด้านการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในจังหวัด การจัดกิจกรรมประชุมและสัมมนา รวมถึงการตื่นตัวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่อสภาพอากาศหนาวเย็น ทางด้านดัชนีการค้าขยายตัวร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 ตามการชะลอลงของหมวดยานยนต์และหมวดค้าส่ง ในขณะที่หมวดค้าปลีกยังคงขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภค

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคเหนืออยู่ที่ร้อยละ 3.3 ทรงตัวเทียบกับเดือนก่อน โดยหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหารสด ส่วนหนึ่งเกิดจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยโดยเฉพาะผักสด ในขณะที่หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มชะลอลงตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นสำคัญ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้น จากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.2

การจ้างงานในภาคเหนือเดือนตุลาคม 2553 ปรับตัวดีขึ้นตามการจ้างงานในภาคเกษตร เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรหดตัว จากการลดลงของการจ้างงานในสาขาการผลิต การก่อสร้าง และโรงแรม/ภัตตาคาร โดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 สำหรับจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 มีจำนวน 735,962 ราย เพิ่มขึ้นจากทั้งเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อน

ยอดเงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน จากเงินฝากของส่วนราชการและการระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่เน้นกลยุทธ์เสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่จูงใจ ส่วนการให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 14.1 จากการให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล สหกรณ์ออมทรัพย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ค้าพืชไร่ ค้าวัสดุ/รับเหมาก่อสร้าง และค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสุรินทร์ อินต๊ะชุ่ม

โทร 0 5393 1166

E-mail: Surini@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ